xs
xsm
sm
md
lg

คำถามถึง “อภิรัชต์ ลูกบิ๊กจ๊อด” ใครกันแน่ที่ ถ่อย-สถุล?!?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ต.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 11 (ซ้าย) และ ภาพเมื่อครั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พินอบพิเทากับ “บิ๊กจ๊อด” พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ อดีตประธาน รสช.บิดา พล.ต.อภิรัชต์ เพื่อขอสัมปทานดาวเทียมในปี 2534
ASTVผู้จัดการ - เปิดปูม “อภิรัชต์ คงสมพงษ์” ลูกชายนายพลเสื้อคับผู้เป็นที่มาของวลีอมตะ “ไม่มีจ๊อด ไม่มีไทยคม” กับคำถามและหลักฐานทางประวัติศาสตร์เพื่อเตือนความทรงจำ ตั้งแต่รัฐประหาร 2534 ถึง 2549 จนถึงมรดกพันล้านของพ่อจ๊อด กับความเข้าใจผิดกรณีลอบฆ่าสนธิปี 52 เพื่อตอบคำถามที่ว่า ใครกันแน่ที่ “ถ่อย-สถุล”?

ต่อเนื่องจากกรณีที่วานนี้ (11 ม.ค.) พล.ต.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 11 (ผบ.พล.ร.11) กล่าวถึงกรณีที่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการเขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.และส่งผลให้กำลังพลในกองทัพบกไม่พอใจว่า เรื่องนี้ นสพ.ผู้จัดการควรจะหยุดการหมิ่นผู้บังคับบัญชาหรือ ผบ.ทบ.ได้แล้ว

“พวกเราทนไม่ได้ โดยเฉพาะผมที่เป็นทหารอาชีพ เมื่อผู้บังคับบัญชาถูกดูหมิ่นศักดิ์ศรี เราก็ต้องออกมาปกป้อง ซึ่งไม่ใช่การปกป้อง พล.อ.ประยุทธ์คนเดียว แต่เป็นการปกป้องผู้บัญชาการทหารบก เนื่องจากเราเป็นองค์ที่ดูแลความมั่นคงของชาติ หากถูกดูหมิ่นในเกียรติและศักดิ์ศรีต่อไปก็จะไม่เหลืออะไร ดังนั้น ผมถือว่าผู้จัดการเป็นหนังสือพิมพ์ที่ถ่อยสถุล ไม่ควรจะซื้ออ่าน และต้องใช้วิจารณญาณในการอ่าน

นอกจากนี้ พล.ต.อภิรัชต์ยังกล่าวด้วยว่า นสพ.ผู้จัดการเป็นปฏิปักษ์กับทหารหลังจากเกิดคดีลอบสังหาร ซึ่งอาจจะเป็นเพราะความเข้าใจผิด เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นก็มักจะโทษทหารไว้ก่อน แต่มาตอนนี้โกรธทหารเพราะต้องการใช้ทหารเป็นเครื่องมือ แต่ทหารเราไม่เอาด้วย เพราะกองทัพจะต้องกลไกของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใดก็ตามที่มาถูกต้องตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม การออกมาแสดงความรู้สึกในครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรกเพราะที่มาก็เคยปกป้อง ผบ.ทบ.ในอดีตมาแล้วไม่ว่าใครจะเป็น ผบ.ทบ.ก็ถือว่าเราต้องปกป้องเพื่อศักดิ์ศรีของกองทัพ

