xs
xsm
sm
md
lg

“สังศิต” แฉงบฯ ปี 55 รั่วไหล 5 แสนล้าน แนะใช้เกาหลีใต้ต้นแบบปราบโกง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต (ภาพจากแฟ้ม)
“สังศิต” ชื่อยอดโกงกินงบฯ ปี 55 แตะ 5 แสนล้าน ชี้เหตุคอร์รัปชันเบ่งบาน กลุ่มทุนเข้ามาเล่นการเมืองเอง สร้างเมกะโปรเจกต์กินกันเป็นเครือข่าย สร้างอิทธิพลเหนือข้าราชการ แทรกแซงองค์กรอิสระ ใช้เงินปิดปากสื่อ แนะทางแก้เพิ่มอำนาจภาคประชาชน ยกระดับธรรมาภิบาลองค์กรตรวจสอบ เริ่มจาก กกต.ที่ควบคุมต้นทางคอร์รัปชันล้มเหลว พร้อมยกเครื่อง ป.ป.ช.ให้คดีคอร์รัปชันไม่หมดอายุความ เสนอใช้เกาหลีใต้เป็นต้นแบบต้านโกง

รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวตอนหนึ่งระหว่างแสดงปาฐกถาเรื่อง “ยกเครื่องการต่อต้านการคอร์รัปชัน” ในงานสัมมนาประจำปีเรื่อง “ผ่าทางตันคอร์รัปชั่นไทย” ของวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต วันนี้ (14 ก.พ.) ว่า แม้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และฉบับปี 2550 มีเจตนารมณ์ที่สำคัญ ประการหนึ่งคือ การต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชัน โดยให้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เช่น กกต. ป.ป.ช.ศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่ในช่วงเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์การคอร์รัปชั่นในประเทศไทยกลับมีการแพร่ขยายตัวมากยิ่งขึ้นเหมือนดั่งวัชพืชที่พบเห็นอยู่ได้โดยทั่วไป ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงเป็นอย่างยิ่ง

จากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ในปี 2555 ที่มายังกลุ่มประเทศอาเซียนราว 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เข้ามายังประเทศไทยน้อยมาก เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติพบว่าต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะประมาณ 20% ของมูลค่าโครงการ พูดง่ายๆ คือ การมาลงทุนในประเทศไทยมีต้นทุนที่สูญเปล่าสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน

ขณะที่ ดัชนีการรับรู้เรื่องคอร์รัปชั่น (CPI) ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสระหว่างประเทศ (Transparency International) ตลอดช่วงเวลา 14 ปีที่ผ่านมา ช่วงคะแนนของประเทศไทยอยู่ระหว่าง 3.2-3.5 จากคะแนนเต็ม 10 และเชื่อว่าองค์กรเพื่อความโปร่งใสระหว่างประเทศยังได้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเรื่องการคอร์รัปชันในประเทศไทยต่ำความเป็นจริงค่อนข้างมาก เพราะเหตุว่าธุรกรรมการคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องปกปิด เป็นความลับมีลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละสังคมและมีลักษณะที่สลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นเรื่องที่สื่อมวลชน หรือองค์กรตรวจสอบยากที่จะเข้าถึงความจริงได้ทั้งหมด

จำนวนคดีและข่าวคอร์รัปชันของนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกตรวจสอบโดยภาครัฐและสื่อมวลชนในแต่ละปี น่าจะต่ำกว่าความเป็นจริงถึง 80%-90% เพราะเหตุว่าการคอร์รัปชั่นในประเทศไทยไม่ได้มีแต่การคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับเงินๆ ทองๆ เท่านั้น แต่ยังมีการคอร์รัปชั่นในการบริหารราชการ (Administrative corruption) เรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายทั้งในหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นไปโดยมิชอบทั่วทั้งระบบ ตลอดถึงการคอร์รัปชันทางการเมือง (Political corruption) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการที่รัฐบาลบิดเบือนการใช้ทรัพยากรของรัฐ เพื่อเอาเปรียบพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ตัวอย่างเช่น นโยบายรถคันแรกที่รัฐบาลต้องใช้งบประมาณราว 91,066 ล้านบาท เพื่อจ่ายคืนให้แก่ปัจเจกบุคคลที่มีรถยนต์คันแรกคนละ 100,000 บาท แต่เงินจำนวนนี้มาจากภาษีอากรของคนส่วนใหญ่ทั้งประเทศ ดังนั้น โดยหลักการแล้วเงินจำนวนนี้ควรนำไปใช้เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของบุคลใดบุคคลหนึ่ง ซึ่งว่าไปแล้วงบประมาณดังกล่าว หากนำไปใช้สร้างรถไฟฟ้าซึ่งเป็นระบบขนส่งมวลชนจะสามารถสร้างรถไฟฟ้าได้ถึง 2 สายทีเดียว

