ผ่านมาราว 4 ปี เรือเหาะตรวจการณ์ สกาย ดรากอน (SKY DRAGON) มูลค่ากว่า 350 ล้านบาท ของกองทัพบกก็ยังไม่สามารถปฏิบัติงานได้จริงแม้สักครั้ง ตอกย้ำถึงความล้มเหลวของภารกิจตรวจการณ์ทางอากาศ หนึ่งในยุทธการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ท่ามกลางเสียงคัดค้านที่มีให้ได้ยินอย่างต่อเนื่อง เรียกว่าปฎิบัติการนี้ล่มไม่เป็นท่า แถมยิ่งขุดคุ้ย ยิ่งพบปัญหาจนเกิดเสียงวิพากษ์ไปถึงขั้นที่ว่าเกิดการคอรัปชั่นในกองทัพไทย
ข้อครหากรณีเรือเหาะตรวจการณ์ สกาย ดรากอน ไม่ว่าจะเป็นการจัดซื้อ การบำรุงซ่อมแซม หรือการใช้งานจริง เรียกว่าเรือเหาะเจ้ากรรมลำนี้บั่นทอนศรัทธาของประชาชนที่มองวงการทหารไม่น้อย เพราะอย่างที่ผ่านมาทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่สามารถสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับข้อข้องใจเกี่ยวกับยุทโธปกรณ์มูลค่าหลายล้านนี้
ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2552 สมัย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นผู้บัญชาการทหารบก หลังคณะรัฐบาลอนุมัติงบประมาณจัดซื้อด้วยวิธีพิเศษ ด้านกองทัพบกโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ก็ดำเนินการทำสัญญาจัดซื้อระบบเรือเหาะตรวจการณ์ รุ่น Aeros 40D S/N 21 หรือ สกาย ดรากอน (SKY DRAGON) จาก บริษัทเอเรีย อินเตอร์เนชันแนล คูเปอเรชัน (Arial International Cooperation) ซึ่งผลิตโดยบริษัท บริษัท เวิลด์วาย แอร์โรว์ คอร์ป( Worldwide Aeros Corp) ประเทศสหรัฐอเมริกา
แต่ก็เกิดปัญหาทางเทคนิคไม่สามารถใช้งานเรือเหาะปฏิบัติภารกิจได้ กระทั่งปลายปี 2553 เปลี่ยนผ่านเข้าสู่สมัย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้บัญชาการทหารบก ก็สานต่อเจตนารมณ์แต่ก็ยังใช้งานจริงไม่ใช่เช่นเดิม แต่ทางกองทัพบกก็ไม่ยอมแพ้ ล่าสุดทุ่มงบประมาณกว่า 50 ล้านบาท หวังซ่อมแซมให้เรือเหาะ สกาย ดรากอน ผงาดขึ้นน่านฟ้าให้จงได้
ไล่ลำดับเหตุการณ์ เรือเหาะ..
10 มี.ค.52 - คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบอนุมัติงบประมาณจำนวน 350 ล้านบาท จัดหาระบบเรือเหาะตรวจการณ์ เพื่อใช้ในงภารกิจตรวจการณ์ทางอากาศของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) หนึ่งในยุทธการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ งบประมาณ 350 ล้านบาท แบ่งออกเป็นตัวเรือบอลลูนจำนวน 260 ล้านบาท, กล้องส่องกลางวันและกลางคืน จำนวน 70 ล้านบาท และอุปกรณ์สื่อสารภาคพื้นดินอีก 20 ล้านบาท ทั้งหมดรวมเป็นระบบเรือเหาะ 1 ชุด
ในเดือนเดียวกัน หลังถูกหลายฝ่ายวิจารณ์การจัดซื้ออย่างหนัก ทั้งเรื่องประสิทธิภาพการใช้งานและความปลอดภัยซึ่งอาจถูกยิงตกได้ ด้านโฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ก็ออกมาชี้แจงต่อสาธารณะถึงความจำเป็นในการจัดซื้อระบบเรือเหาะตรวจการณ์ พร้อมกล่าวยืนยันว่าเรือเหาะบินได้สูงกว่าระยะยิงภาคพื้นดิน
เม.ษ. 52 - กองทัพบก ดำเนินการทำสัญญาจัดซื้อเรือเหาะจาก บริษัทเอเรีย อินเตอร์เนชันแนล คูเปอเรชัน
