xs
xsm
sm
md
lg

คอ.นธ.ฝันสังคมสงบ จี้ ส.ส.-ส.ว.ออก กม.นิรโทษฯ ปชช.คดีการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อุกฤษ มงคลนาวิน ประธานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ(แฟ้มภาพ)
“อุกฤษ” ชงข้อเสนอรัฐ อ้างเพื่อความสงบ ประเทศมั่นคง ขอศาลยุติธรรมปล่อยตัวนักโทษคดีการเมือง ยึดหลักเมตตาตัดสิน อ้างสำนึกผู้ทรงเกียรติ บี้ออก กม.นิรโทษฯ ช่วยต่อ ยันไม่รวมผู้สั่งการ “เจริญ” แนะยื่นตามกฎ แย้มเหมาะสม แต่ต้องถกก่อน

วันนี้ (24 ม.ค.) นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ได้จัดทำข้อเสนอไปยังหน่วยงานและองค์กรของรัฐเพื่อให้สังคมไทยกลับสู่ความสงบเรียบร้อย มีความสามัคคี ให้ประเทศมีความมั่นคงและเข้มแข็งอย่างยั่งยืน โดย 1. ศาลยุติธรรม ถือเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน จึงควรพิจารณาและทบทวนแนวทางในการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา หรือจำเลยในคดีอาญา โดยเฉพาะการใช้ดุลพินิจเพื่อปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา หรือจำเลยที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดในทางการเมือง ควรใช้กรอบของหลักของเมตตาธรรม

และ 2. การที่ประชาชนได้กระทำผิดในการชุมนุมทางการเมือง หรือแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่ 19 กันยายน 2549-10 พฤษภาคม 2554 ล้วนแต่เป็นผู้ที่มีความสุจริตทางการเมือง และแสดงออกตามสิทธิในฐานะประชาชน รวมทั้งเป็นการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย หรือการเลือกตั้ง ส.ส.ตามวิถีทางระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นจึงเป็นความรับผิดชอบของ ส.ส.และ ส.ว.ที่จะต้องดำเนินการตรากฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อสร้างความสามัคคีและความสมานฉัทน์ของคนในชาติ และเพื่อเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยเร็ว ทั้งนี้ ขอบเขตการนิรโทษกรรมต้องไม่รวมถึงผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง ในห้วงเวลาดังกล่าว และไม่รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่่ยวข้องกับการใช้อำนาจตามกฎหมาย ในการรักษาความสงบ หรือยุติเหตุการณ์

สำหรับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมทางการเมืองของประชาชน ระหว่างวันที่ 19 กันยายน 2549 - 30 พฤษภาคม 2554 ด้วย พ.ศ.... ซึ่งมีทั้งหมด 6 มาตรา โดยมีสาระสำคัญที่ มาตรา 3 “ระบุว่าให้การทำใดๆ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการฝ่าฝืนที่ห้ามการชุมนุม การกล่าววาจา หรือโฆษณาด้วยวิธีการใด เพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือการประท้วงด้วยวิธีการใดๆ อันเป็นการกระทบต่อร่างกายหรือทรัพย์สินของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องจากการชุมนุม หรือการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 - 10 พฤษภาคม 2554 ไม่เป็นความผิดต่อไป และให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง การกระทำในวรรคหนึ่งไม่รวมถึงการกระทำใดๆ ของบรรดาผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจหรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงเวลาดังกล่าว และไม่รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจตามกฎหมายในการรักษาความสงบหรือยุติเหตุการณ์นั้น”

ด้านนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 กล่าวว่า ยังไม่เห็นร่างกฎหมายฉบับนี้ ว่าจะมีใครเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ซึ่งการเสนอร่างกฎหมายต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญกำหนด โดยต้องให้ประชาชนเข้าชื่อ 15,000 คนเพื่อเสนอกฎหมาย หรือให้รัฐบาล หรือให้ ส.ส.และ ส.ว.เข้าชื่อเสนอ ซึ่งของนายอุกฤษเป็นส่วนภาคประชาชน เมื่อจะเสนอก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เมื่อถามว่าช่วงเวลานี้เหมาะสมที่จะพูดถึงการนิรโทษกรรมหรือไม่ นายเจริญกล่าวว่า หากสังคมร่วมพิจารณาว่าเป็นทางออกและแนวทางที่จะไปสู่การพัฒนาประเทศ ถือว่ามีความเหมาะสม แต่ขณะนี้ภาคส่วนต่างๆ ในสังคมยังวิตกกังวลว่าการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมจะทำเพื่อประโยชน์ของบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือไม่ ดังนั้นต้องพิจารณาดูหลักการเหตุผลมากกว่าใช้ความรู้สึก แต่หากสังคมยังแบ่งฝ่ายเรื่องนี้ก็จะสำเร็จได้


กำลังโหลดความคิดเห็น