xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ตรวจฯ จี้ “ปู” สั่งทบทวนพาสปอร์ต “นช.ทักษิณ” ชี้ชัด “อ้ายปึ้ง” ไม่มีอำนาจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายรักษเกชา แฉ่ฉาย โฆษกสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน
ผู้ตรวจฯ ร่อนหนังสือถึงนายกฯ จี้บัวแก้วทบทวนออกหนังสือเดินทางให้ “ทักษิณ” ชี้แม้จะอ้างเป็นนโยบายรัฐแต่ต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย แถมระบุชัดระเบียบฯ ไม่ได้ให้ รมว.ตปท.มีอำนาจเรื่องการออกหนังสือเดินทาง พร้อมเสนอปรับปรุงระเบียบที่ให้อำนาจ จนท.ใช้ดุลพินิจออกหนังสือเดินทาง หวังปิดช่องเอื้อประโยชน์คนเป็นผู้ต้องหา ด้านโฆษกฯ เชื่อแม้ “ปู” เป็นน้องสาวนักโทษชายทักษิณ แต่ก็เป็นนายกฯ ของประเทศ จะใช้ดุลยพินิจพิจารณาสั่ง กต.ดำเนินการตามกฎหมาย

วันนี้ (14 ก.พ.) นายรักษเกชา แฉ่ฉาย โฆษกสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงว่า เมื่อวันที่ 12 ก.พ. ที่ผ่านมา ผู้ตรวจการแผ่นดินมีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บังคับบัญชา เพื่อให้สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณากรณีการออกหนังสือเดินทางให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้ต้องหาหลบหนีคดี ให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ. 2548 ข้อ 21 และให้รายงานผลการดำเนินการให้ผู้ตรวจการแผ่นดินทราบภายใน 30 วันนับแต่ได้รับหนังสือ

ทั้งนี้ กรณีดังกล่าว นายสมศักดิ์ โกศัยสุข ได้ยื่นหนังสือขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาหาข้อเท็จจริงกรณีกระทรวงการต่างประเทศออกหนังสือเดินทางให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ เนื่องจากเห็นว่าเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการต่างประเทศฯ ซึ่งเมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการตรวจสอบแล้ว ก็ได้มีหนังสือถึงปลัดกระทรวงต่างประเทศขอให้มีการพิจารณาทบทวนการออกหนังสือเดินทางดังกล่าว เพราะเห็นว่าข้อมูลที่กระทรวงการต่างประเทศใช้พิจารณาในการอนุมัติหนังสือเดินทางให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณนั้น เป็นข้อมูลเก่าก่อนที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะมีคำพิพากษาสั่งจำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ และ พ.ต.ท.ทักษิณหลบหนีจนชื่อถูกขึ้นบัญชีต้องห้ามเดินทางออกนอกประเทศของกระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่กระทรวงการต่างประเทศชี้แจงกลับมาว่า กรณีการออหนังสือออกหนังสือเดินทางให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นการใช้ดุลพินิจโดยสุจริต คืนสิทธิการมีหนังสือเดินทางให้แก่บุคคลดังกล่าวตามที่ รมว.ต่างประเทศได้มีข้อวินิจฉัยและคำสั่งเมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2554 ว่านโยบายของรัฐบาลปัจจุบันเห็นว่า การคงอยู่ในต่างประเทศต่อไปของพ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศไทยหรือต่างประเทศ ตามข้อ 23 (7) ของระเบียบกระทรวงการต่างประเทศฯ จึงยกเลิกคำสั่งในเรื่องนี้ที่ออกโดยนโยบายของรัฐบาลชุดที่แล้ว และให้ออกหนังสือเดินทางบุคคลทั่วไปให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ

โฆษกผู้ตรวจการแผ่นดินกล่าวต่อว่า จากคำชี้แจงดังกล่าวของกระทรวงการต่างประเทศ ทำให้ผู้ตรวจฯ เห็นว่า ข้อเท็จจริงซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่กระทรวงการต่างประเทศจะต้องคำนึงถึงสำหรับประกอบการพิจารณาออกหนังสือเดินทางให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ในครั้งนี้ คือ ผู้ถือหนังสือเดินทางเป็นบุคคลซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่อาจออกหนังสือเดินทางให้ตามข้อ 21 ของระเบียบกระทรวงการต่างประเทศฯ หรือไม่ เพราะเป็นจำเลยในคดีอาญาที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกหมายจับ เป็นบุคคลที่ศาลมีคำสั่งห้ามไม่ให้ออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล และเป็นบุคคลที่ถูกขึ้นบัญชีดำห้ามเดินทางออกนอกประเทศตามฐานข้อมูลกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งพบว่ากระทรวงการต่างประเทศมิได้ใช้ข้อมูลเหล่านี้ไปพิจารณา แต่กลับอาศัยข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานเดิมเมื่อปี 41 ก่อนที่ศาลฎีกาฯจะมีคำพิพกษา ดังนั้น ที่กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาว่าการออกหนังสือเดินทางให้ พ.ต.ท.ทักษิณไม่เข้าข่ายที่กระทรวงจะใช้ดุลพินิจปฏิเสธหรือยับยั้งคำขอหนังสือเดินทางตามข้อ 21 ของระเบียบกระทรวงการต่างประเทศฯ นั้น จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่อาจคลาดเคลื่อนไม่สอดคล้องต่อข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่ในขณะพิจารณาคำขอหนังสือเดินทาง

