ผบ.ทบ. เผย ผบ.พลปืนใหญ่ที่ 1 ทัพจีนเข้าคาราวะ ยันต้องประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ คาดถกพัฒนากองทัพและอาวุธ ยันไม่ยุ่งนาซาขอใช้อู่ตะเภา อ้างเป็นเรื่องของรัฐบาล ลั่นไม่เคยพูดไม่สบายใจ ชี้ถ้าไม่เป็นไปตามข้อตกลงก็ยกเลิก จวกถ้าทำอะไรไม่ได้ก็ไม่ต้องคบกับใคร แนะต้องไว้ใจฝ่ายความมั่นคง ระบุ ไม่เสียอธิปไตยใคร ไม่ห้ามพวกต้านแต่ต้องมีเหตุผล
วันนี้ (22 มิ.ย.) ที่กองทัพบก พล.อ.จิ้ง จื้อ หยวน ผู้บัญชาการทหารปืนใหญ่ที่ 2 ของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน และคณะ เดินทางเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อเข้าเยี่ยมคารวะ และหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นทางราชการ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองกองทัพ อนึ่ง กองทัพบกไทยและกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน มีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมาเป็นระยะเวลานาน โดยมีการแลกเปลี่ยนทางด้านการทูตทหาร ด้านการฝึกศึกษา เช่น การฝึกร่วมผสมไทย-จีน ในรหัส Strike ซึ่งปีที่ผ่านมาไทยเป็นเจ้าภาพ โดยครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้นำ พล.อ.จิ้ง จื้อ หยวน วางพวงมาลา ณ พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
โดยผู้บัญชาการทหารบก ให้สัมภาษณ์ว่า การที่เราจะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้านต้องยึดหลักของความไว้วางใจ รวมทั้งต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน รวมทั้งการกระทำความร่วมมือต่อกันก็ต้องผ่านขั้นตอนกฎหมายของแต่ละประเทศ เพราะกฎหมายแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ซึ่งจะต้องมีการร่างข้อตกลงร่วม รวมทั้งต้องมีการฝึกร่วมเป็นแนวทางต่างๆ ดังนั้นเรื่องนี้มันอยู่ในขั้นตอน หากเราพูดมากมายก็จะไม่จบ เรื่องนี้อยู่ในขั้นตอนที่รัฐบาลได้ชี้แจงแล้วว่า ตามกฎหมายเป็นอย่างไร และมีคณะทำงานตรวจสอบทั้งในเรื่องความมั่นคง และทุกมิติ ประเด็นสำคัญคือ สิ่งใดก็ตามที่เป็นความร่วมมือระหว่างไทยกับต่างประเทศยังคงจำเป็นต้องมีอยู่ แต่จะมีอย่างไรก็อยู่ที่ข้อตกลง ดังนั้น สิ่งใดก็ตามที่เราเกรงว่าจะเกิดผลกระทบเราก็ร่างไว้ในข้อตกลงมันก็จะควบคุมได้ในระดับหนึ่ง ตนคิดว่า ก็ต้องพยายามทำกันไป เพราะเรื่องการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศมันหยุดไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากเราเป็นประเทศอาเซียนแล้ว ต้องมีความใกล้ชิดกันมากกว่าเดิม ดังนั้น กรณีเช่นนี้ก็จะเกิดมากขึ้น เป็นการดีที่ทุกคนจะช่วยเข้ามาคิด และทำแต่ทั้งหมดก็เป็นเรื่องของรัฐบาลที่จะต้องทำตามขั้นตอนในปัจจุบันอยู่แล้ว
