ลุกจากตำแหน่งผู้ว่าราชกากรุงเทพมหานครเป็นที่เรียบร้อยไปแล้วเมื่อ 9 มกราคม 2556 เป็นการลาออกก่อนครบวาระการดำรงตำแหน่งแค่หนึ่งวัน ของม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เพื่อเดินหน้าลงสมัครผู้ว่าฯกทม.สมัยที่สอง
ตอนนี้พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.)ก็เริ่มเดินหน้าวางแผนรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งกันเต็มที่
ผลการลาออกดังกล่าวทำให้จะมีการเปิดรับสมัครผู้ลงชิงชัยเป็นผู้ว่าฯกทม.ระหว่าง 21-25 มกราคม 2556 ส่วนวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้งคือ 3 มีนาคม 2556
พบว่าตอนนี้ ปชป.วางแผนสู้ศึกเต็มที่ มีการตั้งคณะกรรมการศูนย์อำนวยการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ที่ได้วางตัว อภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าฯกทม.สองสมัย เป็นประธานคณะยุทธศาสตร์เตรียมการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ขณะที่องอาจ คล้ามไพบูลย์ นักการเมืองรุ่นใหญ่ในสนามกทม.ของพรรคนั่งเก้าอี้ผอ.ศูนย์การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.
ขณะ ที่ฝ่ายพรรคเพื่อไทยแม้จะมีเรื่องวุ่นๆ เกิดขึ้นอีกในช่วงท้ายๆก่อนวันที่พรรคจะมีมติออกมาอย่างเป็นทางการ ว่าจะส่ง ใครลงสมัคร หลังส.ส.กรุงเทพมหานคร ของเพื่อไทยยังคงพยายามจะขอให้ทักษิณ ชินวัตร และแกนนำพรรคเปลี่ยนใจนาทีสุดท้ายด้วยการประกาศส่งคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ลงสมัคร
ทั้งที่เจ๊หน่อย ก็เล่นละคร ด้านหนึ่งทำทีเป็นออกมาย้ำมาหลายครั้งว่าไม่ลงสมัคร เบื้องหลังก็หนุนส.ส.ในกลุ่มจนถึงช่วงโค้งสุดท้าย เคลื่อนไหวกดดันให้ทักษิณเปลี่ยนใจ หันมาหนุนคุณหญิงสุดารัตน์ แทนพล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
หากไม่มีอะไรพลิกผัน ไร้เหตุแทรกซ้อนให้เลื่อนออกไปอีก ผลการประชุมกรรมการบริหารพรรคในวันอาทิตย์ที่ 13 มกราคมนี้ คงได้ข้อสรุปและมีมติอย่างเป็นทางการออกมา และหากเป็นไปตามนี้ ก็คาดกันว่า เพื่อไทยจะมีการเปิดตัวพล.ต.อ.พงศพัศ ทันทีในวันรุ่งขึ้นเลยคือจันทร์ที่ 14 มกราคม เว้นแต่หากติดขัดอะไรบางอย่างแต่ดูแล้วจะไม่เกินสัปดาห์หน้านี้แน่นอน
ดังนั้น คู่เดือดของศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ก็ยังน่าจะเป็น “สุขุมพันธุ์-พงศพัศ”อยู่ ขณะที่ตัวสอดแทรกอื่น ก็คงพอมีให้เห็น แต่จะมีตัวเบียดคนไหนเด่นขึ้นมาต้องรอดูหลังปิดรับสมัคร
ในส่วนของฟากสุขุมพันธุ์-ปชป.แม้จะได้เปรียบอยู่หลายขุม แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นต่อพงศพัศ-เพื่อไทยชนิดทิ้งห่าง เรียกได้ว่าปชป.ประมาทไม่ได้เช่นกัน
ยิ่งยามนี้ถือว่าสุขุมพันธุ์อยู่ในช่วงมีชนักติดหลัง จากคดีกรณีกรุงเทพมหานครทำสัญญาว่าจ้างการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการขนส่งมวลชน กรุงเทพมหานคร ระหว่างกรุงเทพมหานคร โดยบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC จำนวน 2 สัญญา มูลค่ากว่า 1.9 แสนล้านบาท ที่ถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เอาผิดสุขุมพันธุ์และพวกรวม 11 คน ในข้อกล่าวหาร่วมกันประกอบกิจการรถรางโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือได้รับสัมปทานจากรมว.มหาดไทย ตามประกาศคณะปฏิวัติ พ.ศ.2515
