xs
xsm
sm
md
lg

อุกฤษเดินเกมคู่นปช. ชงส.ส.-ส.ว.ดันกม.นิรโทษเข้าสภา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ ( 24 ม.ค.) นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ(คอ.นธ.) ได้จัดทำข้อเสนอไปยังหน่วยงาน และองค์กรของรัฐ เพื่อให้สังคมไทยกลับสู่ความสงบเรียบร้อย มีความสามัคคี ให้ประเทศมีความมั่นคงและเข้มแข็งอย่างยั่งยืน โดย
1. ศาลยุติธรรม ถือเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองสิทธิและเสรภาพของประชาชน จึงควรพิจารณาและทบทวนแนวทางในการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับกทารปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา โดยเฉพาะการใช้ดุลยพินิจ เพื่อปล่อยปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดในทางการเมือง ควรใช้กรอบของหลักของเมตตาธรรม
2. การที่ประชาชนได้กระทำผิดในการชุมนุมทางการเมือง หรือแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่ 19 ก.ย.49-10 พ.ค.54 ล้วนแต่เป็นผู้ที่มีความสุจริตทางการเมือง และแสดงออกตามสิทธิในฐานะประชาชน รวมทั้งเป็นการต่อสู้ เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย หรือการเลือกตั้งส.ส. ตามวิถีทางระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นจึงเป็นความรับผิดชอบของ ส.ส.และส.ว. ที่จะต้องดำเนินการตรากฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อสร้างความสามัคคี และความสมานฉัทน์ของคนในชาติ และเพื่อเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยเร็ว
ทั้งนี้ขอบเขตการนิรโทษกรรมต้องไม่รวมถึงผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง ในห้วงเวลาดังกล่าว และไม่รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่่ยวข้องกับการใช้อำนาจตามกฎหมาย ในการรักษาความสงบ หรือยุติเหตุการณ์
สำหรับร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมทางการเมืองของประชาชน ระหว่างวันที่ 19 ก.ย.49 – 30 พ.ค.54 ด้วย พ.ศ....ซึ่งมีทั้งหมด 6 มาตรา โดยมีสาระสำคัญที่
มาตรา 3 "ระบุว่าให้การทำใดๆ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการฝ่าฝืนที่ห้ามการชุมนุม การกล่าววาจา หรือโฆษณาด้วยวิธีการใด เพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือการประท้วงด้วยวิธีการใดๆ อันเป็นการกระทบต่อร่างกายหรือทรัพย์สินของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องจากการชุมนุม หรือการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย.49 – 10 พ.ค.54 ไม่เป็นความผิดต่อไป และให้ผู้กระทำการนั้น พ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง
การกระทำในวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการกระทำใดๆ ของบรรดาผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงเวลาดังกล่าว และไม่รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจตามกฎหมายในการรักษาความสงบหรือยุติเหตุการณ์นั้น"
ด้านนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 กล่าวว่า การเสนอร่างกฎหมาย ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญกำหนด โดยต้องให้ประชาชนเข้าชื่อ 15,000 คน เพื่อเสนอกฎหมาย หรือให้รัฐบาล หรือให้ ส.ส.และส.ว. เข้าชื่อเสนอ ซึ่งของนายอุกฤษ เป็นส่วนภาคประชาชน เมื่อจะเสนอก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ภาคส่วนต่างๆ ในสังคมยังวิตกกังวลว่าการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม จะทำเพื่อประโยชน์ของบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือไม่ ดังนั้นต้องพิจารณาดูหลักการเหตุผลมากกว่าใช้ความรู้สึก แต่หากสังคมยังแบ่งฝ่ายเรื่องนี้ก็ยากจะสำเร็จได้
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มนปช.เรียกร้องให้รัฐบาล ออกพ.ร.ก.นิรโทษกรรม สำหรับผู้ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี 50-54 ซึ่งอาจจะเชื่อมโยงกับการแก้ไขรธน. ว่า ไม่เกี่ยวกัน การตราพ.ร.ก.ไม่ว่าจะเป็นพ.ร.ก.ใดก็ตาม ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรธน. แยกกันเด็ดขาดได้
ส่วนที่กลุ่มนปช. จะยื่นหนังสือให้นายกฯในวันที่ 29 ม.ค.นี้ เพื่อให้ออกพ.ร.ก.นั้น ก็คงต้องดูข้อเสนอว่ามีเหตุผลอย่างไร หรืออ้างเหตุผลอะไร เข้าเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้คงไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเสื้อแดง กับรัฐบาล ขอดูเหตุผลก่อน ว่าอ้างเหตุผลอะไร เข้าเงื่อนไขหรือไม่ ถ้าเข้าเงื่อนไข ควรจะดำเนินการอย่างไรซึ่งรัฐบาลพูดกับคนเสื้อแดงตรงไปตรงมาอยู่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น