xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ตรวจฯ ชี้ “บัวแก้ว” จงใจเลี่ยง กม.เอื้อ “นช.แม้ว” ออกพาสปอร์ตบินป่วนไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทักษิณ ชินวัตร (แฟ้มภาพ)
เปิดหนังสือผู้ตรวจฯถึงปลัดบัวแก้ว ระบุชัด “แม้ว” มีหมายจับก่อนยื่นขอมีหนังสือเดินทาง แถม กต.ยังขึ้นแบล็กสิลต์ห้ามออกนอกประเทศ ขณะที่แนวปฏิบัติ กม.ก็ชี้ชัด ก่อนออกหนังสือเดินทางต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงไปยังหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อขอคำยืนยันสถานะบุคคล แต่บัวแก้วกลับใช้ข้อมูลเก่าช่วยเหลือ ซ้ำคำชี้แจงพบ “ทักษิณ” ยื่นขอ 25 ต.ค. 54 กระทรวงการต่างประเทศประชุมอนุมัติทันทีในวันเดียวกัน

วันนี้ (14 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมีหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศให้มีการทบทวนการออกหนังสือเดินทางให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เนื่องจากไม่เป็นไปตามระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง 2548 นั้น รายงานข่าวจากกระทรวงต่างประเทศแจ้งว่า หนังสือของผู้ตรวจการแผ่นดินดังกล่าวส่งถึงปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า จากการเชิญอธิบดีกรมการกงสุล และผู้อำนวยการกองหนังสือเดินทางมาชี้แจงข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 54 พ.ต.ท.ทักษิณได้เดินทางไปยื่นคำร้องขอหนังสือเดินทางที่สถานเอกอัครราชฑูต ณ กรุงอาบูดาบี และสถานเอกอัครราชฑูตฯได้จัดส่งคำร้องดังกล่าวพร้อมเอกสารมายังกระทรวงการต่างประเทศ ทางกรมการกงสุลก็ได้ประชุมหารือเพื่อพิจารณาคำขอหนังสือเดินทางบุคคลทั่วไปให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณในวันที่ 25 ต.ค. 54 และมีมติว่า คำขอมีหนังสือเดินทางของ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่เข้าข่ายที่กระทรวงต่างประเทศจะใช้ดุลพินิจปฏิเสธหรือยับยั้งตามข้อ 21 ของระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง 2548 ประกอบกับรมว.ต่างประเทศมีนโยบายว่า รัฐบาลปัจจุบันเห็นว่าการคงอยู่ในต่างประเทศต่อไปของ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นผู้ขอมีหนังสือเดินทาง ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศไทยหรือต่างประเทศตามข้อ 27 (3) ของระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง 2548 ดังนั้นจึงขอให้ยกเลิกคำสั่งในเรื่องนี้ที่ออกโดยนโยบายของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และออกหนังสือเดินทางบุคคลทั่วไปให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ ซึ่งต่อมากรมการกงสุลจึงได้ออกหนังสือเดินทางบุคคลทั่วไป เลขที่ U 957441 ให้แก่พ.ต.ท.ทักษิณ พร้อมจัดส่งไปยังสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 54

ทางผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นจำเลยในคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ออกหมายจับไว้แล้วตามหมายจับเลขที่ 5/2551 ลงวันที่ 16 ก.ย. 51 หมายจับเลขที่ 8/2551 ลงวันที่ 26 ก.ย. 51 หมายจับเลขที่ 9 /2551 ลงวันที่ 15 ต.ค. 51 หมายจับเลขที่ 1/2553 ลงวันที่ 29 ก.ค. 53 และเป็นุบคคลที่ศาลมีคำสั่งห้ามไม่ให้ออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล รวมถึงเป็นบุคคลที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีต้องห้ามเดินทางออกนอกประเทศตามฐานข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศตามแฟ้มที่ 0609 หน้า 0340 เข้าระบบวันที่ 30 /12/51 แฟ้มที่ 0616 หน้า 0507 เข้าระบบวันที่ 13/05/51 แฟ้มที่ 0707 หน้า0004 เข้าระบบวันที่ 04/06/53 และแฟ้มที่ 0722 หน้า0314 เข้าระบบวันที่ 17/09/53 และเป็นุบคคลที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเป็นเวลา 2 ปี ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นสาระสำคัญขององค์ประกอบตามข้อ 21 (2)(3)(4) ของระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง 2548 ในการพิจารณาออกหนังสือเดินทางให้กับบุคคลที่ร้องขอ

