xs
xsm
sm
md
lg

ติวเข้ม ตร.-ดีเอสไอ ลุยล้างทุจริตจำนำข้าว

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


สโมสรตำรวจ - จัดสัมมนาฝึกอบรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเจ้าพนักงานในการตรวจสอบและสืบสวนการทุจริตการรับจำนำข้าว การเยียวยาฟื้นฟู และป้องกันสาธารณภัย และการใช้จ่ายเงินงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีตำรวจระดับรองผู้กำกับการ และพนักงานสอบสวน(สบ3)ขึ้นไป 577 นายเจ้าหน้าที่จากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) 50นาย และสำนักคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) 50 นาย ร่วมฝึกอบรม

วันนี้ (6 ก.ค.) เมื่อเวลา 11.00 น. ที่สโมสรตำรวจ ถ.วิภาวดีรังสิต พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา ที่ปรึกษา (สบ 10) เป็นประธานเปิดงานฝึกอบรมสัมมนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเจ้าพนักงานในการตรวจสอบและสืบสวนการทุจริตการรับจำนำข้าว การเยียวยาฟื้นฟู และป้องกันสาธารณภัย และการใช้จ่ายเงินงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีตำรวจระดับรองผู้กำกับการ และพนักงานสอบสวน (สบ 3) ขึ้นไป จำนวน 577 นาย เจ้าหน้าที่จากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จำนวน 50 นาย และสำนักคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) จำนวน 50 นาย เข้าร่วมฝึกอบรม

พล.ต.อ.วรพงษ์กล่าวว่า การสัมมนาในครั้งนี้มีข้าราชการตำรวจตั้งแต่ระดับ ผบช. รอง ผบช. ผบก.สส.ภ. ผบก.ภ.จว. รอง ผบก.สส. พงส.(สบ 4) ซึ่งทั้งหมดที่ทำหน้าที่ในการสืบสวนป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ 3 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการจำนำข้าว 2. การใช้จ่ายงบประมาณในการเยียวยา ฟื้นฟู 3. ป้องกันสาธารณภัย และการใช้จ่ายเงินงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นงานที่รัฐบาลมอบหมายให้คณะกรรมการชุดนี้ดูแลให้อยู่ภายใต้กรอบการทำงาน โดยคณะกรรมการชุดใหญ่หรือส่วนบังคับบัญชามี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมีผู้แทนจากกรมต่างๆ ทั้งกรมบัญชีกลาง ดีเอสไอ ผบ.ตร. ซึ่งถือเป็นคณะกรรมการชุดใหญ่ แล้วตั้งคณะอนุกรรมการดังกล่าวขึ้นมาอีก 11 คณะ แบ่งออกตามพื้นที่คือกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1-9 (บช.ภ.1-9) ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) ที่ให้ระดับ ผบช.เป็นประธานคณะอนุกรรมการในการดำเนินการดังกล่าว ประสานการทำงานร่วมกันระหว่างดีเอสไอ และป.ป.ท. ช่วยเหลือในการลงพื้นที่หาข่าว สืบสวนสอบสวน และปราบปรามการทุจริตกรณีดังกล่าว

“ในการสัมนาครั้งนี้ได้เชิญคณะอนุกรรมการทั้งหมดมารับฟังความรู้และขั้นตอนดำเนินการโครงการรับจำนำข้าว เพื่อให้ทราบถึงช่องว่างในการทุจริตการจำนำข้าวของชาวนาที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงสีที่จะทำการทุจริตนั้นเป็นอย่างไร อาทิ มีข้าวแต่ไม่พบจำนวน การอ้างตัวเป็นเกษตรกรเพื่อขอสิทธิ์ในการจำนำข้าว ซึ่งพบว่ามี 2 แห่งที่เข้าข่ายเกิดการทุจริต ได้แก่ จ.กาญจนบุรี และ จ.นครนายก ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน เนื่องจากกรณีดังกล่าวเกิดก่อนที่คณะกรรมการชุดนี้จะตั้งขึ้นมา ภายหลังจากการสัมมนาเสร็จแล้ว จะดำเนินการให้เจ้าหน้าที่ไปเฝ้าระวังตามจุดต่างๆหาข้อมูลของโรงสีข้าวที่เข้ามาสวมสิทธิ์หรือนำข้าวจากต่างประเทศเข้ามาทันที” ที่ปรึกษา (สบ 10)กล่าว

พล.ต.อ.วรพงษ์กล่าวว่า การทุจริตดังกล่าวส่วนใหญ่มักมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง หากมีชาวนาร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ ก็จะมีความผิดฐานฉ้อโกงรัฐ รวมถึงโรงสีที่เข้ามาร่วมโครงการของรัฐแต่เบิกจ่ายเงินของรัฐเกินกว่าความเป็นจริง เจ้าหน้าที่รัฐจะมีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท ส่วนถ้าเป็นเกษตรกรหรือโรงสีร่วมทำผิดก็ตามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 หากผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นได้กระทำความผิดฐานยักยอกจะมีโทษปรับจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 6,000 บาท

พล.ต.อ.วรพงษ์กล่าวด้วยว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการรับแจ้งเรื่องราวร้องทุกข์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวทุกพื้นที่ ตลอด 24 ชั่วโมง โดยประชาชนสามารถแจ้งเบาะแสได้ทางสายด่วน 1768 หรือ ตู้ ปณ.1234 หรือ www.corruptioninfo.police.go.th


กำลังโหลดความคิดเห็น