ธ.ค. 52 - เรือเหาะ ถูกส่งเข้าประจำการ ภายในโรงจอดหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี กองพลทหารราบที่ 15 อย่างเป็นทางการ ครั้งนี้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างใกล้ชิด
ม.ค. 53 - ฤกษ์งามยามดี กองทัพกำหนดให้เป็นวันเริ่มแรกของการนำเรือเหาะขึ้นปฏิบัติการ แต่กลับประสบปัญหาทางเทคนิคส่งผลให้ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ ในส่วนของการลงนามรับมอบสินค้าจากบริษัทผู้ผลิตก็เลื่อนออกไป
มี.ค. 53 - ทางคณะกรรมการตรวจรับเรือเหาะ กองทัพบก จัดการทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานเรือเหาะเป็นการภายใน โดยไม่อนุญาติให้สื่อมวลชนเข้าทำข่าว ในส่วนผลการทดสอบพบปัญหาหลายประการ ทั้งกล้องและตัวบอลลูน อย่างคุณสมบัติที่ระบุเอาไว้ว่าบินได้สูง3,000 เมตร การทดสอบกลับทำได้เพียง 1,000 เมตร เท่านั้น แน่นอนว่าไม่พ้นระยะยิงจากพื้นดิน
เดือนเดียวกัน ผบ.ทบ. พล.อ.อนุพงษ์ ลงพื้นที่เพื่อร่วมตรวจสอบประสิทธิภาพของระบบเรือเหาะอีกครั้ง หลังประสบปัญหามากมาย แต่ก็ยืนยันว่าระบบรวมยังใช้งานได้ดี
มิ.ย. 53 - รองเจ้ากรมส่งกำลังบำรุงทหารบก แถลงข่าวชี้แจ้งกรณีโครงการจัดซื้อระบบเรือเหาะตรวจการณ์ในทุกประเด็น อย่างเรื่อง ที่เพดานบินที่ทำได้สูง เพียง 1,000 เมตร จากสเปก 3,000 เมตร ก็ได้อธิบายว่าความสูงที่ 3,000 เมตรจะเป็นเฉพาะเรือเหาะเปล่าๆ ที่นี้เมื่อติดกล้อง และมีเจ้าหน้าขึ้นไปเลยบินต่ำลงเป็นเรื่องธรรมดา
ก.ค. 53 - ระบบเรือเหาะทั้งระบบ ถูกลงนามรับมอบโดย คณะกรรมการตรวจรับฯ เป็นที่เรียบร้อย ท่ามกลางคำถามที่ยังคาใจหลายฝ่าย
ส.ค. 53 - เป็นประเด็นร้อนในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่าง พรบ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2554 ส.ส. ฝ่ายค้านอภิปรายโจมตีการจัดซื้อระบบเรือเหาะตรวจการณ์ ทั้งทำสัญญาโดยไม่ผ่านการพิจารณาของสำนักอัยการสูงสุด ทั้งยังเบิกงบฯ ครบตามจำนวนโดยไม่มีการขอให้บริษัทคู่สัญญานำสินค้าตัวอย่างมาให้ทดลองใช้งาน ท้ายที่สุดระบบเรือเหาะก็ไร้ประสิทธิภาพไม่สามารถใช้งานได้
ก.ย. 53 - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นเป็นผบ.ทบ. หลัง พล.อ. อนุพงษ์ เกษียณอายุราชการ
ก.พ. 54 - หลังมีกระแสข่าวการเปลี่ยนผ้าใบที่รั่วซึมจากบริษัทผู้ผลิต ทางกองทัพบกทดลองนำเรือเหาะขึ้นบินเพื่อทดสอบอีกครั้ง
มี.ค. 54 - ตรวจความพร้อมเรือเหาะก่อนใช้งานจริง ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประยุทธ์
ก.ค. 54 - กองทัพบกใช้งบประมาณกว่า 25 ล้านบาท เติมก๊าซฮีเลี่ยมเพื่อให้เรือเหาะไม่เสื่อมสภาพไปกว่าเดิม
ก.พ. 55 - มีการนำเรือเหาะลอยขึ้นทดสอบระบบสัญญาณ หลังปรับแก้ไขอุปกรณ์บางส่วนเสร็จสิ้น ลอยสูงประมาณ 500 เมตร ใช้เวลา 2 ชั่วโมง
ก.ย. 55 - พล.อ.ประยุทธ์ ผลักดันให้เรือเหาะใช้งานได้จริงเสียที ด้านกองทัพบกทำสัญญาว่าจ้าง บริษัท เวิลด์วาย แอร์โรว์ คอร์ป และ บริษัท เอ็มแลนดาร์ช จำกัด เพื่อให้ซ่อมแซมแก้ไขให้เรือเหาะลำนี้ใช้งานได้ ใช้งบประมาณจ้างรวมกว่า 50 ล้าน
ล่วงเวลาไปกว่า 4 ปี ก็ไม่รู้ว่าการดำเนินการแก้ไขในครั้งนี้จะลุล่วงไปด้วยดีหรือไม่
350 ล้านบาท(++) ซื้อยุทโธปกรณ์เพื่อใคร?