“พล.อ.ประยุทธ์ไม่รู้เรื่องในเรื่องนี้ ผมออกมาพูดส่วนตัว ซึ่งเชื่อว่ามีทหารในกองทัพบกอีกจำนวนไม่น้อยที่มีความรู้สึกเช่นนี้ แต่ใครจะมาเคลื่อนไหวหรือไม่อย่างไรเป็นสิทธิ์ของแต่ละหน่วย ผมไม่ได้ส่งสัญญาณใดๆ ทั้งสิ้น และผมไม่แคร์ว่าจะถูกโจมตีแค่ไหน เพราะที่ผ่านมาผมก็ถูกโจมตีมาไม่รู้เท่าไหร่แล้ว ฉะนั้นผมไม่มีอะไรจะเสีย แต่เพื่อเป็นการปกป้อง ผบ.ทบ. ปกป้องกองทัพบกผมจึงต้องออกมาแดสงความรู้สึกในครั้งนี้ และผมไม่ได้หวังตำแหน่งหรืออยากดัง เพราะผมอยู่ในตำแหน่ง ผบ.พล.ร.11 อยู่แล้ว ส่วนกรณีที่กำลังพลของกองทัพภาคที่ 1 ออกมาบุกสำนักงานหนังสือพิมพ์ผู้จัดการนั้น ก็ไม่เกี่ยวกับผม เพราะผมไม่ได้อยู่กองทัพภาคที่ 1 แต่เพราะทหารคงมีความรู้สึกเช่นเดียวกันที่ต้องปกป้องผู้บังคับบัญชา” พล.ต.อภิรัชต์กล่าว

เปิดปูม “ลูกแดง” โยงถึง “พ่อจ๊อด”

สำหรับ พล.ต.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ หรือ “ผู้การแดง” เป็นบุตรชายของคนโตของ “บิ๊กจ๊อด” พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ เจ้าของฉายานายพลเสื้อคับ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด และหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) กับ พ.อ.หญิง คุณหญิงอรชร คงสมพงษ์ โดยต่อมา พล.อ.สุนทร และภรรยาได้แยกทางกันเมื่อ พ.ศ. 2533 โดย พล.อ.สุนทร ได้ใช้ชีวิตร่วมกับนางอัมพาพันธ์ ธเนศเดชสุนทร (อรุณเมือง, คงสมพงษ์, คงทรนง)

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ขณะที่ พล.อ.สุนทร ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด คณะนายทหารนำโดย พล.อ.สุจินดา คราประยูร พล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี และ พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ โดยคณะทหารได้แต่งตั้ง พล.อ.สุนทร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งเป็นนายทหารที่อาวุโสสูงสุด เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.)

การปฏิวัติรัฐประหารในปี 2534 ของ รสช. ที่มี พล.อ.สุนทรเป็นหัวหน้า ในเวลาต่อมาได้นำไปสู่ “เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ” ในปีถัดมา โดยภาคประชาชนได้ดำเนินการเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาลที่มี พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี และต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ในช่วงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 โดยจากการใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามของทหารภายใต้การสั่งการของ พล.อ.สุจินดา ทำให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บ พิการ และเสียชีวิตไปจำนวนมาก

จากเหตุการณ์ปฏิวัติของ รสช.ในปี 2534 โดยการนำของบิดาของ พล.ต.อภิรัชต์ รวมถึงรัฐประหารปี 2549 โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ที่มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.ในขณะนั้นเป็นหัวหน้าคณะ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในขณะนั้นมียศเป็น “พลตรี” ก็เป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการยึดอำนาจด้วย เป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นได้ชัดว่า คำพูดของ พล.ต.อภิรัชต์ วานนี้ที่ระบุว่า “กองทัพจะต้องกลไกของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใดก็ตามที่มาถูกต้องตามกฎหมาย นั้นเป็นเพียงข้ออ้างชั้นเลว และถือเป็นคำพูดของคนที่ลืมพฤติกรรมและการกระทำของพวกตัวเอง

“บิ๊กจ๊อด-ทักษิณ” กับสัมปทานและมรดกพันล้าน

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อสืบค้นประวัติของบิดา พล.ต.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ยิ่งเห็นได้ชัดว่า มีความเกี่ยวพันกับนักการเมืองที่มีประวัติการคอร์รัปชัน-ฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนักโทษผู้หลบหนีคำพิพากษาจำคุก 2 ปีจากศาลฎีกา พี่ชายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน แล้วจิ๊กซอว์ของความสัมพันธ์ระหว่างลูกบิ๊กจ๊อดกับระบอบทักษิณก็ยิ่งเด่นชัดขึ้น

