โฆษกผู้ตรวจการแผ่นดิน เผยกระทรวงต่างประเทศใช้ข้อมูลเก่าพิจารณาคืนพาสปอร์ตให้ “ทักษิณ” ชี้เป็นจำเลยในคดีอาญา มีหมายจับแล้ว ศาลสั่งห้ามออกนอกประเทศ แต่กลับอ้างว่าไม่เข้าข่าย ถือว่าทำไม่ถูกต้อง ราชการเสียหาย จี้ทบทวนโดยปฏิบัติตามระเบียบ ใน 30 วัน อีกด้านสรุป รมว.กลาโหม ไม่ละเลยปฏิบัติหน้าที่สอบ “อภิสิทธิ์” หนีทหาร ชี้เรื่องอยู่ที่กฤษฎีกา
วันนี้ (13 ก.ย.) นายสมศักดิ์ โกศัยสุข หัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ ได้เดินทางมาสอบถามผลการวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน รวมถึงระยะเวลาในการติดตามดำเนินการหลังจากที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีคำวินิจฉัย ในเรื่องที่ได้ยื่นคำร้องขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีที่นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ และข้าราชการประจำกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกันคืนหนังสือเดินทางให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง หลังรัฐบาลนี้เข้าบริหารประเทศ โดยกล่าวว่า ทางผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าการที่กระทรวงการต่างประเทศคืนหนังสือเดินทางให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณนั้นไม่ถูกต้อง เพราะไม่เป็นไปตามระเบียบกระทรวงการต่างประเทศ ว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ. 2548 และมีข้อเสนอแนะไปยังกระทรวงการต่างประเทศ ให้มีการทบทวนการออกหนังสือเดินทางดังกล่าว โดยให้ปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงการต่างประเทศ และแนวทางวิธีปฏิบัติของกระทรวงการต่างประเทศที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ซึ่งตนก็อยากจะทราบว่าหากกระทรวงต่างประเทศไม่ดำเนินการทบทวน ผู้ตรวจการแผ่นดินมีขั้นตอนดำเนินการ รวมถึงระยะเวลาที่ให้หน่วยงานดำเนินการเป็นอย่างไร
“กรณีนี้มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องแน่นอน เพราะก่อนหน้านี้ในสมัยที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลเคยมีการเรียกคืนมาแล้ว แต่มาการเมืองยุคนี้ก็มีการคืนให้ จึงเห็นได้ว่าอำนาจการเมืองมีมากสามารถทำให้ข้าราชการปฏิบัติตามทั้งที่ไม่ถูกต้อง และหากผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการตามที่แจ้งไว้ในหนังสือตอบกลับ อาจจะมีการดึงเรื่องให้ล่าช้า จึงหวังว่าการฟ้องศาลปกครอง ไม่ว่าศาลจะมีคำพิพากษาออกมาอย่างไรก็จะเป็นที่ยุติที่ทุกฝ่ายยอมรับ” นายสมศักดิ์กล่าว
ด้าน นายรักษเกชา แฉ่ฉาย โฆษกสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า การตรวจสอบเรื่องนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินพยายามที่จะให้ได้ข้อเท็จจริงมากที่สุด มีการพูดคุยและส่งหนังสือตอบกันไปมาหลายครั้งระหว่างผู้ตรวจฯ กับกระทรวงการต่างประเทศ ที่ยืนยันว่าการคืนหนังสือเดินทางให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่ทางผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่า ข้อมูลที่กระทรวงการต่างประเทศใช้เป็นฐานในการคืนหนังสือเดินทางให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นข้อมูลเก่า ซึ่งปัจจุบันในส่วนของ พ.ต.ท.ทักษิณมีข้อมูลใหม่แล้ว จึงมีความเห็นให้กระทรวงการต่างประเทศทบทวนเรื่องการคืนหนังสือเดินทางให้ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยให้ปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงต่างประเทศอย่างเคร่งครัด ส่วนในเรื่องระยะเวลาการให้หน่วยงานปฎิบัตินั้น โดยปกติในเรื่องทั่วไปผู้ตรวจการแผ่นดินจะให้ระยะเวลาหน่วยงานดำเนินการประมาณ 30 วัน หากไม่ดำเนินการกฎหมายได้กำหนดขั้นตอนปฎิบัติไว้เป็นลำดับ คือให้รายงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายกรัฐมนตรี และรัฐสภา
ทั้งนี้ หนังสือแจ้งผลการวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินที่มีถึงนายสมศักดิ์ ระบุว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาข้อเท็จจริงและกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า หนังสือเดินทางเป็นเอกสารราชการซึ่งบุคคลสัญชาติไทยใช้ในการเดินทางในต่างประเทศ และอยู่ในความรับผิดชอบของพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการต่างประเทศ ว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ. 2548 เป็นผู้มีอำนาจในการพิจารณาออกหนังสือเดินทางให้แก่ผู้ร้องขอ และพนักงานเจ้าหน้าที่สามารถที่จะปฏิเสธ หรือยับยั้งคำขอหนังสือเดินทาง หรือยกเลิกและเรียกคืนหนังสือเดินทางได้ หากปรากฎข้อเท็จจริงว่าผู้ร้องขอเป็นบุคคลที่ไม่อาจออกหนังสือเดินทางให้ได้ตามข้อ 21 (2) (3) และ (4) แห่งระเบียบกระทรวงการต่างประเทศ ว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ. 2548 และตามแนวทางปฏิบัติของกระทรวงการต่างประเทศ กำหนดให้กรมการกงสุลปฏิเสธรับคำขอหนังสือเดินทาง เมื่อตรวจสอบพบว่า ผู้ร้องขอหนังสือเดินทางเป็นบุคคลเดียวกันกับรายชื่อในบัญชีต้องห้ามเดินทางออกนอกประเทศ ตามฐานข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศ และหากผู้ร้องขอหนังสือเดินทางโต้แย้ง กรมการกงสุลจะมีหนังสือสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอคำยืนยันสถานะบุคคลและผลคดี
ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นจำเลยในคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ออกหมายจับไว้แล้ว และเป็นบุคคลที่ศาลมีคำสั่งห้ามไม่ให้ออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล ประกอบกับเป็นบุคคลที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีต้องห้ามเดินทางออกนอกประเทศ ตามฐานข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศที่เป็นหลักสำคัญของการออกหนังสือเดินทาง แต่กระทรวงการต่างประเทศกลับพิจารณาว่ากรณีดังกล่าวไม่เข้าข่ายที่จะใช้ดุลยพินิจยับยั้งการออกหนังสือเดินทางได้ตามข้อ 21 ของระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ. 2548 นั้น จึงเป็นการพิจารณาที่ไม่น่าจะสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่มี และแม้ว่ากระทรวงการต่างประเทศอ้างว่าการออกหนังสือดังกล่าว เป็นการปฏิบัติตามนโยบายของ รมว.การต่างประเทศก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาตามระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ. 2548 แล้ว เห็นว่าระเบียบดังกล่าวไม่ได้กำหนดให้ รมว.การต่างประเทศ มีอำนาจดำเนินการในเรื่องนี้ นโยบายของ รมว.การต่างประเทศดังกล่าวจึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งสำหรับประกอบการพิจารณาตัดสินใจของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการใช้อำนาจออกหนังสือเดินทางให้แก่ผู้ร้องขอเท่านั้น แต่การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องยึดถือปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการต่างประเทศ ว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ. 2548 และแนวทางวิธีปฏิบัติของกระทรวงการต่างประเทศที่กำหนดไว้เป็นสำคัญ
จากข้อเท็จจริงดังกล่าว พิจารณาแล้วเห็นว่าการที่กระทรวงการต่างประเทศไม่ยับยั้งคำขอหนังสือเดินทางของ พ.ต.ท.ทักษิณ ไว้เสียก่อน เพื่อดำเนินการตรวจสอบประวัติหรือพฤติการณ์ของบุคคลดังกล่าวไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอคำยืนยันสถานะบุคคลและคดี ซึ่งเป็นวิธีการสำคัญเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงสำหรับประกอบการพิจารณาออกหนังสือเดินทางให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ทั้งนี้เพื่อให้การออกหนังสือเดินทางแก่ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นไปอย่างถูกระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง และแนวปฏิบัติที่กระทรวงการต่างกำหนดไว้ การไม่พิจารณาตามข้างต้นจึงอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อราชการได้ ดังนั้นผู้ตรวจการแผ่นดินจึงอาศัยตามมาตรา 32 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 ขอให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาดำเนินการทบทวนการออกหนังสือเดินทางของ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยปฏิบัติตามระเบียบของกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ. 2548 และแนวปฏิบัติของกระทรวงการต่างประเทศที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัดต่อไป
อีกด้านหนึ่ง นายรักษเกชายังเปิดเผยว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณากรณีที่นายกมล บันไดเพชร สมาชิกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ตรวจสอบ รมว.กลาโหม ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ไม่ตรวจสอบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ใช้เอกสารเท็จเข้ารับราชการทหารให้นายกมลทราบแล้ว โดยผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติว่า รมว.กลาโหมไม่ได้ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ในกรณีดังกล่าว เนื่องจากในการตรวจสอบพบว่า รมว.กลาโหมมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบเพิ่มเติม โดยไปสอบบุคคลต่างๆ และให้กรมพระธรรมนูญสอบถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าหากพบว่าการเข้ารับราชการทหารของนายอภิสิทธิ์ไม่ถูกต้อง กระทรวงกลาโหมจะสามารถถอดยศ เรียกคืนเบี้ยหวัดได้หรือไม่ ซึ่งในส่วนนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินก็ได้แจ้งไปในหนังสือด้วยว่า หากผลวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นอย่างไรก็ขอให้แจ้งให้ผู้ตรวจการแผ่นดินทราบด้วย