รศ.ดร.สังศิต กล่าวต่อว่า เมื่อเร็วๆ นี้มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งได้ประมาณการว่างบประมาณประจำปีในปัจจุบันมีการรั่วไหลเพราะเหตุแห่งคอร์รัปชั่นน่าจะสูงถึงกว่า 200,000 ล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ตัวเลข 200,000 ล้านบาทต่อปี น่าจะต่ำกว่าความเป็นจริงเช่นเดียวกัน เพราะการประมาณเงินรั่วไหลจากการคอร์รัปชันมักจะดูจากงบการจัดซื้อจัดจ้างเท่านั้น แต่งบที่จะรั่วไหลเพราเหตุแห่งคอร์รัปชั่นนั้นมีมากกว่างบจัดซื้อจัดจ้าง หากพิจารณาจากงบดำเนินการงบลงทุน งบเงินอุดหนุน และงบรายจ่ายอื่น ซึ่งเป็นงบประมาณประจำปีที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการคอร์รัปชั่นได้ทั้งสิ้น ในปี 2554 งบเหล่านี้รวมกันเท่ากับ 1,674,071 ล้านบาท โดยทั่วไปความเสี่ยงที่จะเกิดการรั่วไหลของงบประมาณในส่วนนี้ในปัจจุบันจะอยู่ในราว 20%-30% ของงบประมาณ เพราะฉะนั้นในปี 2554 งบประมาณที่มีโอกาสรั่วไหลจะอยู่ระหว่าง 334,814-502,221 ล้านบาท

“ในปี 2555 งบประมาณส่วนนี้เท่ากับ 1,832,309 ล้านบาท โอกาสของความเสี่ยงที่จะรั่วไหลของงบประมาณน่าจะอยู่ระหว่าง 366,460-549,692 ล้านบาท เพราะฉะนั้นผมจึงเห็นว่า โอกาสที่งบประมาณประจำปีในปัจจุบันจะรั่วไหลเพราะเหตุแห่งคอร์รัปชันน่าจะอยู่ระหว่าง 300,000-500,000 ล้านบาทต่อปี ไม่ใช่ 200,000 ล้านบาทต่อปี”

รศ.ดร.สังศิต กล่าวอีกว่า สาเหตุที่ขนาดของเม็ดเงินจากการคอร์รัปชันในประเทศไทย เพิ่มขึ้นมากในช่วงประมาณ 10 ปีสุดท้ายนี้ มาจากสาเหตุหลายประการด้วยกัน ประการแรก มาจากกลุ่มทุนกึ่งผูกขาดในประเทศไทย ที่เปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินที่อยู่เบื้องหลังพรรคการเมืองมาโดยตลอด มาจัดตั้งพรรคการเมืองของตัวเอง และเป็นตัวแสดงทางการเมืองเอง การเข้าสู่การเมืองของกลุ่มทุน โดยการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ได้มีการศึกษาอย่างเป็นวิชาการแล้ว พบว่าเป็นการลงทุนทางการเมืองเพื่อเข้าครอบครองอำนาจรัฐ แล้วใช้อำนาจรัฐที่ได้มาปกป้องอาณาจักรสัมปทานธุรกิจที่พวกเขาได้รับจากรัฐ รวมทั้งใช้อำนาจรัฐไปขยายสิทธิและผลประโยชน์ให้แก่ธุรกิจกึ่งผูกขาดของตนเอง ซึ่งเป็นการขยายกำไรส่วนเกินให้มากยิ่งขึ้นไปอีก เราจะพบว่าในปัจจุบันมีตัวแทนของตระกูลกลุ่มทุนกึ่งผูกขาดหลายตระกูลที่นั่งอยู่ในคณะรัฐบาล

ประการที่สอง การคอร์รัปชันของนักการเมืองเปลี่ยนจากโครงการที่เคยกำหนดโดยข้าราชการมาเป็นโครงการขนาดใหญ่ (mega project) ตามนโยบายของพรรคการเมือง โครงการขนาดใหญ่แบบเดิมที่จัดทำโดยข้าราชการอยู่ในระดับเป็นหลักหมื่นล้านบาท ได้กลายเป็นโครงการที่มูลค่าเป็นหลายแสนล้านบาทโดยนักการเมือง

ประการที่สาม แบบแผนการคอร์รัปชั่นของนักการเมืองเปลี่ยนแปลงจากอดีตที่เป็นเรื่องของการคอร์รัปชั่นแบบปัจเจกบุคคลหรือกินคนเดียว มาเป็นการโกงกินในลักษณะเครือข่ายหรือคอร์รัปชั่นแบบพวกพ้อง เพราะขนาดของโครงการใหญ่ขึ้นและจำนวนโครงการมีมากขึ้น