ส่วนข้อเท็จจริงดังกล่าวเข้าข่ายที่กระทรวงการต่างประเทศจะใช้ดุลยพินิจปฏิเสธ หรือยับยั้งคำขอมีหนังสือเดินทางตามข้อ 21 ของระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง 2548 และแนวทางปฏิบัติของกระทรวงการต่างประเทศกำหนดไว้หรือไม่นั้น เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีหมายจับซึ่งอาจเข้าข่ายการปฏิเสธหรือยับยั้งหนังสือเดินทางได้ตามข้อ 21 (2) ของระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง 2548 การที่ที่ประชุมผู้เกี่ยวข้องกับการพิจารณาคำขอมีหนังสือเดินทางของ พ.ต.ท.ทักษิณวันที่ 25 ต.ค. 54 มีมติว่า กรณีดังกล่าวไม่เข้าข่ายที่กระทรวงต่างประเทศจะใช้ดุลยพินิจปฏิเสธหรือยับยั้งเนื่องจากไม่ครบองค์ประกอบตามข้อ 21 (2)(3)(4) ของระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง 2548 เนื่องจากศาลหรือตำรวจไม่ได้มีหนังสือแจ้งกระทรวงต่างประเทศไม่ให้ออกหนังสือเดินทางแก่ พ.ต.ท.ทักษิณนั้น เห็นว่า กระทรวงต่างประเทศได้มีหนังสือด่วนมากที่ กต. 0305.1/20655 ลงวันที่ 11 ส.ค.51 และหนังสือลับมาก ด่วนมากที่ กต. 0305.1/21411 ลงวันที่ 20 ส.ค. 51 ขอทราบข้อเท็จจริงและความเห็นไปยังศาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ออกหมายจับ พ.ต.ท.ทักษิณ ในคดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ฟ้องในความผิดฐานทุจริตซื้อขายที่ดินย่านรัชดาภิเษก เนื่องจากเห็นว่าบุคคลดังกล่าวไม่เดินทางกลับประเทศไทย และมารายงานตัวต่อศาลภายในกำหนด เพื่อที่กระทรวงการต่างประเทศจะได้นำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการยกเลิกหนังสือเดินทางของบุคคลดังกล่าว ต่อมาศาลฎีกามีหนังสือด่วนที่สุดที่ ศย 100/3038 ลงวันที่ 15 ส.ค. 51 แจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการออกหมายจับ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ไม่ได้แจ้งขอให้ยกเลิกหนังสือเดินทางบุคคลดังกล่าว ส่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีหนังสือลับมากที่ ตช.0031.212/00476 ลงวันที่ 29 ก.ย. 51 ก็ไม่ได้ให้ความเห็นต่อกรณีการยกเลิกหนังสือเดินทางบุคคลดังกล่าวเช่นกัน เนื่องจากเป็นกรณีที่ศาลออกหมายจับเนื่องจากบุคคลดังกล่าวไม่ไปศาลตามกำหนดนัด ไม่ใช่กรณีที่ศาลออกหมายจับตามคำร้องขอของพนักงานสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานก่อนที่พนักงานอัยการจะฟ้องต่อศาล ก็ไม่ได้เป็นการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานโดยพนักงานสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงไม่ทราบรายละเอียดและสถานทางคดีและไม่อาจพิจารณาให้ความเห็นต่อการยกเลิกหนังสือเดินทางได้

