เมื่อสองปีก่อน องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) เปิดเผยผลการจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันประจำปี พ.ศ.2553 พบว่า ประเทศไทยได้ 3.5 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน อยู่อันดับที่ 78 จากการจัดอันดับทั้งหมด 178 ประเทศทั่วโลก เท่ากับประเทศจีน โคลัมเบีย กรีซ เลโซโท เปรู เซอร์เบีย และอยู่อันดับที่ 9 จาก 23 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นคะแนนและอันดับที่ดีขึ้นกว่าเมื่อปี 2552
ปีต่อมา ประเทศไทยหล่นจากอันดับที่ 78 ไปอยู่ที่อันดับ 80 จาก จำนวนประเทศที่ได้รับการจัดอันดับ 183 ประเทศ โดยได้ 3.4 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน เทียบเท่ากับโคลัมเบีย เอลซัลวาดอร์ กรีซ โมร็อกโก และเปรู และได้อันดับ 10 จาก 26 ประเทศในเอเชีย
หลังการเผยแพร่ผลการจัดอันดับหนีงวัน ในวันรุ่งขึ้น นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษา นช.ทักษิณ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า การทีภาพลักษณ์ด้านคอร์รัปชั่นของไทย ตกลงไป 2 อันดับ ในยุคของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะโทษรัฐบาลยิ่งลักษณ์ คงไม่ได้ เพราะเพิ่งเข้ามาบริหารประเทศไม่นาน รัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ประกาศสงครามกับการทุจริตคอร์รัปชั่น และตนเชื่อว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะทำให้ประเทศไทยมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น ซึ่งรอดูว่าการจัดลำดับขององค์กรเดียวกันในปลายปี 2555 ผลจะออกมาอย่างไร
การจัดอันดับภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นประจำปี 2555 องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ปรับการคำนวณใหม่ และเปลี่ยนฐานคะแนนเป็นคะแนนเต็ม 100 จากเดิมคะแนนเต็ม 10
ผลการจัดอันดับในปีนี้ ประเทศไทยได้ 37 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 88 จากการจัดอันดับทั้งหมด 176 ประเทศทั่วโลก และอยู่อันดับที่ 11 จาก 21 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยปีนี้ประเทศไทยมีคะแนนเท่ากับประเทศมาลาวี โมร็อกโก ซูรินาเม สวาซิแลนด์ และแซมเบีย
สำหรับผลการจัดอันดับประจำปีนี้ จาก 176 ประเทศทั่วโลก ปรากฏว่า มีเพียง 53 ประเทศเท่านั้นที่สอบผ่าน หรือได้เกิน 50 คะแนน ขณะที่อีก 123 ประเทศ มีคะแนนต่ำกว่าครึ่ง โดยประเทศเดนมาร์ก ฟินแลนด์ และนิวซีแลนด์ ครองแชมป์อันดับหนึ่ง ได้ 90 คะแนน ส่วนอันดับสุดท้ายคะแนนต่ำสุด ได้แก่ อาฟกานิสถาน เกาหลีเหนือ และโซมาเลีย ได้แค่ 8 คะแนน
ในภูมิภาคเอเชีย สิงคโปร์ยังคงได้คะแนนนำเป็นอันดับหนึ่ง 87 คะแนน และมีเพียง 7 ประเทศเท่านั้นที่มีคะแนนเกินครึ่ง ได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น ภูฏาน ไต้หวัน เกาหลีใต้และบรูไน ที่เหลืออีก 14 ประเทศรวมทั้งประเทศไทยยังต่ำกว่าครึ่ง
คะแนนที่แตกต่างกันเพียงเล็กน้อย ระหว่าง 3.4 จาก คะแนนเต็ม 10 กับ 37 คะแนนจาก 100 แทบจะไม่มีความแตกต่างเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคำนึงถึงฐานคะแนนเต็มในปีนี้ ซึ่งเปลี่ยนเป็น 100 คะแนน คะแนนของไทยที่เพิ่มขึ้นมา อีก 3 คะแนน หากปรับฐานในปีก่อนให้เป็น 100 ไม่น่าจะมีนัยสำคัญอะไร แต่อันดับที่ร่วงลงมาจากเดิมถึง 8 อันดับ มันฟ้องว่าภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่นของไทยแย่ลง เมื่อเปรียบเทียบกันทั้งโลก และยังสอบตก คะแนนไม่ถึงครึ่ง
นายนพดลจะอธิบายผลการจัดอันดับปีนี้อย่างไรดี ?
