xs
xsm
sm
md
lg

กกต.ชี้ทำโพลอ้างหลักวิชาการ แต่เจตนาชี้นำก็เข้าข่ายผิดกม.เลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมชัย จึงประเสริฐ (แฟ้มภาพ)
"สมชัย จึงประเสริฐ" ระบุการทำและเผยแพร่โพลแม้อ้างหลักวิชาการ แต่มีเจตนาชี้นำก็เข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้ง มีโทษติกคุก ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง พรรคถูกยุบ รับกกต. ไม่มีขีดความสามารถดูแลหาเสียงใส่ร้ายผ่านมีเดีย-โซเชียลเน็ตเวริ์ค

นายสมชัย จึงประเสริฐ กกต. ด้านสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย กล่าวถึงการทำและเผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ของสำนักโพลต่างๆ ที่ถูกมองเป็นการชี้นำว่า ส่วนตัวเห็นว่าแม้กฎหมายและประกาศ กกต. จะไม่ได้ห้ามทำหรือเผยแพร่โพล และรัฐธรรมนูญให้สิทธิบุคคลในการแสดงความคิดเห็นทั้งในเรื่องของการพิมพ์ การพูด ซึ่งการทำโพลก็เข้าลักษณะเดียวกัน หากเป็นการทำตามหลักวิชาการ ก็ถือว่าไม่ผิดกฎหมาย แต่ถ้าทำโดยอ้างหลักวิชาการ และมีเจตนาที่จะเป็นการชี้นำ หรือรับจ้างมาทำเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้กับผู้สมัครหรืองดเว้นการลงคะแนนให้กับผู้สมัครรายใด ก็ถือว่าเป็นการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง มาตรา 57(5) พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งถ้ามีการร้อง กกต. ต้องมีการสืบสวนสอบสวน และหากพบว่าผิดจริงตามที่ร้อง ก็จะมีโทษตามมาตรา 131 ของ พ.ร.บ.เดียวกัน ที่ระบุว่า จำคุก 1 - 5 ปี และปรับ 20,000 - 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี

ผู้สื่อข่าวถามว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 11 ร้องว่า สวนดุสิตโพล รับงานหน่วยงานรัฐ ทำโครงการอื่น จึงน่าเชื่อว่าผลโพลที่ออกมา น่าจะมีการรับจ้างทำและเผยแพร่ นายสมชัย กล่าวว่า ตรงนี้ถ้ามีการร้อง กกต.ก็จะตรวจสอบ ซึ่งกฎหมายเขียนไว้ในลักษณะกว้างว่า การจ้างนั้นเป็นการกระทำโดยตรงหรืออ้อมหรือแอบแฝง อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา กกต. เคยได้รับการร้องเรียน กรณีมีการเผยแพร่ผลโพลว่าเป็นการชี้นำ แต่เมื่อสอบไปแล้ว พบว่า ผู้ทำอ้างทำตามหลักวิชาการและไม่สามารถโยงถึงผู้สมัครได้ จึงต้องยกคำร้อง ซึ่งในกรณีนี้ทราบว่ามีการร้องว่ามีการรับจ้างทำ ถ้าสอบแล้วพบว่าเป็นเช่นนั้นคือทำทำโดยมีเจตนาชี้นำ แต่อ้างหลักวิชาการ ผู้ทำก็จะผิดตาม มาตรา 57(5) มีโทษทางอาญา และหากโยงไปถึงพรรคการเมืองหรือผู้สมัครรู้เห็น จะมีสิทธิถูกใบเหลือง ใบแดง และถูกยุบพรรคได้

นายสมชัย กล่าวอีกว่า การหาเสียงขณะนี้เป็นไปอย่างเข้มข้น ผู้สมัครใช้ยุทธวิธีทุกรูปแบบ แต่ กกต. ยังไม่มีขีดความสามารถเข้าไปดูแล ก็คือการหาเสียงผ่านมีเดียต่างๆ และการโพสข้อความใส่ร้ายผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ด โดยในอดีตที่ผ่านมา ก็เคยมีการร้องเรียน แต่เมื่อ กกต. พิจารณาแล้วก็ยกคำร้อง เพราะในการสอบสวนไม่สามารถหาหลักฐานโยงไปถึงตัวผู้สมัครว่ามีส่วนเกี่ยวข้องได้ แต่ทางลึกๆ แล้ว ทุกฝ่ายก็รู้ว่าสื่อเหล่านี้ใครก็เป็นเจ้าของ


กำลังโหลดความคิดเห็น