“การเดินทางของ พล.อ.จิ้ง จื่อ หยวน ในครั้งนี้ ได้มีการตกลงล่วงหน้ามานานแล้ว เพราะทุกครั้งที่เราเดินทางไปประเทศจีนเขาก็เพิ่มเรื่องการเชื่อมสัมพันธไมตรี การเดินทางไปเยี่ยมเยือนต่างประเทศก็มากขึ้นตามลำดับ และทาง รมว.กห.จีนก็กล่าวอยู่เสมอว่า การแก้ไขปัญหาใดๆ ก็ตามของจีนจะแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี โดยการเยี่ยมเยือนพูดคุยพบปะทำความเข้าใจ ซึ่งเป็นหนทางหนึ่งที่ทำอยู่ในทุกวันนี้ ที่ผ่านมา เขาก็มีบทบาทหลายบทบาทเพิ่มเติม ทั้งเรื่องการช่วยเหลือภัยพิบัติ แม้กระทั่งในไทยที่ผ่านมา และการจัดกำลังไปช่วยรักษาสันติภาพในซีกโลกต่างๆ ตามมติขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งที่ผ่านมา ก็ไม่เคยมีปัญหาระหว่างกัน และการมาเยือนของผู้นำจีนครั้งนี้ เป็นการมาในฐานะนายทหารชั้นผู้ใหญ่กุมกำลังที่มีความสำคัญของกองทัพจีน และมาเยี่ยมเยือน ทั้งนี้ คงมีการหารือเรื่องการพัฒนากองทัพและความร่วมมือเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ และเรื่องการศึกษาต่างๆ ซึ่งเป็นการพูดคุยในระบบของทหาร คงไม่มีเรื่องอื่น คิดว่าคงไม่พูดกัน และเรื่องนั้น ตนอยากถามว่าเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของใคร ทางสหรัฐอเมริกาติดต่อมาทางไหน ติดต่อมาทางรัฐบาลใช่หรือไม่ ก็เป็นเรื่องของรัฐบาลที่จะต้องดำเนินการในเรื่องนี้ ขอให้สื่อถามให้ตรง เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่ตนจะไปพูดจาเพราะไม่ใช่ประเด็น” ผบ.ทบ.กล่าว
เมื่อถามว่า ในฐานะที่ดูแลความมั่นคงมีความเป็นห่วงในบางประเด็นที่ไม่สบายใจ พล.อ.ประยุทธ์ ย้อนถามว่า ใครไม่สบายใจ ตนยังไม่เคยพูดว่าไม่สบายใจ ข่าวมาจากใครก็ไปหาคนที่บอก การทำงานจะทำด้วยความไม่สบายใจไม่ได้ ต้องทำงานด้วยความสบายใจ ถ้าไม่สบายใจก็อย่าทำ ดังนั้น อย่ามาคิดแทนตน หากมีอะไรไม่สบายใจก็แสดงให้สังคมได้รับรู้รับทราบว่าเรากำลังดำเนินการอะไร ไม่ว่าจะอะไรก็ตามเราจะไม่ปล่อยให้ต่างประเทศมากระทำได้คนเดียว เราก็ต้องไปทำด้วย การจะขึ้นจะลงก็ต้องขออนุญาตและขออนุมัติ ถ้าอะไรที่ไม่เป็นไปตามข้อตกลงก็ยกเลิกการทำดังกล่าว ก็จบแค่นั้น อย่างไรก็ตาม ก็ต้องระมัดระวัง และตนก็ระมัดระวังในการแสดงความคิดเห็น เพราะเป็นเรื่องของประเทศชาติ อะไรที่เป็นผลประโยชน์และจะเสียผลประโยชน์เราก็ต้องช่วยกันดู และและเคารพกติกาว่ามีกติกาในการทำงานอย่างไรในแต่ละเรื่อง
“ถ้าอะไรทำไม่ได้ทุกอย่างก็ไม่ต้องไปคบกับใคร เราระแวงไปทุกเรื่องไม่ได้ แต่เราจะรักษาอธิปไตย และประเทศชาติของเราให้ได้ผลประโยชน์อย่างไร ดังนั้น การคบกับทุกประเทศจะต้องได้ผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมกันทุกฝ่าย ซึ่งเป็นหลักการแต่ก็ต้องหาวิธีการว่าจะต้องทำอย่างไร ซึ่งอยู่ในขั้นตอนที่จะต้องศึกษาหารือในรายละเอียด เพราะตอนนี้อยู่ในขั้นตอน “ทำได้ก็ทำ ทำไม่ได้ก็เลิก” ก็เท่านั้น ถ้าทำได้ก็มาหากติกากันต่อไปว่าจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เราเสียประโยชน์อย่างที่ทุกคนเป็นห่วง ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณสื่อและทุกคนที่ออกมาแสดงความคิดเห็น ในเมื่อให้เกียรติพวกเราเป็นฝ่ายความมั่นคงก็ต้องไว้ใจฝ่ายความมั่นคง เพราะเราก็ต้องดูในทุกมิติเหมือนกัน ขณะนี้เรามั่นใจว่าเรายังไม่เสียอธิปไตยใดๆ ให้แก่ประเทศใดในการตกลงทั้งสิ้น