หน.ภท.บรรยายหลักสูตรพัฒนาการเมือง รุ่น 4 รับนักธุรกิจ ปัดยุ่งการเมือง หวั่นถูกเหมาโกง แจงสู้คดีฮั้วประมูล พิสูจน์เล่นการเมืองพัฒนาประเทศ ชี้ นักธุรกิจจะสำเร็จต้องพึ่งใบบุญนักการเมืองเก่า แนะรับ กม.ห้ามถือหุ้นหน่วยงานรัฐได้ก็จบ ยกองค์กรสอบโกงต้องเข้ม เชื่อทุจริตลด ส่วน “สังศิต” ย้ำ กม.บัญญัติดี นักการเมืองเลือกให้ญาติถือหุ้น ระบุ นักธุรกิจมีจุดอ่อน-แข็ง ขรก.นั่งฝ่ายตรวจสอบไร้เครือข่าย ปราบโกงไร้ผล แนะพัฒนาจริยธรรมดูแลนักการเมือง
วันนี้ (21 ธ.ค.) ในการจัดอบรมนักศึกษาหลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง รุ่นที่ 4 ของสำนักงาน กกต.นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ได้บรรยายพิเศษหัวข้อ “ธุรกิจการเมืองกับบทบาทในพรรคการเมือง โอกาสและผลกระทบต่อการเมืองไทย” โดยนายอนุทิน ยอมรับว่า นักธุรกิจเข้าทำงานด้านการเมืองค่อนข้างยาก เพราะทัศนคติของคนในสังคม มองว่า นักธุรกิจเหล่านั้น จะเข้ามาทำเพื่อผลประโยชน์ของตน และจะมีการทุจริตขึ้น ทั้งนี้ เมื่อช่วงที่เข้ามาทำงานด้านการเมือง ก็เกิดการรัฐประหารปี 49 พร้อมถูก คตส.ตั้งข้อกล่าวหาคดีฮั้วประมูลถึง 2 คดี ทำให้เกิดการต่อสู้ตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งก็ยืนยันว่า การเข้ามาทำงานด้านการเมือง ไม่ใช่การเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ แต่ตั้งใจนำประสบการณ์มาพัฒนาประเทศ
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ส่วนที่นักธุรกิจจะตั้งพรรคการเมือง โอกาสประสบความสำเร็จเป็นไปได้ยาก จึงต้องอาศัยนักการเมืองที่มีฐานเสียงเข้ามาเป็นองค์ประกอบสำคัญ ขณะเดียวกัน ก็มีกฎหมายควบคุมนักธุรกิจการเมือง ห้ามถือหุ้น หรือเป็นคู่สัญญาในหน่วยงานของรัฐ หากยอมรับได้ ก็ไม่เกิดปัญหา แต่มักจะมีช่องทางให้เกิดการกระทำผิดสำหรับนักการเมืองที่ต้องการเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ ทั้งนี้ เห็นว่า การจะแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชันได้ องค์กรตรวจสอบต้องมีความเข้มแข็ง เด็ดขาด และดำเนินการอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้นักการเมืองเกิดความกลัว และเชื่อว่า การกระทำผิดจะลดลงได้
ด้าน นายสังศิต ระบุว่า ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ได้กำหนดให้นักธุรกิจที่ต้องการเข้ามาทำงานการเมือง นำหุ้นไปฝากไว้ที่กองทุนรวม แต่นักธุรกิจบางส่วนกลับเลือกฝากหุ้นไว้ที่ญาติ หรือคนสนิท ขณะที่กระบวนการตรวจสอบของไทย ไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งที่ตัวกฎหมายบัญญัติไว้ดีมาก ซึ่งนักธุรกิจมีความยืดหยุ่นกว่านักการเมือง ถือว่า เป็นทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งในเวลาเดียวกัน ขณะที่ฝ่ายตรวจสอบ ส่วนใหญ่มาจากภาคราชการ ที่ยึดติดอยู่ในกรอบของกฎหมายอีกทั้งไม่มีเครือข่าย จึงเอาผิดนักธุรกิจได้ยาก อย่างไรก็ตาม เห็นว่า ควรพัฒนากรอบจริยธรรมให้มีความแข็งแรง ซึ่งจะเป็นเครื่องมือดูแลควบคุมนักการเมืองให้มีมาตรฐานทางจริยธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