กกต.เชื่อเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เรื่องร้องเรียนน้อย เหตุแม้แข่งขันรุนแรง แต่ผู้สมัคร- พรรคที่ส่งสมัครต่างรู้กม.ดี ขณะที่ “ประพันธ์” ชี้กม.ท้องถิ่นไม่ห้ามทำ-เผยแพร่ผลโพล แต่ควรระวังเข้าข่ายจูงใจฯ ส่วนนโยบายหาเสียงเกินจริงต้องดูเป็นกรณีไป ด้าน “สมชัย”ตั้งทีม “นักรบไซเบอร์” ตรวจหาเสียงผ่านโชเชียลเน็ตเวิร์ก
วันนี้ (18 ม.ค.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทั้ง 5 คนนำโดยนายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต. และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้จัดงานพบสื่อมวลชนภายใต้หัวข้อ “การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 2556” โดยนายประพันธ์ นัยโกวิท กกต. ด้านบริหารงานเลือกตั้ง เชื่อมั่นว่าการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้จะเรียบร้อย เพราะประชุมประสานงานกับทุกฝ่ายเรียบร้อย โดยตั้งใจจะให้การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.เป็นตัวอย่างของการเลือกตั้งทั่วประเทศ ไม่ว่าการเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. นอกจากนี้ อยากให้พรรคการเมืองส่งตัวแทนเข้าไปเป็นผู้สังเกตการณ์ในหน่วยเลือกตั้งทั้ง 6 พันกว่าหน่วยตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อที่จะได้ไม่มาร้องเรียนในภายหลัง ส่วนที่มีข่าวว่า กระทรวงมหาดไทยไม่สามารถออกบัตรประชาชนแบบสมาร์ทการ์ดให้กับผู้ที่ไปทำบัตรได้เพราะขาดแคลนอยู่ ได้รับการยืนยันจากกระทรวงมหาดไทยแล้วว่าไม่เป็นความจริง
นายประพันธ์ยังกล่าวถึงกรณีที่พรรคที่จะส่งผู้สมัครมีการเผยผลสำรวจความเห็นของประชาชนที่มีต่อว่าที่ผู้สมัครของพรรคว่า ตาม พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นไม่มีบทบัญญัติห้ามการทำหรือเปิดเผยผลสำรวจฯ ซึ่งหากพรรคการเมือง สถาบันการศึกษาจัดทำโพลไม่เป็นไปตามหลักวิชาการ แล้วมีการเปิดเผยก็อาจจะเข้าลักษณะจูงใจ หลอกลวงให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครได้ อย่างไรก็ตามในช่วง 7 วันก่อนการเลือกตั้งก็อยากให้ระมัดระวังในเรื่องของการเปิดเผยผลสำรวจเพราะอาจเข้าลักษณะดังกล่าวได้
ด้านนายสมชัย จึงประเสริฐ กกต.ด้านสืบสวนสอบสวน เชื่อว่าแม้การเลือกตั้งครั้งนี้จะแข่งขันรุนแรงเพราะเป็นการสู้กันของ 2 พรรคการเมืองใหญ่คือประชาธิปัตย์และเพื่อไทย แต่ก็จะมีเรื่องร้องเรียนน้อย เพราะผู้สมัครและพรรคที่ส่งสมัครรู้กฎหมายดี เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาน่าจะยอมรับ
“เลือกตั้งครั้งนี้นอกจากจะมี 2 พรรคใหญ่ส่งผู้สมัคร ยังมีนายตำรวจใหญ่ลงสมัคร 2 คน ขณะที่คนคุมเลือกตั้ง ก็เป็นถึงอดีตนายตำรวจ คือ พล.ต.ท.ทวีศักดิ์ ตู้จินดา ประธาน กกต.กทม. และพล.ต.ต.สุเทพ รมยานนท์ กกต.กทม. ตำรวจเจอตำรวจไม่มีปัญหาทุกอย่างจบโดยตำรวจ”
ผู้สื่อข่าวถามว่า กกต.จะดูแลอย่างไรในเรื่องนโยบายการหาเสียงเกินจริง นายสมชัย กล่าวว่า ตามกฎหมายไม่มีคำจำกัดความว่า “หาเสียงเกินจริง” หมายถึงอะไร แต่กฎหมายใช้คำว่าห้ามหาเสียง หลอกลวง จูงใจเพื่อให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยม ดังนั้นในลักษณะนี้ต้องดูเป็นกรณี ๆ ไป ดูว่าผู้สมัคร หัวคะแนนมีเจตนาอย่างไร
ทั้งนี้ นายสมชัยยังกล่าวถึงการดูแลการหาเสียงผ่านโชเชียลเน็ตเวิร์ก และทีวีดาวเทียมว่า กกต.ได้มีการจัดเจ้าหน้าที่เป็นทีมนักรบไซเบอร์ คอยติดตามเฝ้าระวังการหาเสียงผ่านสื่อดังกล่าว โดยเบื้องต้นหากพบว่ามีการโพสต์ข้อความที่เข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่ก็จะโพสต์ข้อความลักษณะเตือนให้ทราบว่าอาจเข้าข่ายผิดกฎหมายลงในเว็บนั้น ขณะเดียวกันก็จะจัดเก็บข้อมูลต่างๆ เอาไว้รอมีผู้มาร้องก็จะนำมารวมพิจารณาดำเนินการต่อไป
พล.ต.อ.ทวีศักดิ์ ตู้จินดา ประธาน กกต.กทม.กล่าวถึงกรณีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ไปติดตามนายกรัฐมนตรีที่ไปช่วยว่าที่ผู้สมัคของพรรคเพื่อไทยหาเสียงนอกเวลาราชการว่า อยากให้ทำความเข้าใจว่าตำรวจมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย และรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ แม้ว่าบุคคลสำคัญนั้นจะไม่ได้อยู่ตำแหน่งแล้ว หรือไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในเวลาราชการ การไปติดตามบุคคลสำคัญที่ปฏิบัติหน้าที่นอกเวลาราชการของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ย่อมทำได้