สำหรับ ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน หรือ Corruption Perceptions Index - CPI เป็นดัชนีแสดงถึงการรับรู้ของกลุ่มตัวอย่างที่มีต่อการคอร์รัปชันของ ภาครัฐ (Public Sector) ในประเทศ คำว่าภาครัฐในที่นี้มีความหมายรวมไปถึงหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหมด ทั้งนักการเมือง ข้าราชการ ทหาร ตำรวจต่างๆ โดยกลุ่มตัวอย่างมีฐานข้อมูลมาจากผู้เชี่ยวชาญและนักธุรกิจที่อาศัยอยู่ในประเทศที่ทำการสำรวจ รวมไปถึงสถาบัน หน่วยงานวิจัย และองค์กรอิสระที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก
องค์กรความโปร่งใสสากลได้ให้ความหมายของคำว่า คอร์รัปชัน (Corruption) ไว้ว่า หมายถึง การใช้อำนาจที่ได้มาโดยหน้าที่ในการหาประโยชน์ส่วนตัว โดยองค์กรความโปร่งใสสากลได้ระบุถึงกรณีต่างๆ ที่จะสามารถเกิดขึ้นในการคอร์รัปชันของภาครัฐได้ ดังนี้
การคอร์รัปชันขนาดใหญ่ (Grand corruption)เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงเพื่อบิดเบือนนโยบายหรือใช้อำนาจรัฐในทางมิชอบ เพื่อให้ผู้นำหรือผู้บริหารประเทศได้รับผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรของชาติ
การคอร์รัปชันขนาดเล็ก (Petty corruption) เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐระดับกลางและระดับล่างต่อประชาชนทั่วไป โดยการใช้อำนาจที่ได้รับมอบหมายในทางมิชอบ
การติดสินบน (Bribery) เป็นการเสนอ การให้ หรือสัญญาว่าจะให้ผลประโยชน์ ทั้งในรูปของเงิน สิ่งของ และสิ่งตอบแทนต่างๆ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เกิดการทำผิดกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี
การยักยอก (Embezzlement) คือการที่พนักงานหรือเจ้าหน้าที่ในองค์กร นำเงินหรือสิ่งของที่ได้รับมอบหมายให้ใช้ในราชการ มาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือเพื่อกิจกรรมอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง
การอุปถัมภ์ (Patronage)เป็นรูปแบบหนึ่งของการเล่นพรรคเล่นพวก ด้วยการคัดเลือกบุคคลจากสายสัมพันธ์ทางการเมือง เพื่อเข้ามาทำงานหรือเพื่อให้รับผลประโยชน์ โดยไม่คำนึงถึงคุณสมบัติและความเหมาะสม
การเลือกที่รักมักที่ชัง (Nepotism) เป็นรูปแบบหนึ่งของการเล่นพรรคเล่นพวก โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐจะใช้อำนาจที่มีในการให้ผลประโยชน์หรือให้หน้าที่การงานแก่เพื่อน ครอบครัว หรือบุคคลใกล้ชิด โดยไม่คำนึงถึงคุณสมบัติและความเหมาะสม
ผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of interest) คือการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวกับผลประโยชน์ส่วนรวม
ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน คำนวณโดยใช้ข้อมูลครอบคลุมแหล่งข้อมูล 13 แห่ง ที่จัดโดยสถาบันที่มีชื่อเสียง 13 สถาบัน ที่ครอบคลุมจำนวนประเทศที่ประเมินแตกต่างกันไป โดยข้อมูลทั้งหมดเป็นการประเมินภาพรวมของการคอร์รัปชันในภาครัฐ ซึ่งดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน 2012 นั้น เป็นการนำข้อมูลและผลสำรวจที่มีการเผยแพร่ในช่วงสองปีที่ผ่านมามาประเมิน