เราเป็นทหารต้องระวังเรื่องนี้เป็นพิเศษอยู่แล้ว” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ว่าเรื่องนี้จะเกิดการต่อต้าน เพราะมีหลายกลุ่มไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะฝ่ายค้าน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขอให้นำเหตุผลมาต่อต้านกัน เราไม่ได้ว่าอยู่แล้วเพราะเป็นกระบวนการตามประชาธิปไตย ซึ่งตนก็ไม่ได้ห้ามว่าใครจะต่อต้าน แต่ขอให้มีเหตุมีผลและมีความชอบธรรมถูกต้องตามกฎหมาย อย่านำทหารไปโยงใยเ พราะทหารเป็นกลไกส่วนหนึ่งในการดำเนินการ
พ.อ.วีรชน สุคนธปฏิภาค ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศกองทัพบก ในฐานะรองโฆษกกองทัพบกด้านต่างประเทศ เปิดเผยผลการหารือว่า ไม่มีการหารือเรื่องการที่นาซาขอใช้สนามบินอู่ตะเภา มีเพียงวาระเพิ่มพูนความร่วมมือ แลกเปลี่ยนการเยือนในทุกระดับเพื่อให้มีความใกล้ชิดกันมากขึ้น รวมไปถึงการฝึกศึกษาร่วมกัน ที่ในอนาคตจะฝึกในเชิงรักษาสันติภาพในลักษณะทวิภาคภายใต้รหัสการฝึกใหม่เพื่อมนุษยธรรม นอกจากนี้จะมีการศึกษาเทคโนโลยีทางด้านอาวุธ เช่น จรวดหลายลำกล้อง และ ยุทโธปกรณ์ของจีนที่เรามีประจำการอยู่ พร้อมกันนี้ สาเหตุที่ต้องให้ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล เสนาธิการทหารบก เป็นผู้ต้อนรับนั้นเป็นขั้นตอนพิธีการทูต เนื่องจาก ผบ.หน่วยบัญชาการทหารปืนใหญ่ที่ 2 มีฐานะเทียบเท่ากับ ผบ.เหล่าทัพใดเหล่าทัพหนึ่งของจีน ซึ่งการจัดลำดับการต้อนรับเป็นไปตามความเหมาะสมและขั้นตอนพิธีการทูต
ด้าน พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ กล่าวถึงกรณีที่สหรัฐฯ ขอใช้อู่ตะเภาเพื่ อสำรวจสภาพอากาศว่า การใช้อู่ตะเภามีกฏระเบียบ มาตรการต่างๆ เมื่อเครื่องบินขึ้นลง หรือบินผ่านน่านฟ้าจะต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ซึ่งโครงการการจัดตั้งศูนย์บรรเทาสาธารณภัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (HADR) มีประโยชน์ในเรื่องของการช่วยเหลือผู้ประสบภัย และในหลักการถือว่าเป็นประโยชน์ ที่ตนทราบคือจะเป็นศูนย์ชั่วคราว จะเป็นประโยชน์เมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ การช่วยเหลือผู้ประสบภัยจะทำได้อย่างทันเวลา และเครื่องมือสนับสนุนที่จะนำมาใช้นับว่าเป็นประโยชน์
เมื่อถามว่า ส่วนตัวเห็นด้วยหรือไม่ที่นำเรื่องเข้าที่ประชุม ครม. เพื่อพิจารณา พล.ร.อ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องที่เป็นประโยชน์ ก็นับว่าเป็นประโยชน์ และเป็นผลดี เมื่อถามย้ำว่า การนำเรื่องเข้า ครม.จะช้าไปหรือไม่ เพราะทางสหรัฐฯ มีกำหนดระยะเวลาให้ทางไทยพิจารณา และหากยกเลิกโครงการนี้ไปจะเป็นผลดีหรือผลเสีย พล.ร.อ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ข้อมูลที่ทราบ ในส่วนของ HADR ทางสหรัฐฯ จะเข้ามาสำรวจในห้วงที่มีการฝึก ก็จะมีหัวข้อนี้เข้ามาร่วมให้ตรวจสอบด้วย ทั้งนี้ เท่าที่ตนทราบตรงกับที่ รมว.กลาโหมได้ชี้แจงไปแล้ว และทาง พล.อ.มาร์ติน อี เดมพ์ซี่ย์ ประธานคณะเสนาธิการร่วม ได้ชี้แจงไปแล้ว ไม่เกี่ยวกับกรอบระยะเวลา