xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีหลักนิติธรรมชี้ “ไทย” ติดอันดับ 35 “กระบวนการยุติธรรมทางอาญา” ดีที่สุดในโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตรากระทรวงยุติธรรม
เอเอฟพี/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - รายงานดัชนีหลักนิติธรรมประจำปี 2012 ซึ่งจัดทำโดยโครงการยุติธรรมโลก (World Justice Project) ระบุว่าประเทศแถบเอเชียตะวันออกมีศักยภาพในการป้องกันอาชญากรรมดีพอสมควร แต่ยังต้องปรับปรุงปัจจัยอื่นๆ ที่ประกอบรวมกันเป็นหลักนิติธรรม ขณะที่ไทยติดอันดับ 35 ประเทศที่มีกระบวนการยุติธรรมทางอาญาดีที่สุดในโลก

โครงการยุติธรรมโลก ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร ได้จัดทำดัชนีหลักนิติธรรมขึ้นเป็นปีที่ 3 โดยทำการสัมภาษณ์พลเมือง 97,000 คนและผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการยุติธรรมอีก 2,500 คนใน 97 ประเทศ เพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาแนวคิดด้านกฎหมายที่สำคัญ

ปัจจัยที่นำมาพิจารณาในการจัดลำดับประเทศ ได้แก่ อำนาจที่จำกัดของรัฐบาล (limited government powers), การปลอดทุจริต (absence of corruption), ความสงบเรียบร้อยและความมั่นคง (order and security), สิทธิขั้นพื้นฐาน (fundamental rights), รัฐที่มีความโปร่งใส (open government), การบังคับใช้กฎหมาย (regulatory enforcement), กระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง (civil justice) และกระบวนการยุติธรรมทางอาญา (criminal justice)

ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มประเทศยุโรปเหนือ ซึ่งได้แก่ เดนมาร์ก, ฟินแลนด์, นอร์เวย์ และสวีเดน ตลอดจนเนเธอร์แลนด์ ทำคะแนนสูงสุดในทั้ง 8 ปัจจัยดังกล่าว

สิงคโปร์และฮ่องกงมีคะแนนมาเป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลกในด้านความสงบเรียบร้อยและความมั่นคง ขณะที่ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, เวียดนาม และเกาหลีใต้ ล้วนติดอยู่ใน 30 อันดับแรก

จีนซึ่งอยู่ในลำดับที่ 32 ด้านความสงบเรียบร้อยและความมั่นคง จัดว่ามีกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ “มีประสิทธิภาพพอควร” แต่ก็ถูกบั่นทอนด้วยปัญหาการเมืองและการฝ่าฝืนหลักนิติธรรม (due process violations) นอกจากนี้ การจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนก็ทำให้จีนตกอยู่อันดับท้ายๆในด้านสิทธิขั้นพื้นฐาน

อินโดนีเซียมีคะแนนความปลอดทุจริตต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก ซึ่งรายงานชี้ว่า ข้อเสียสำคัญของแดนอิเหนาได้แก่ปัญหาตำรวจล่วงละเมิดประชาชน และสภาพความเป็นอยู่ที่ยากลำบากของนักโทษในเรือนจำ

มาเลเซีย, สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ยังต้องปรับปรุงในเรื่องของการให้สิทธิขั้นพื้นฐานแก่ประชาชน

สำหรับประเทศไทยมีดัชนีหลักนิติธรรมด้านประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา (criminal justice) อยู่ในลำดับที่ 35 ของโลก และลำดับ 7 ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้กลางค่อนไปทางสูง (upper-middle income) อย่างไรก็ดี ความขัดแย้งภาคพลเมืองและเหตุรุนแรงทางการเมืองยังคงเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมไทย รวมไปถึงการทุจริตคอร์รัปชันที่แพร่หลายทั้งในฝ่ายนิติบัญญัติ และตำรวจ

ไทยทำคะแนนได้ต่ำสุดในด้านกระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง (civil justice) ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการดำเนินคดีที่ล่าช้า และอุปสรรคในการบังคับใช้คำสั่งศาล

ประเทศแถบเอเชียใต้ทำคะแนนได้น้อยที่สุดในทุกๆ ปัจจัยของหลักนิติธรรม แม้ว่าหลายประเทศจะพยายามปรับปรุงหลักธรรมาภิบาลแล้วก็ตาม รายงานเผย

พลเมืองรายได้น้อยในสหรัฐฯ ยังคงขาดโอกาสในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ขณะที่ละตินอเมริกาก็ต้องเผชิญปัญหาด้านความมั่นคง ส่วนตะวันออกกลางมีปัญหาในด้านสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง

กำลังโหลดความคิดเห็น