ข้อเท็จจริงที่กระทรวงต่างประเทศได้รับจากหน่วยงานทั้ง 2 จึงเป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่ก่อนศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเวลา 2 ปี แต่บุคคลดังกล่าวหลบหนี ศาลจึงได้มีหมายจับเลขที่ 10/2551 ลงวันที่ 21 ต.ค. 51 ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจับบุคคลดังกล่าวเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย การที่กระทรวงต่างประเทศพิจารณาข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วเห็นว่ากรณีไม่ครบองค์ประกอบตามระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ. 2548 เพราะศาลหรือตำรวจไม่ได้มีหนังสือแจ้งกระทรวงต่างประเทศไม่ให้ออกหนังสือเดินทางแก่ พ.ต.ท.ทักษิณ จึงเป็นการพิจารณาจากพยานหลักฐานข้อเท็จจริงเดิมเท่าที่มีอยู่ก่อนจะปรากฎข้อเท็จจริงในเวลาต่อมาว่า พ.ต.ท.ทักษิณนั้นศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจับบุคคลดังกล่าวมาดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งข้อเท็จจริงนี้ถือเป็นสาระสำคัญสำหรับการพิจารณายกเลิกหนังสือเดินทางดังกล่าว เนื่องจากไม่น่าจะเป็นบุคคลที่สามารถจะเดินทางไปต่างประเทศได้ จึงเป็นหน้าที่ของกระทรวงต่างประเทศ ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว โดยสอบถามไปยังศาลหรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติอีกครั้งว่ามีความประสงค์จะให้ยกเลิกหนังสือเดินทางบุคคลดังกล่าวหรือไม่ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่เป็นปัจจุบันนำมาประกอบการพิจารณา

“ความเห็นของกระทรวงต่างประเทศเมื่อปี 52 ดังกล่าวจึงไม่อาจนำมาใช้เป็นแนวพิจารณาสำหรับการพิจารณาออกหนังสือเดินทางให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ ตามคำขอของ พ.ต.ท.ทักษิณเมื่อวันที่ 25 ต.ค. ได้ อีกทั้งตามแนวทางปฏิบัติของกระทรวงต่างประเทศกำหนดให้กงสุลปฏิเสธรับคำขอหนังสือเดินทางเมื่อตรวจสอบพบว่าผู้ร้องขอหนังสือเดินทางเป็นบุคคลเดียวกันกับรายชื่อในบัญชีต้องตามเดินทางออกนอกประเทศตามฐานข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศ หากผู้ร้องขอหนังสือเดินทางโต้แยง กรมการกงสุล จะมีหนังสืสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอคำยืนยันสถานะบุคคลและผลคดี ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้มีรายชื่อในบัญชีต้องห้ามเดินทางออกนอกประเทศตามฐานข้อมูลของกระทรวงต่างประเทศ ก็สมควรที่กระทรวงต่างประเทศจะยึดแนวทางวิธีปฏิบัติของกระทรวงที่มีอยู่ ในการพิจารณายับยั้งคำขอหนังสือเดินทางของบุคคลดังกล่าวไว้เสียก่อน และรีบมีหนังสือสอบถามไปยังศาลหรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อขอคำยืนยันสถานะบุคคลและผลคดีซึ่งเป็นวิธีการสำคัญเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงสำหรับประกอบการพิจารณาออกหนังสือเดินทางให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ว่าเข้าข่ายองค์ประกอบข้อเท็จจริงตามข้อ 21 ของระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง 2548 หรือไม่”

ส่วนที่กระทรวงต่างประเทศเห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลเมื่อวันที่ 28 ก.ค. 51 เพื่อขอเดินทางออกนอกราชอาณาจักรและได้รับอนุญาตนั้น ตามข้อเท็จจริง การที่ศาลเคยอนุญาตให้ พ.ต.ท.ทักษิณออกนอกราชอาณาจักรขณะนั้น พ.ต.ท.ทักษิณได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากศาล ซึ่งมิใช่เป็นกรณีได้รับโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก 2 ปีซึ่งการที่ศาลอนุญาตให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรในช่วงเวลาดังกล่าว จึงไม่ได้หมายความว่า คำสั่งศาลที่ห้าม พ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาลที่มีอยู่นั้นสิ้นผลไป จึงยังถือว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้ที่ศาลมีคำสั่งไม่ให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร ตามนัยข้อ 21(3) แห่งระเบียบกระทรวงต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง 2548