ประการที่สี่ การที่รัฐบาลครองเสียงข้างมากในสภาฯ มีข้อดีคือโอกาสที่บริหารกิจการบ้านเมืองให้มีเสถียรภาพเกิดขึ้นได้ง่าย ถ้าหากรัฐบาลบริหารบ้านเมืองโดยยึดถือหลักธรรมาภิบาลเป็นที่ตั้ง แต่ถ้ารัฐบาลไม่ยึดถือหลักการนี้ให้มั่นคง ก็อาจจะเกิดระบบพรรคพวก ระบบพวกพ้อง ในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ได้ง่ายเช่นเดียวกัน

“ขณะนี้ในบ้านเมืองของเราได้เกิดปรากฏการณ์ในการบริหารราชการแผ่นดินที่นักเศรษฐศาสตร์การเมืองเรียกว่า “Competitive Clientelism” ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ตลาดของข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พนักงานรัฐวิสาหกิจ มีการแข่งขัน วิ่งเต้นเพื่อขอไปเป็นลูกน้องของนักการเมืองที่มีอิทธิพลทางการเมือง หรือที่พวกเขาเรียกกันว่าขอไปเป็น “คนของนาย” ซึ่งอาจจะเป็น “นายใหญ่” “นายหญิง” “คุณนาย ด.” หรืออื่นๆ” ดร.สังศิต ระบุ

ประการที่ห้า สาเหตุที่กลุ่มทุนสนใจลงทุนทางการเมืองมากขึ้น เพราะรายได้ที่สำคัญของนักการเมืองกลุ่มนี้ ไม่ได้มาจากส่วนแบ่งของงบประมาณแผ่นดินเหมือนนักการเมืองในอดีต คอร์รัปชั่นรูปแบบใหม่มีความเอนเอียงที่จะเกี่ยวข้องกับกลไกตลาด จึงมีความสลับซับซ้อนจนยากที่คนทั่วไปจะมองเห็นและเข้าใจได้ แต่ผลประโยชน์จากการคอร์รัปชันรูปแบบใหม่กลับเป็นแหล่งรายได้สำคัญอีกแหล่งหนึ่งของนักธุรกิจเมืองคือตลาดหลักทรัพย์ มีข้อที่น่าสังเกตว่านโยบายของรัฐบาลที่มาจากกลุ่มทุนจะเน้นการเติบโตของตลาดหลักทรัพย์ โดยผ่านนโยบายประชานิยม และมาตรการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงการแก้ไขระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้เอื้อต่อการทำธุรกรรมในตลาดทุน ซึ่งจะส่งผลให้มูลค่าหุ้นของกลุ่มทุนการเมืองในตลาดหลักทรัพย์เติบโตเป็นอย่างมาก

ประการที่หก รัฐบาลเข้าแทรกแซงการทำงานขององค์กรอิสระ ทำให้องค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบทำงานได้ยากยิ่งขึ้น การที่รัฐบาลมีความเอนเอียงที่จะมีท่าทีต่อองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ เหมือนเป็นกลุ่มฝ่ายค้านนอกรัฐสภา ทำให้การได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลมีค่อนข้างน้อย ซึ่งเป็นการลดประสิทธิภาพการทำงานขององค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบลง

ประการที่เจ็ด การจำกัดบทบาทของสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล โดยการใช้งบประมาณการประชาสัมพันธ์ของภาครัฐเป็นเครื่องมือ ทำให้สื่อมวลชนจำนวนหนึ่งที่หวังเอาตัวรอดอย่างง่ายๆ ไม่สามารถวางตัวเป็นกลางทางการเมือง แต่กลับยอมเปลี่ยนสีแปรธาตุไปทำหน้าที่เป็นเสมือนสื่อของภาครัฐ ในทางวิชาการอาจมองเรื่องนี้ว่าเป็นเรื่องของการใช้อำนาจทางการเมืองโดยมิชอบ เพื่อมิให้สื่อทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างเป็นอิสระ

ประการที่แปด การร่วมมือกันระหว่างนักการเมือง ข้าราชการและภาคธุรกิจ ทำให้ความเสี่ยงของการที่จะถูกองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบจับได้ค่อนข้างต่ำ เมื่อความเสี่ยงที่จะถูกจับจากการคอร์รัปชั่นอยู่ในระดับต่ำ ความต้องการของคนที่อยู่ในสถานะที่มีโอกาสจะโกงได้ ก็จะอยู่ในระดับที่เพิ่มมากขึ้น