ไม่กี่ปีก่อน เปลว สีเงิน คอลัมนิสต์แห่งหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ เคยเขียนบทความเปิดโปงว่า ในวันที่ส่งดาวเทียมไทยคมขึ้นสู่อวกาศที่เฟรนช์เกียนา เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2536 พ.ต.ท.ทักษิณได้เอ่ยคำพูดหนึ่งถึง พล.อ.สุนทรว่า “ถ้าไม่มีพี่ชายผมคนนี้ ก็ไม่มีวันนี้”

ซึ่งเมื่อสืบค้นข้อมูลย้อนหลังไปก็จะเห็นได้ชัดว่า โครงการดาวเทียมสื่อสารเริ่มมาแต่ปี 2526 และเริ่มดำเนินการในปี 2528 โดยมีบริษัทเอกชนเสนอตัวมาหลายราย แต่ไม่สามารถทำข้อตกลงให้เป็นที่พอใจทั้ง 2 ฝ่าย กระทั่งปี 2533 จึงมีการประกาศเชิญชวนอีกครั้ง ผลปรากฏว่าบริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์แอนด์คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด ของ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ได้ชัยชนะเหนือคู่แข่ง โดยมีการลงนามในสัญญาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2534 ในยุคที่ รสช. ที่มี พล.อ.สุนทร นั่งเป็นประธาน รสช. กุมอำนาจรัฐ หลังก่อการรัฐประหารรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณได้ไม่ถึง 7 เดือน

ความสัมพันธ์เชิงผลประโยชน์ระหว่าง พล.อ.สุนทร บิดา พล.ต.อภิรัชต์ กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกยืนยันด้วยภาพถ่ายจำนวนมากที่ปรากฏภาพ พ.ต.ท.ทักษิณ ยืนกุมไข่พินอบพิเทากับ พล.อ.สุนทร ประธาน รสช. กับคณะนายทหารที่กระทำรัฐประหารในปี 2534 พร้อมกับประโยคอมตะที่ว่า “ไม่มีจ๊อด ไม่มีไทยคม” ไม่นับรวมถึงภาพการกระซิบกระซาบอย่างเป็นเองระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณกับ “ยุ้ย” อัมพาพันธ์ ธเนศเดชสุนทร ภรรยาของ พล.อ.สุนทร โดยมี พล.อ.สุนทรยืนอยู่ข้างๆ





ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ และ พล.อ.สุนทร เกษียณอายุราชการ พล.อ.สุนทร พร้อม “คุณยุ้ย” อัมพาพันธ์ ที่เดิมทีมีอาชีพเป็นพยาบาล ก็ผันตัวไปดำเนินธุรกิจ เช่น การทำเหมืองหินและทำน้ำแร่ที่ จ.ตาก และย้ายถิ่นฐานไปเปิดร้านอาหารที่ประเทศฝรั่งเศส โดยไม่มีใครทราบว่าจริงๆ แล้ว อดีตนายทหารเกษียณอายุ กับเมียใหม่ที่เดิมมีอาชีพเป็นนางพยาบาลนำทรัพย์สินเงินทองและลงทุนจำนวนมหาศาลมาจากไหน?!?

ทว่า ฟ้าดูเหมือนจะมีตา ธุรกิจของ พล.อ.สุนทรและคุณยุ้ยกลับถูกโกงจนต้องขายกิจการทิ้งไป และทั้งคู่ก็เดินทางกลับเมืองไทยมาใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านย่านถนนสุขุมวิท และที่คุ้มพาเจริญ จ.ตาก จนกระทั่ง พล.อ.สุนทรเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดในปี 2542