สำหรับที่กระทรวงต่างประเทศเห็นว่าการที่ศาลฎีกาเคยอนุญาตให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางไปญี่ปุ่นและจีนได้น่าจะตีความได้ว่า บุคคลที่กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามมาตรา 152 ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งไม่ใช่กรณีที่กระทำความผิดกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศีลธรรมอันดีของประเทศหากมีความจำเป็นยังสามารถเดินทางไปต่างประเทศได้นั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินห็นว่า ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ยื่นของมีหนังสือเดินทางเมื่อวันที่ 25 ต.ค. 54 นั้น พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นบุคคลที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเป็นเวลา 2ปี และมีหมายถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้จับบุคคลดังกล่าวมาดำเนินคดีตามกฎหมาย การตีความดังกล่าวของกระทรวงต่างประเทศจึงเป็นการวินิจฉัยที่ไม่น่าจะถูกต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง 2548 ข้อ 21 (4) ซึ่งให้อำนาจแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิเสธหรือยับยั้งคำขอมีหนังสือเดินทางเมื่อพบว่าผู้ขอเป็นบุคคลที่ไม่อยู่ในฐานที่เดินทางไปต่างประเทศได้

นอกจากนี้ การที่กระทรวงการต่างประเทศอ้างว่า การออกหนังสือดังกล่าวเป็นการปฏิบัติตามนโยบายของ รมว.การต่างประเทศเห็นว่า ระเบียบดังกล่าวไม่ได้กำหนดให้ รมว.การต่างประเทศ มีอำนาจดำเนินการในเรื่องนี้ นโยบายของ รมว.การต่างประเทศดังกล่าวจึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งสำหรับประกอบการพิจารณาตัดสินใจของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการใช้อำนาจออกหนังสือเดินทางให้แก่ผู้ร้องขอเท่านั้น แต่การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องยึดถือปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ. 2548 และแนวทางวิธีปฏิบัติของกระทรวงการต่างประเทศที่กำหนดไว้เป็นสำคัญ

จากข้อเท็จจริงดังกล่าว พิจารณาแล้วเห็นว่าการที่กระทรวงการต่างประเทศไม่ยับยั้งคำขอหนังสือเดินทางของ พ.ต.ท.ทักษิณ ไว้เสียก่อน เพื่อดำเนินการตรวจสอบประวัติหรือพฤติการณ์ของบุคคลดังกล่าวไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอคำยืนยันสถานะบุคคลและคดี ซึ่งเป็นวิธีการสำคัญเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงสำหรับประกอบการพิจารณาออกหนังสือเดินทางให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ทั้งนี้เพื่อให้การออกหนังสือเดินทางแก่ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นไปอย่างถูกระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง และแนวปฏิบัติที่กระทรวงการต่างกำหนดไว้ การไม่พิจารณาตามข้างต้นจึงอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อราชการได้ ดังนั้นผู้ตรวจการแผ่นดินจึงอาศัยตามมาตรา 32 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2552 ขอให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาดำเนินการทบทวนการออกหนังสือเดินทางของ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยปฏิบัติตามระเบียบของกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ. 2548 และแนวปฏิบัติของกระทรวงการต่างประเทศกรณีการดำเนินการต่อคำร้องกรณีพิเศษ คือให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงไปยังหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อขอคำยืนยันสถานะบุคคลและคดีว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นผู้ขอหนังสือเดินทางเป็นบุคคลเดียวกับที่ออกหมายจับไว้หรือไม่ และยังต้องการตัวมาเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไปหรือไม่ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาทบทวนการออกหนังสือเดินทางตามคำขอของ พ.ต.ท.ทักษิณต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น