อย่างที่แจงแจงไว้ข้างต้น ครั้นถึงเวลาทดสอบการปฏิบัติการครั้งแรกเรือเหาะก็พบปัญหาทางเทคนิค ต่อมาก็ไม่สามารถเหินขึ้นท้องฟ้าได้ดังคุณสมบัติที่ระบุเอาไว้ บินได้สูงเพียง 1,000 เมตร จากสเปก 3,000 เมตร จนเกิดการวิจารณ์ว่าแบบนี้ถ้าเอาไปใช้งานในพื้นที่ชายแดนใต้คงตกเป็นเป้านิ่งแน่นอน งานนี้เลยจอดแน่นิ่งที่ โรงเก็บ จ.ปัตตานี แถมผลาญค่าก๊าซฮีเลี่ยมอีกเดือนละ 2-3 แสนบาท เพื่อคงสภาพกันรั่วเอาไว้
พอเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สมัย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้บัญชาการทหารบก เมื่อปลายปี 2553 ก็มีการเทงบประมาณจัดซ่อมเรือเหาะตรวจการณ์อย่างเรื่อยมา ล่าสุด กองทัพบก ก็ได้ทำสัญญาว่าจ้าง บริษัทต่างชาติเข้ามาซ่อมแซมแก้ไขให้เรือเหาะลำนี้ใช้งานได้ มูลค่ากว่า 50 ล้านบาท
ซึ่งก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันออกมาอีกเพราะเรือเหาะมีอาการไม่ปกติตั้งแต่การส่งมอบของบริษัทเอเรีย อินเตอร์เนชันแนลฯ แล้ว อีกทั้งตอนเสียหายก็ยังอยู่ในประกัน ทำไมไม่เรียกร้องให้ทางบริษัทเป็นผู้รับผิดชอบ
จากการค้นข้อมูลเก่าปรากฏชัดถึงข้อถกเถียงในหลายกรณีสำหรับการนำระบบเรือเหาะเข้ามาใช้ในการทหารชายแดนใต้ตั้งแต่ก่อน ครม. จะอนุมัติโครงการ บ้างให้เหตุผลว่าเรือเหาะตรวจการณ์ถูกใช้มาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ไม่มั่นใจว่าประสิทธิภาพของมันจะควบคุมหรือเหมาะสมกับสถานการณ์ในชายแดนใต้ได้หรือไม่
หรือในเรื่องการตั้งข้อสังเกตในเรื่องราคาจัดซื้อ 360 ล้านที่แพงหูฉี่ ถูกเปรียบเทียบกับเรือเหาะของบริษัทแอร์ชิป เอเซีย เฉพาะตัวบอลลูน ราคาเพียง 30-35 ล้านบาท ทั้งๆ ที่มีขนาดใกล้เคียงกับเรือเหาะ สกาย ดรากอน แต่ราคาสูงถึง 260 ล้านบาท
ด้านปัญหาขัดข้องทางเทคนิคจนไม่สามารถทะยานสู่นานฟ้าปฏิบัติการได้จริง ก็มีการตั้งข้อสงสัยว่าอาจเป็นสินค้ามือสอง เพราะได้รับสินค้าอย่างรวดเร็วซึ่งหากเป็นขอใหม่อาจใช้เวลานานร่วมปี
นอกจากนี้ยังมีเรื่องงบประมาณที่ต้องเสียเปล่าบำรุงรักษาให้ตัวเรือเหาะคงสภาพทั้งๆ ที่นำไปใช้งานจริงไม่ได้อีก
จากบทความเรื่องUpdated : Colonel Blimps still want their blimp แปลโดยดวงจำปา ก็แสดงถึงความไม่โปร่งใส่ของบริษัทเอเรีย อินเตอร์เนชันแนล คูเปอเรชัน คู่สัญญาของกองทัพบก ดูเหมือนว่ความพยายามนำเรือเหาะ สกาย ดรากอน เหินเวหากลายเป็นเรื่องน่าขันไปเสียแล้ว เพราะที่ผ่านมาจะพยายามกี่รอบก็ไม่ประสบความสำเร็จเสียที
จนตั้งข้อสังเกตไปถึงขั้นที่ว่ากองทัพนำระบบเรือเหาะเข้ามาผลาญภาษีประชาชน เพราะผ่านมาไม่เห็นประโยชน์ใดจากมันเลย แถมต้องนำเงินภาษีมาเลี้ยงโครงการอีก
บทความดังกล่าวยังเปิดโปง บริษัทเอเรีย อินเตอร์เนชันแนล คูเปอเรชัน ความว่าก่อตั้งขึ้นก่อนมีการทำสัญญากับกองทัพ.(ปี 2552)ไม่นาน ก่อตั้งเมื่อกลางปี 2551 มีพนักงานเพียง 12 เท่านั้น มูลค่าหุ้นต่ำมาก จนถูกตั้งข้อสงสัยว่าทางกองทัพไว้ใจบริษัทเล็กๆ อย่างนี้ได้อย่างไร แต่พอสาวข้อมมูลไปอีกก็พบว่าหนึ่งในกลุ่มคนที่ร่วมก่อตั้งบริษัทฯ เคยมีการเจรจากับทางกองทัพบกมาก่อน สาระสำคัญปรากฏว่ากองทัพบกไทยเป็นลูกค้ารายเดียวของบริษัทนี้ แน่นอนบริษัทดังกล่าวเป็นเพียงเอเย่นของบริษัทผลิตเรือ และตั้งคำถามในท้ายบทความว่า 'กองทัพบกไทย จ่ายเงินเป็นล้านๆ บาทนี้ให้กับใครอยู่?'