หลัง พล.อ.สุนทรเสียชีวิตได้ไม่กี่ปี ในปี 2545 มรดกพันล้านของบิ๊กจ๊อดกลายเป็นข่าวครึกโครมในแวดวงสังคมอีกครั้ง เมื่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำสั่งในคดีที่ นางอัมพาพันธ์ หรือยุ้ย ธเนศเดชสุนทร และ พล.อ.สมโภชน์ สุนทรมณี ผู้ร้องที่ 1 และ 2 ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้เป็น ผู้จัดการมรดกของ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ อดีตประธานคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. และอดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด โดยมี พ.อ.หญิงคุณหญิงอรชร คงสมพงษ์ ภรรยากับบุตรชาย 2 คน คือ พ.ท.อภิรัชต์ (ปัจจุบันคือ พล.ต.อภิรัชต์) และ พ.ต.ณัฐพร คงสมพงษ์ เป็นผู้คัดค้านที่ 1-3 โดยในที่สุดทั้งสองฝ่ายก็สามารถประนีประนอมยอมความกันได้ โดยนางอัมพาพันธ์ได้เซ็นเช็คสั่งจ่ายเงินจำนวน 21 ล้านบาท ให้ พ.อ.หญิง คุณหญิงอรชร (อ่านข่าว : ปริศนามรดก “บิ๊กจ๊อด” 20 พ.ย. 2548)


ภาพล่าสุดของ “ยุ้ย” อัมพาพันธ์ ธเนศเดชสุนทร ภรรยาคนสุดท้ายของ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ อดีตผู้บัญชาการ ทหารสูงสุด และอดีตประธาน รสช. (จากนิตยสาร Who)

ขณะที่ในส่วนของปมปริศนาในกองมรดก “บิ๊กจ๊อด” วุฒิสภาก็ได้ตั้งคณะกรรมาธิการฯ ขึ้นมาตรวจสอบทรัพย์สินของ พล.อ.สุนทร และใช้เวลาในการตรวจสอบนานกว่า 3 ปี จนเมื่อวันที่ 4 พ.ค. 48 มีการประชุมวุฒิสภา เพื่อรับทราบรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ติดตามการดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินของ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ อดีตประธาน รสช. โดยนายทองใบ ทองเปาด์ ส.ว.มหาสารคาม ประธานคณะกรรมาธิการฯ เป็นผู้รายงาน โดยผลการตรวจสอบตอนหนึ่งชี้ให้เห็นชัดว่า บัญชีของ พล.อ.สุนทรและนางอัมพาพันธ์มีเงินไหลเข้าออกจำนวนหลายพันล้านบาท นอกจากนี้ยังตรวจสอบพบบัญชีของ พล.อ.สุนทร ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ มีเงินฝาก 60 ล้านบาท ขณะที่นางอัมพาพันธ์ก็ไม่สามารถชี้แจงแหล่งที่มาของเงินจำนวนมากได้!

หลักฐานชัด ทหารลอบยิง “สนธิ” ปี 52

ส่วนกรณีคำให้สัมภาษณ์ของ พล.ต.อภิรัชต์ ที่ระบุว่า “นสพ.ผู้จัดการเป็นปฏิปักษ์กับทหารหลังจากเกิดคดีลอบสังหาร ซึ่งอาจจะเป็นเพราะความเข้าใจผิด เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นก็มักจะโทษทหารไว้ก่อน แต่มาตอนนี้โกรธทหารเพราะต้องการใช้ทหารเป็นเครื่องมือ” นั้น เมื่อโยงถึงเหตุการณ์ พยานและหลักฐานใน คดีลอบสังหารนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ สื่อในเครือเอเอสทีวี และแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเมื่อเวลา 05.45 น.ของวันที่ 17 เม.ย. 2552 ในย่านในกลางกรุงเทพมหานคร บริเวณสี่แยกบางขุนพรหม ขณะที่กำลังมีการประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. มี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ น้องชายของ พล.อ.ประวิตร สวงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม เป็น ผบ.ตร. แล้วก็จะเห็นได้ชัดว่า พล.ต.อภิรัชต์ต่างหากที่เข้าใจผิด อ่านหนังสือมาน้อย หรือไม่ก็มีแนวโน้มของการเป็นโรคอัลไซเมอร์ขั้นร้ายแรง