รศ.ดร.สังศิต เสนอว่า สิ่งที่เราควรให้ความสนใจ คือ ควรให้ความสำคัญกับมาตรการป้องกันมากว่ามาตรการการปราบปรามการคอร์รัปชัน เพิ่มอำนาจให้แก่ภาคประชาสังคม สร้างจิตสำนึกและค่านิยมที่รังเกียจคอร์รัปชัน ยกระดับธรรมาภิบาลขององค์กรตรวจสอบทั้งที่เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และที่เป็นของภาครัฐ

“ก่อนอื่นทั้งหมดควรพิจารณา กกต.ซึ่งเป็นองค์กรที่จะควบคุมต้นทางการคอร์รัปชันของนักการเมือง ผมคิดว่าประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงานของ กกต.ในปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำจนเกินกว่าที่จะยอมรับได้ กกต.ซึ่งเป็นองค์กรกรองนักการเมืองในตลาดการเมืองให้เข้าไปทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชน แต่จนกระทั่งถึงขณะนี้ กกต.ล้มเหลวที่จะคัดกรองคนที่ทุจริตในการเลือกตั้งออกไปจากตลาดการเมืองได้ตั้งแต่เริ่มต้น ดังนั้นผู้ที่ใช้เงินในการเลือกตั้งมากที่สุด จึงกลายเป็นผู้แทนของประชาชนตั้งแต่ระดับชาติจนถึงระดับท้องถิ่น” รศ.ดร.สังศิต กล่าวและว่า โทษของการทุจริตการเลือกตั้งไม่ควรเป็นแค่ 1 ปี หรือ 5 ปี แต่ควรเป็นตลอดชีวิตและตลอดไป คนทุจริตทางการเมืองไม่ควรได้รับโอกาสให้กลับมายุ่งเกี่ยวกับการเมืองทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ โทษของการทุจริตทางการเมืองควรเป็นโทษทางอาญา และไม่ควรมีการรอลงอาญา

เช่นเดียวกับ ป.ป.ช.ที่มีปัญหาประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงานเป็นอย่างมาก ป.ป.ช.ไม่สามารถให้คำมั่นสัญญาใดๆ กับสังคมได้เลยว่า คดีที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นอย่างมากนั้น จะใช้เวลามากน้อยเพียงใด เราจะพบว่าคดีที่ประชาชนให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ เช่น คดีที่ดินอัลไพน์ ของอดีตรัฐมนตรีมหาดไทย และคดีบริษัท ปิกนิก ของอดีตรัฐมนตรีพาณิชย์ ถูกปล่อยจนหมดอายุความไปอย่างน่าเสียดาย

“ผมคิดว่าคดีคอร์รัปชันไม่ควรมีอายุความ สังคมควรถือว่าการคอร์รัปชันของนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐเป็นการทรยศต่อชาติขั้นร้ายแรง ดังนั้นผู้ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดเรื่องคอร์รัปชัน จึงไม่ควรมีการรอลงอาญา ไม่สมควรได้รับนิรโทษกรรม และควรมีข้อห้ามมิให้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการตลอดชีวิต การเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองอย่างเปิดเผยหรือซ่อนเร้นควรมีการกำหนดโทษทางอาญาสถานหนัก”

รศ.ดร.สังศิต ระบุว่า โอกาสที่จะเอาชนะคอร์รัปชัน หรือควบคุมระดับการคอร์รัปชันในประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเรื่องยากที่ความสำเร็จจะมาจากภาครัฐ ภาคราชการ หรือพ่อค้านักธุรกิจ แม้กระทั่งจากองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญ พิจารณาจากประสบการณ์ของประเทศที่ประสบความสำเร็จในการต่อต้านคอร์รัปชัน 3 ประเทศ คือ สิงคโปร์ ฮ่องกง และเกาหลีใต้ พบว่า ความสำเร็จในการควบคุมคอร์รัปชันของสิงคโปร์ และฮ่องกงมาจากนโยบายของผู้นำประเทศที่สุจริต ส่วนเกาหลีใต้ ความสำเร็จมาจากภาคประชาสังคมที่ลุกขึ้นต่อต้านผู้นำประเทศ และนักธุรกิจชั้นนำที่คอร์รัปชัน ในแง่นี้บริบทของสังคมเกาหลีใต้ใกล้เคียงกับบริบทของสังคมไทยมากกว่า ดังนั้น การสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคประชาสังคมของไทยจึงควรเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดยิ่งกว่าทุกยุทธศาสตร์ และยุทธศาสตร์นี้น่าจะสร้างความยั่งยืนให้แก่สังคมไทยที่จะควบคุมการคอร์รัปชั่นได้ดีที่สุดในระยะยาว
กำลังโหลดความคิดเห็น