ผลสำรวจของแหล่งข้อมูลดังกล่าวรวมตั้งแต่ การรู้เห็นเรื่องการคอร์รัปชันของผู้ที่อาศัยอยู่ภายในประเทศ ไปจนถึงการรับรู้ของผู้ที่อยู่อาศัยอยู่ภายนอกประเทศ โดยมีแหล่งที่มาสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ เป็นข้อมูลที่มาจากผลสำรวจของภาคธุรกิจ และข้อมูลที่มาจากนักวิเคราะห์ความเสี่ยง หรือผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรระหว่างประเทศ ที่เป็นผู้ประเมินผลข้อมูล จากนั้นจึงนำข้อมูลทั้งหมดที่ได้มาแปลงเป็นค่ามาตรฐานที่มีสเกลเท่ากันคือ 100 คะแนน แล้วจึงนำมาจัดอันดับ
แหล่งข้อมูลที่มาจากนักวิเคราะห์ความเสี่ยง หรือผู้เชี่ยวชาญจากองค์การระหว่างประเทศมี 13 แห่ง ประกอบด้วย 1. การจัดอันดับธรรมาภิบาลของธนาคารพัฒนาอาฟริกา 2. ดัชนีธรรมาภิบาลด้านความยั่งยืนของมูลนิธิเบอร์เทลสแมนน์ 3. ดัชนีการปฏิรูปของมูลนิธิเบอร์เทลสแมนน์ 4. การประเมินความเสี่ยงรายประเทศของอีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต 5. รายงานการปฏิรูปรายประเทศของฟรีดอม เฮาส์ 6. การจัดอันดับความเสี่ยงรายประเทศของโกลบอลอินไซต์ 7. รายงานอันดับความสามารถในการแข่งขันของสถาบันเพื่อการพัฒนาผู้บริหารสากล 8. รายงานความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและการเมืองประจำปี 2012 ของเอเชียนอินเทลลิเจนซ์ 9. รายงานทิศทางความเสี่ยงรายประเทศของโพลิติคัล ริสก์ เซอร์วิสเซส 10. ผลการจัดอันดับสินบนขององค์กรเพื่อความโปร่งใสสากล 11.การประเมินผลงานรายประเทศและศักยภาพของสถาบัน โดยธนาคารโลก 12. ผลสำรวจความเห็นผู้บริหารจากเวิลด์ อีโคโนมิกส์ ฟอรั่ม 2012 และ 13. ดัชนีเปรียบเทียบหลักนิติรัฐของเวิลด์ จัสติส โปรเจกต์
การเข้าประเมินของกลุ่มตัวอย่างในแต่ละองค์กร จะครอบคลุมเฉพาะประเทศที่อยู่ในข่ายความรับผิดชอบและความถนัดขององค์กร เช่น การจัดอันดับธรรมาภิบาลของธนาคารพัฒนาอาฟริกา จะประเมินเฉพาะประเทศในภูมิภาคอาฟริกา ดังนั้น ในแต่ละประเทศจะมีจำนวนข้อมูลอ้างอิงที่ได้จากการประเมินไม่เท่ากัน ส่วนคำถามและการให้คะแนนนั้นก็มีความแตกต่างกันตามลักษณะขององค์กรที่เข้าไปสำรวจ เช่น องค์กรประเมินความเสี่ยงทางเศรษฐศาสตร์ (Economist Intelligence Unit Country Risk Assessment) จะมีคำถามเกี่ยวข้องกับความโปร่งใสของภาครัฐในการใช้จ่ายงบประมาณ การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ หรือความสามารถในการตรวจสอบนักการเมืองระดับสูงของประเทศนั้นๆ โดยให้คะแนนตามความถี่ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือดัชนีการติดสินบน (Transparency International Bribe Payers Survey) จะมีคำถามต่อกลุ่มตัวอย่างว่า ในความเห็นของคุณ เป็นเรื่องปกติแค่ไหนที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะเรียกหรือรับสินบน และมีการให้คะแนนตามความถี่ที่พบ
(ข้อมูลในส่วนที่เกียวกับ ความหมายของดัชนีภาพลักษณคอร์รัปชั่น, แหล่งข้อมูล มาจาก thaipublica.org)