เนื่องจาก สำนวนคดีโดย พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ หัวหน้าคณะผู้รับผิดชอบคดี ระบุชัดเจนว่า ทหารในกองทัพบกไทยเป็นผู้ต้องสงสัยดำเนินการลอบสังหารนายสนธิ ลิ้มทองกุล ทั้งยังใช้อาวุธ และกระสุนของทางราชการมาก่อการอีกด้วย

กล่าวคือ พยานหลักฐานกล้องวงจรปิด CCTV บริเวณแยกบางขุนพรหม ซึ่งใช้ได้บางตัว รวมทั้งกล้องวงจรปิดทั้งหมด 206 กล้อง ในวันเกิดเหตุบริเวณแยกต่างๆ ตั้งแต่บริเวณใกล้ทำเนียบรัฐบาล เช่น แยกวังแดง แยกสวนมิสกวัน แยกพระบรมรูปทรงม้า รวมทั้งภาพจากกล้องวงจรปิดจากร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ธนาคาร และทางด่วนทุกจุด โดยที่กล้องวงจรปิดสามารถบันทึกรถที่คนร้ายไว้ได้ โดยภาพทีวีวงจรปิดของปั๊มน้ำมันบางจาก สาขาถนนปิ่นเกล้า-นครชัยศรี ขาเข้า พบรถยนต์กระบะยี่ห้อโตโยต้า รุ่นวีโก้ สีเปลือกมงคุด หมายเลขทะเบียน บธ 1474 ลพบุรี จอดอยู่เวลา 04.46 น. ต่อมาได้ขับออกไป จากนั้นในเวลา 05.44 น. เจ้าหน้าที่พบภาพทีวีวงจรปิดจากปั๊มน้ำมันอีกแห่งหนึ่งในถนนสายเดียวกัน แต่เป็นเส้นขาออกในเวลา 05.44 น. ซึ่งทีมสืบสวนได้จำลองเหตุการณ์ว่ารถยนต์กระบะวีโก้ได้มาจอดรถเวลาที่ปั๊มน้ำมัน ก่อนที่จะเดินทางไปยังจุดเกิดเหตุ โดยที่รถกระบะมาสด้าได้ทำการประกบรถของนายสนธิ มาจากบ้านพัก จากนั้นจึงมาลงมือพร้อมกัน ก่อนที่จะวิ่งประกบตามกันมา เลี้ยวขวาตรงแยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง ก่อนจะขึ้นสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ออกนอกเมืองไปพร้อมกัน ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องแปลกแต่จริง เพราะมีกล้องวงจรปิดถึง 206 ตัว แต่ไม่สามารถตามจับกุมคนร้ายได้แม้แต่รายเดียว

พยานหลักฐานจากอาวุธปืน และกระสุนที่ใช้ก่อเหตุ ประกอบด้วย เอ็ม 16 อาก้า เอชเค เอ็ม 203 โดยกระสุนปลอกกระสุนปืนเอ็ม 16 ขนาด 5.56 มม.จำนวน 3 ปลอก ซึ่ง 2 ใน 3 เป็นกระสุนที่ผลิตโดยกรมสรรพาวุธทหารบก มีการตีตราสัญลักษณ์ RTA = ROYAL THAI ARMY โดยหลักฐานชิ้นนี้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.ในขณะนั้นยอมรับว่า เป็นกระสุนที่มาจากกองพลทหารราบที่ 9 ซึ่งอยู่ในสายงานการบังคับบัญชาของกองทัพภาคที่ 1 แต่เป็นกระสุนที่ใช้ในการฝึกยิงและได้มีการรั่วไหลออกมา แต่หลักฐานอาวุธปืนที่ใช้ก่อเหตุนั้น พล.ต.อ.ธานียอมรับว่า ยังไม่พบ แต่ก็ไม่มีผลต่อการดำเนินคดี เนื่องจากมีพยานแวดล้อมและหลักฐานอื่นอีก

