“อภิชาต” ระบุทำหน้าที่นายทะเบียนพรรคการเมืองสุดกดดัน อยากให้แยกออกจากตำแหน่งประธาน กกต. พร้อมดันตั้งสำนักงานนายทะเบียนฯ เพื่อเป็นลูกมือในการทำงาน รับไม่เห็นด้วยที่จะให้ยุบพรรคการเมือง ส.ส.เพื่อไทย ได้ทียุเสนอแก้ รธน. อ้างหากให้พรรคการเมืองดำเนินการจะถูกกล่าวหาทำเพื่อตัวเอง
วันนี้ (18 ม.ค.) นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวในระหว่างการบรรยายพิเศษเรื่อง “บทบาทของนายะเบียนพรรคการเมืองกับการควบคุม ตรวจสอบ และส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินกิจการของพรรคการเมือง” ให้กับนักศึกษาหลักสูตรพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง รุ่นที่ 4 ของสำนักงาน กกต.ว่า ก่อนที่จะเข้ามารับตำแหน่งเป็นประธาน กกต. ตนไม่คิดว่างานจะมีความท้ายทายอะไร แต่เมื่อทราบว่ารัฐธรรมนูญ บัญญัติให้ประธาน กกต.ต้องดำรงตำแหน่งเป็นนายทะเบียนพรรคการเมืองด้วยนั้น จึงรู้ว่าเป็นงานที่ท้าทายมาก เพราะนายทะเบียนพรรคการเมืองต้องทำงานท่ามกลางการต่อสู้ แข่งขันทางการเมือง และสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่อยู่ในภาวะปกติโดยเฉพาะช่วงที่ผ่านมา เช่น กรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ส่งเรื่องให้ กกต.พิจารณายุบพรรคประชาธิปัตย์ ในคดีรับเงินบริจาคจาก TPI จำนวน 258 ล้านบาท ที่มีทั้งม็อบมากดดัน และการพิจารณาของ กกต.ก็สร้างความกดดันกันเอง
โดยตอนนั้นตนเห็นว่าเป็นเรื่องที่ที่ประชุม กกต.ควรพิจารณาลงมติ พอตนลงมติว่าเรื่องนี้ไม่มีความผิด และมี กกต.1 คนลงความเห็นว่ามีความผิด แต่ กกต.อีก 3 มีความเห็นว่าเรื่องนี้ต้องให้นายทะเบียนพรรคการเมืองพิจารณาก่อน ซึ่งตนก็เห็นว่า ได้มีความเห็นไปแล้ว จะให้มามีความเห็นในฐานะนายทะเบียน ความเห็นจะเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร จึงมีความเห็นไปว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ กกต.ต้องพิจารณา แต่พอส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ศาลก็กลับมีความเห็นว่า นายทะเบียนพรรคการเมืองยังไม่มีความเห็น และมองว่านายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นเรื่องให้ศาลวินิจฉัยเกินว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
“เรื่องนี้ได้ทำให้นายทะเบียนพรรคการเมืองมีความกดดันมาก ทำให้คิดว่าในอนาคตคนที่จะมาเป็นประธาน กกต.ต้องคิดให้มากขึ้น เพราะการเป็นนายทะเบียนพรรคการเมืองนั้น ในบ้างสถานการณ์ก็เป็นอันตราย แม้จะพยายามทำตัวเป็นกลางแล้วก็ตาม แต่ทั้งนี้การทำหน้าที่ของนายทะเบียนพรรคการเมืองดีขึ้น หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย แนวทางการปฏิบัติของนายทะเบียนพรรคการเมืองว่า ทุกเรื่องที่เกี่ยวกับพรรคการเมือง ไม่ว่านายทะเบียนพรรคการเมืองจะมีความเห็นในทางใด ต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม กกต.ก่อน”
นายอภิชาตกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ตนอยากเสนอให้มีการแยกนายทะเบียนออกมาจากตำแหน่งประธาน กกต.ที่กฎหมายกำหนดไว้ให้เป็นโดยตำแหน่ง และอยากให้มีการตั้งสำนักนายทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นมาเพื่อทำงานเป็นลูกมือของนายทะเบียนอย่างแท้จริง เพราะทุกวันนี้นายทะเบียนฯสวมหัวโขนนั่งโดดๆ อยู่คนเดียว ไม่มีอุปกรณ์ ไม่มีเจ้าหน้าที่ มีอะไรก็ต้องไปหยิบยืมจากส่วนกิจการพรรคการเมือง ที่จะเน้นการทำงานด้านจดจัดตั้งพรรคการเมือง การบริหารงานพรรคการเมืองเป็นหลัก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการบรรยายฯ นักศึกษาก็ได้สอบถามความเห็นว่า สมควรที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 ที่ให้มีการยุบพรรคหากพบว่ากรรมการบริหารพรรคเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตการเลือกตั้ง และมาตรา 94 อนุ 5 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ที่ให้ยุบพรรคในกรณีที่เห็นว่ามีการกระทำล้มล้างการปกครอง หรือไม่ นายอภิชาต กล่าวว่า ส่วนตัวไม่ชอบเรื่องการยุบพรรค เพราะทำให้เกิดความวุ่นวายทางการเมือง และขัดกับหลักการที่ต้องการสร้างพรรคการเมืองให้เกิดความเข้มแข็ง รวมทั้งในต่างประเทศก็ไม่มีการเอาผิดพรรคการเมืองด้วยการยุบพรรค มีแต่เมืองไทยที่ยุบพรรคกันง่า แต่ทั้งนี้การแก้ไขก็เป็นอำนาจของสภา เพราะไม่ว่ากฎหมายกำหนดมาอย่างไร กกต.พร้อมปฏิบัติตาม
ซึ่งนายสมเกียรติ ศรลัมพ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และวิปรัฐบาลเสนอว่า รัฐธรรมนูญกำหนดให้องค์กรอิสระสามารถเสนอแก้ไขกฎหมายได้ กกต.ในฐานะผู้ปฏิบัติรับทราบถึงปัญหาต่างๆ เป็นอย่างดี ถ้าเสนอแก้ไขสังคมจะรับได้ แต่ถ้าให้พรรคการเมืองเป็นผู้เสนอก็จะถูกกล่าวหาว่าเสนอเพื่อประโยชน์ของตนเอง จึงอยากให้ กกต.เป็นผู้เสนอเรื่องต่อสภาเป็นผู้แก้ไข