2555ความหวังเฮือกสุดท้าย
ก็ไม่รู้ว่างบประมาณ 50 ล้านบาท ที่ทางกองทัพนำมาแก้ปัญหาทางเทคนิคระบบเรือเหาะตรวจการณ์ในครั้งนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่ ด้าน รศ.ดร.ปองวิทย์ ศิริโพธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แสดงทัศนะว่าถ้าหากการดำเนินการในครั้งนี้ประสบความสำเร็จและสามารถนำไปใช้ได้จริงจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง คุ้มค่ากับ 4 ปีที่รอคอย
“ถ้าใช้งานได้ก็คุ้มนะ ผมว่าใช้ได้ที่จริงไม่ใช่เฉพาะภาคใต้นะ มันใช้ได้ในหลายๆ จุดของประเทศไม่ใช่ทางการทหารอย่างเดียว เป็นสถานีสัญญาณ เฝ้าตรวจการณ์ เป็นการทดลองที่น่าสนใจนะ ความปลอดภัยสูง เรือเหาะแต่ละลำจะถูกออกแบบมาใช้งานที่ความสูงแตกต่างกัน ดูจากขนาดของ ทบ. ใช้งานในชายแดนภาคใต้เพดานบินต้องสูงอาจจะซัก 1 กม.ขึ้นไป เพราะอาจจะต้องหลีกเลี่ยงหารโจมตีทางพื้นดิน 1 กม. ก็ยากแล้วในการยิง ธรรมดาคนจะไม่แหงนมองฟ้ากันอยู่แล้ว
“เรือเหาะ เป็นอากาศยานประเภทหนึ่งที่ถ้าใช้เป็นคุ้มค่ามาก เฮลิคอปเตอร์ดี ปลอดภัย ว่องไว้ แต่การใช้งานจะมีค่าเชื้อเพลงค่อนข้างสูง แต่ถ้าใช้เรือเหาะเติมฮีเลี่ยมตราบใดที่เราไม่เอาเขาออก มันก็อยู่อย่างนั้นเป็นปี”
ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเรือเหาะ กล่าวว่าการซ่อมแซมเรือเหาะนั้นจะมีเป็นคุณลักษณะจำเพาะของแต่ละบริษัทผู้ผลิต แน่นอนว่าคนไทยไม่สามารถซ่อมเองเพราะมันไม่เหมือนเครื่องบินที่มีอุปกรณ์มาตรฐานสามารถนำมาซ่อมได้ งานนี้ ก็คงต้องรอกันต่อไป แต่ในส่วนบุคลากรของกองทัพเชื่อมั่นว่าทุกท่านมีประสิทธิภาพสามารถนำเรือเหาะขึ้นปฏิบัติการได้อย่างแน่นอนหากยานอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์
“เรามีเครื่องไม้เครื่องมือพวกนี้มา ผมอยากให้เราคิดถึงการซ่อมบำรุงด้วย คือถ้ามีเครื่องมือแล้วเราไม่ซ่อมบำรุงและซ่อมแซมด้วยตัวเอง ผมว่าเราอันตรายนะ”
…..................................
อย่างไรก็ตาม ประชาชนกำลังจับตามองศักยภาพของทางกองทัพอยู่ เชื่อว่ากว่าค่อนประเทศคาดหวังว่าการซ่อมแซมในครั้งนี้จะนำพา เรือเหาะตรวจการณ์ สกาย ดรากอน เหินขึ้นปฏิบัติการบนน่านฟ้าเมืองไทยได้เสียที
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE