xs
xsm
sm
md
lg

กกต.ไฟเขียวหาเสียงโยงนโยบายรัฐบาลได้-ศาล ปค.ยกเลิกไต่สวนคดีระงับโพล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ต.ท.ทวีศักดิ์ ตู้จินดา (ภาพจากแฟ้ม)
ปธ.กกต.กทม.ชี้ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.สามารถชูนโยบายหาเสียงยึดโยงนโยบายรัฐบาลได้ พร้อมไฟเขียว นปช.ส่งอาสาสมัคร 12,000 คน ร่วมสังเกตการณ์เลือกตั้ง ขณะที่ กกต.เปิดรับช่องทางรับแจ้งเหตุย้ายทะเบียนบ้านผิดปกติ ด้านศาลปกครองยกเลิกไต่สวนคดี กกต.ปล่อยให้มีการเผยแพร่โพล เหตุส่งคำฟ้องให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณา

วันนี้ (15 ก.พ.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พล.ต.ท.ทวีศักดิ์ ตู้จินดา ประธาน กกต.กทม.ได้บรรยายพิเศษให้กับนักศึกษาหลักสูตรการพัฒนาการเลือกตั้งระดับสูง รุ่นที่ 4 ในหัวข้อ “การเตรียมความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และอุปสรรคในการดำเนินงาน” โดย พล.ต.ท.ทวีศักดิ์ กล่าวว่า ปัญหาหนึ่งที่เป็นประเด็นถกเถียงสำหรับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.คือการหาเสียงเกินจริง ซึ่ง กกต.ก็มีเกณฑ์การวัดด้วยการดูว่าตลอด 4 ปี กรุงเทพมหานคร มีงบประมาณเท่าใด และอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าฯ กทม.ตาม พ.ร.บ.ระเบียบการบริหารราชการผู้ว่าฯ กทม.ทั้ง 26 ด้าน คืออะไร

และอีกหนึ่งด้าน คือ การทำงานร่วมกับรัฐบาลกลาง ตามมาตรา 121-123 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าวบัญญัติไว้ ซึ่งนโยบายหาเสียงของผู้สมัครอยู่ในหลักเกณฑ์นี้หรือไม่ และถ้าดูตามมาตรา 121-123 รัฐบาลสามารถให้เงินสนับสนุนแก่ กกต.กทม.ได้ ดังนั้นที่มีผู้สมัครบางรายเสนอนโยบายว่าจะสร้างสิ่งสาธารณูปโภค มูลค่า 4 แสนล้านบาท กกต.ก็จะพิจารณาว่าอยู่ในหลักเกณฑ์ที่ผู้ว่าฯ กทม.ทำได้ตามกฎหมายหรือไม่ แต่ทั้งนี้หาก กกต.เห็นว่าผู้สมัครหาเสียงเกินจริงก็ไม่มีโทษทางอาญาแต่มีโทษทางปกครองแทน อย่างไรก็ตาม การหาเสียงของผู้สมัคร หลังจากที่การเลือกตั้งเสร็จสิ้น ผู้สมัครต้องยื่นบัญชีค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งให้แก่ กกต.ในระยะเวลาภายใน 90 วันนับแต่วันเลือกตั้ง และถ้าหากไม่ยื่นบัญชีค่าใช้จ่ายหรือรายงานค่าใช้จ่ายเป็นเท็จถือว่ามีความผิด ต้องถูกถอนออกจากตำแหน่งและถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

พล.ต.ท.ทวีศักดิ์ กล่าวต่อว่า กฎหมายสามารถให้ผู้สมัครสามารถส่งผู้สังเกตการณ์เข้าไปประจำหน่วยเลือกตั้งได้หน่วยละ 1 คน โดยขณะนี้ผู้สนับสุนนผู้สมัครรายหนึ่งได้รวบรวมรายชื่อส่งปลัด กทม.เพื่อจัดหาที่นั่งให้เรียบร้อยแล้ว โดยจัดให้นั่งใกล้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เผื่อพบเห็นการกระทำผิดจะได้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ได้ ขณะเดียวกันก็มีองค์กรเอกชนตรวจสอบการเลือกตั้ง 3 องค์กร เสนอตัวเข้าร่วมตรวจสอบการเลือกตั้ง ซึ่ง นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช. ก็ได้ยื่นหนังสือจะมีอาสาสมัคร จำนวน 12,000 คน มาสังเกตการณ์ ก็ได้อนุญาตไป โดยจะให้สังเกตการณ์อยู่บริเวณภายนอกหน่วยเลือกตั้ง

ด้าน นายไพบูลย์ เหล็กพรหม ผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงาน กกต.กล่าวถึงกระแสข่าวการย้ายคนเข้ามาอยู่ในทะเบียนบ้านในกรุงเทพมหานคร ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ว่า ขณะนี้ยังไม่มีเรื่องร้องเรียนแต่หากประชาชนพบเบาะแส หรือมีพยานหลักฐาน ก็สามารถยื่นคำร้องหรือแจ้งแบะแสได้ 3 ช่องทาง ช่องทางที่ 1 ยื่นคำร้องได้ที่สำนักงาน กกต.ช่องทางที่ 2 โทรศัพท์แจ้งที่ ศูนย์แจ้งเหตุและเบาะแสทุจริตการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โทร.02-143-8951-3 ช่องทางที่ 3 นักรบไซเบอร์ ผ่านทาง http://www.facebook.com/ElectionMonitoringCenter

โดยระบุบ้านเลขที่ ตัวบุคคล รวมทั้งพฤติการณ์ข้อเท็จจริง ภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2554 มาตรา 43 บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดดำเนินการย้ายบุคคลเข้ามาในทะเบียนบ้านเพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งโดยมิชอบ กล่าวคือ มีการย้ายบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ซึ่งไม่มีชื่อสกุลเดียวกับเจ้าบ้านเข้ามาในทะเบียนบ้านเพื่อให้บุคคลดังกล่าว มีสิทธิเลือกตั้ง ที่จะมีขึ้นภายในสองปีนับแต่วันที่ย้ายเข้ามาในทะเบียนบ้าน รวมทั้งการย้ายบุคคลเข้ามาในทะเบียนบ้าน โดยบุคคลนั้นมิได้อยู่อาศัยจริง หรือ ย้ายบุคคลเข้ามาในทะเบียนบ้านโดยมิได้รับความยินยอมจากเจ้าบ้าน

วันเดียวกัน ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งยกเลิกการนัดไต่สวนคดีที่ นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นฟ้อง กกต.กทม.กับพวกรวม 2 คนกรณีขอให้สั่ง กกต.สั่งยุติการทำและเผยแพร่ผลสำรวจความเห็นประชาชนเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในวันที่ 18 ก.พ.เนื่องจากศาลปกครองกลางเห็นว่าคำฟ้องดังกล่าวอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด จึงได้เสนอให้ให้เสนออธิบดีศาลปกครองกลางพิจารณา และสั่งส่งคำฟ้องไปยังประธานศาลปกครองสูงสุดเพื่อพิจารณา โดยสำนักงานศาลปกครองได้มีการแจ้งให้คู่กรณีทราบเรียบร้อยแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น