หลักฐานรถยนต์ที่ใช้ก่อเหตุคันแรก รถยนต์กระบะโตโยต้าวีโก้ สีเปลือกมังคุด ทะเบียน บธ 1474 ลพบุรี ซึ่งยืนยันแน่นอนว่าเป็นรถที่คนร้ายนำมาก่อเหตุ นอกจากนั้นยังมีหลักฐานการใช้โทรศัพท์มือถือของกลุ่มคนร้าย ที่พบว่ามีการติดต่อกันในช่วงก่อนเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ รวมทั้งหลักฐานนิติวิทยาศาสตร์ จากการตรวจสอบรถยนต์ของนายสนธิ และสภาพการจำลองวิถีกระสุน รวมทั้งการตรวจลายนิ้วมือแฝง และคราบเขม่าดินปืนจากรถคันที่ใช้ก่อเหตุ


(จากซ้ายไปขวา) ผู้ต้องหาที่ร่วมกันก่อเหตุลอบสังหารนายสนธิเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 52 ประกอบไปด้วย ส.ต.ท.วรวุฒิ มุ่งสันติ หรือนายอรรถพล ปาทาน จนท.ศูนย์ข่าว บช.ปส.ช่วยราชการกรมสอบสวนคดีพิเศษ, จ.ส.อ.ปัญญา หรือห่อ ศรีเหรา ทหารศูนย์สังกัดสงครามพิเศษ จ.ลพบุรี และ ส.อ.สมชาย บุญนาค สังกัดกองร้อยกองบังคับการกรมรบพิเศษที่ 3 ค่ายเอราวัณ จ.ลพบุรี

ส่วนหลักฐานสำคัญ คือ ประจักษ์พยาน 2 คนที่เห็นคนร้ายอย่างชัดเจน และถือเป็นหลักฐานที่ทำให้ พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ ใช้ตัดสินใจในนาทีสุดท้าย โดย พล.ต.อ.ธานี ตอบคำถามผู้สื่อข่าวไว้อย่างน่าคิดในขณะนั้นว่า “เวลาคนธรรมดาลงมือ ตำรวจทำงานไม่ยาก” ก่อนที่จะเสนออนุมัติหมายจับกุมผู้ต้องหาที่ร่วมกันก่อเหตุยิงถล่มนายสนธิ 2 คน ประกอบด้วย ส.ต.ท.วรวุฒิ มุ่งสันติ หรือนายอรรถพล ปาทาน เจ้าหน้าที่ศูนย์ข่าว บช.ปส.ช่วยราชการกรมสอบสวนคดีพิเศษ และ จ.ส.อ.ปัญญา หรือห่อ ศรีเหรา ทหารศูนย์สังกัดสงครามพิเศษ จ.ลพบุรี จากนั้นไม่นานจึงขออนุมัติหมายจับ ส.อ.สมชาย บุญนาค สังกัดกองร้อยกองบังคับการกรมรบพิเศษที่ 3 ค่ายเอราวัณ จ.ลพบุรี รวมผู้ต้องหาในคดีนี้ 3 คน

เมื่อได้อ่านและพิจารณา ข้อมูลข่าวสาร และข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่ทีมข่าว ASTVผู้จัดการ สืบค้นมาข้างต้น พล.ต.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ คงน่าจะตอบได้ว่า แท้จริงแล้ว ใครกันแน่ที่ “ถ่อย-สถุล”? ใครกันแน่ที่ตระบัดสัตย์ ลืมกำพืดและลืมหน้าที่ความรับผิดชอบของตัวเอง? ...... ใครกันระหว่างสื่อธรรมดาๆ อย่างหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ หรือ ทหารยศนายพลคนหนึ่งในกองทัพบกไทย?
พล.ต.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 11 (แฟ้มภาพ)
ข่าวการรัฐประหารโดย รสช.ในปี 2534
แฟ้มภาพ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ สื่อในเครือเอเอสทีวี และแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ถูกลอบสังหารเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2552 โดยมีทหารและอาวุธของกองทัพบกเข้าร่วมปฏิบัติการด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น