ส่วนที่กระทรวงการต่างประเทศอ้างว่า รมว.ต่างประเทศระบุว่านโยบายรัฐบาลปัจจุบันเห็นว่าการคงอยู่ต่างประเทศต่อไปของผู้ขอหนังสือเดินทางรายนี้ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศไทยหรือต่างประเทศนั้น เห็นว่า รมว.ต่างประเทศเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ มีหน้าที่กำหนดนโยบายกระทรวงที่สอดคล้องนโยบายที่คณะรัฐมนตรีกำหนด แต่นโยบายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อกฎหมายหรือระเบียบราชการที่มีอยู่ ซึ่งระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ. 2548 มิได้กำหนดให้ รมว.ต่างประเทศมีอำนาจดำเนินการในเรื่องนี้ได้โดยตรงไว้เป็นการเฉพาะ

“การใช้ดุลพินิจของปลัดกระทรวงการต่างประเทศ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายในการพิจารณาคืนสิทธิการมีหนังสือเดินทางให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ได้มีการปฏิบัติให้ครบถ้วนตามระเบียบกระทรวงการต่างประเทศฯ และแนวทางปฏิบัติที่กระทรวงการต่างประเทศกำหนดไว้ ซึ่งแม้นโยบายของ รมว.ต่างประเทศในเรื่องนี้จะสำคัญ แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวก็ไม่เพียงพอที่จะหักล้างข้อมูลที่ว่าศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาจำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ และศาลออกหมายจับ พ.ต.ท.ทักษิณจึงไม่อยู่ในฐานะที่จะเดินทางไปต่างประเทศได้ ซึ่งหนังสือเดินทางเป็นเอกสารราชการที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงการต่างประเทศ

ดังนั้น เพื่อเป็นการประสานประโยชน์ของราชการต่อการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของศาล และตำรวจ กระทรวงการต่างประเทศสมควรต้องตรวจสอบไปยังหน่วยราชการดังกล่าวเสียก่อน เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่เป็นปัจจุบัน และเป็นการขอคำยืนยันสถานะบุคคลและคดีว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นผู้ขอหนังสือเดินทาง เป็นบุคคลเดียวกันกับที่ออกหมายจับไว้ และยังต้องการตัวมาเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายหรือไม่ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาออกหนังสือเดินทางให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณต่อไป”

นอกจากนี้ ผู้ตรวจฯ ยังได้เสนอกระทรวงการต่างประเทศให้พิจารณาปรับปรุงแก้ไขระเบียบดังกล่าว เนื่องจากในการพิจารณาปฏิเสธ ยับยั้ง ยกเลิก หรือเรียกคืนหนังสือเดินทาง กำหนดให้เป็นดุลพินิจของพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงอาจเป็นการเปิดโอกาสให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตีความไปในทางที่อาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม หรือความไม่เสมอกันในกฎหมาย หรือเป็นการเลือกปฏิบัติได้ โดยในข้อ 21 (2) ที่กำหนดให้ พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถปฏิเสธ หรือยับยั้งการขอ หรือแก้ไขหนังสือเดินทาง ในกรณีเมื่อได้รับแจ้งว่าผู้ร้องเป็นผู้ซึ่งกำลังรับโทษในคดีอาญา หรืออยู่ระหว่างการปล่อยตัวชั่วคราว หรือเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาที่ได้มีการออกหมายจับไว้แล้ว ซึ่งศาลหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเห็นว่าไม่ควรจะออกหนังสือเดินทางให้ แต่ในทางปฏิบัติศาล หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะชี้แจงข้อเท็จจริงในเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตนเท่านั้น ไม่อาจมีความเห็นเกี่ยวกับการออกหนังสือเดินทางแต่อย่างใด

ดังนั้น หากกระทรวงการต่างประเทศพิจารณาโดยตีความอย่างเคร่งครัดว่า กรณีที่จะเข้าข่ายข้อกำหนดดังกล่าวจะต้องได้รับแจ้งจากศาลหรือตำรวจว่าไม่ควรออกหนังสือเดินทางให้แก่ผู้ร้องขอเท่านั้น ก็อาจเป็นเหตุให้พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ใช้อำนาจตามระเบียบฯ ดังกล่าว ปฏิเสธหรือยับยั้งการออกหนังสือเดินทางให้แก่ผู้ร้องขอหนังสือเดินทางตามข้อ 21 (2) แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ร้องขอหนังสือเดินทางเป็นจำเลยในคดีอาญาที่ได้มีการออกหมายจับไว้แล้ว หรือศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกบุคคลดังกล่าวแล้วก็ตาม ซึ่งไม่น่าจะเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของระเบียบดังกล่าวที่กำหนดให้ พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถปฏิเสธหรือยกเลิกหนังสือเดินทางเมื่อพบว่า ผู้ร้องขอเป็นผู้ไม่อยู่ในฐานะที่จะเดินทางไปต่างประเทศได้

เมื่อถามว่า นายกฯ เป็นน้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ หวังแค่ไหนที่จะให้สั่งกระทรวงการต่างประเทศทบทวน นายรักษเกชากล่าวว่า เชื่อว่าโดยหน้าที่รับผิดชอบนายกฯ คงใช้ดุลพินิจพิจารณาว่าเรื่องดังกล่าวดำเนินการตามกฎหมายหรือไม่ เพราะท่านเป็นนายกของประเทศ ผู้ตรวจไม่ได้พิจารณาว่าคนนั้นนามสกุลเดียวกับคนนี้แล้วจะไม่ส่งไป แต่หากส่งไปที่นายกฯ แล้วกระทรวงการต่างประเทศยังไม่มีการทบทวนตามขั้นตอน ผู้ตรวจฯ ก็จะรายงานต่อไปที่รัฐสภา และเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ต่อสาธารณชนให้ทราบว่าเรื่องดังกล่าวตามระเบียบของกระทรวงการต่างประเทศมีข้อห้ามอะไรอยู่บ้าง


กำลังโหลดความคิดเห็น