สุขุมพันธุ์และพวก ได้เข้าไปรับทราบข้อกล่าวหาต่อพนักงานสอบสวนดีเอสไอไปแล้วเมื่อ 9 ม.ค. 56 ที่ผ่านมา โดยปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา
ไม่ใช่ข้อหานี้อย่างเดียว ยังมีที่จะตามมาอีกเป็นดาบที่สองเพื่อหวังเล่นงานสุขุมพันธุ์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการรับลูก-ส่งลูกเข้าขากันอย่างดีระหว่างดีเอสไอ ยุคธาริต เพ็งดิษฐ์กับพรรคเพื่อไทย ก็คือเรื่องที่ พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทยไปยื่นหนังสือคำร้องต่อดีเอสไอเมื่อ 9 ม.ค. 56 ที่เป็นวันเดียวกันกับที่สุขุมพันธุ์ไปรับทราบข้อกล่าวหา ให้เอาผิดสุขุมพันธุ์ พร้อมพวกเพิ่มเติมจากคดีต่อสัมปทานบีทีเอสโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่เป็นการขอให้ดีเอสไอตั้งแท่นความผิดเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งกระทงคือ
“ในฐานฉ้อโกงประชาชน และความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรณีร่วมกันต่อสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอสโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก รมว.มหาดไทย ตามคำสั่งคณะปฏิวัติ พ.ศ.2515 ก่อนมีการนำสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอสไปตั้งกองทุนขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์”
ประเด็น ที่มาของการให้เอาผิดดาบสองสุขุมพันธุ์กับพวกก็คือฝ่ายเพื่อไทยอ้างว่า บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมบัวหลวง จำกัด ได้ร่วมกันจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางรางบีทีเอส โกรท โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการขอจัดตั้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯที่ปรากฏว่ากองทุนบัว หลวงได้ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ชักชวนให้มีการลงทุนในกองทุน
ฝั่งเพื่อไทยอ้างว่าสิ่งนี้อาจหมิ่นเหม่ที่อาจขัดต่อกฎหมาย โดยมีข้อสังเกตคือกรณี กทม.โดยบริษัท กรุงเทพธนาคม ทำสัญญากับบีทีเอสซี ระยะเวลา 30 ปีอย่างเร่งด่วน น่าจะแสดงให้เห็นเจตนาตั้งแต่แรกว่าการทำสัญญาของ กทม.ดังกล่าวน่าจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของเอกชน ขณะที่ กทม.และผู้บริหารของบีทีเอสซีอยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีจากดีเอสไอ จึงน่าจะเข้าข่ายที่อาจจะหลอกลวงประชาชนหรือไม่ จึงร้องให้มีการสอบสวน
แล้วก็เป็นไปตามคาดคือ ธาริตก็เด้งรับทันทีด้วยการบอกจะนำเรื่องนี้ไปเป็นคดีใหม่โดยให้สำนักคดีการเงินการธนาคารของดีเอสไอรับผิดชอบ พร้อมกำชับว่าเป็นเรื่องที่ต้องเร่งรีบทำ เพื่อให้ความจริงปรากฏแก่สาธารณชน
“ทีมข่าวการเมือง”มองความเป็นไปของรูปคดีที่ดีเอสไอเอาผิดสุขุมพันธุ์กับพวกในเรื่องนี้แล้ว จริงอยู่ว่า ผิดก็ว่าไปตามผิด ถูกก็ว่าไปตามถูก หากสุขุมพันธุ์กับพวกทำผิดจริง ก็ต้องดำเนินการไปอย่าได้รอช้า
เพียง แต่พฤติการณ์หลายอย่างของฝั่งเพื่อไทยกับดีเอสไอและธาริต มันแสดงให้เห็นชัดเกินไปว่า ทำให้คดีนี้เป็นเรื่องคดีการเมืองชัดเจนเพื่อหวังผลต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.โดยเฉพาะการดิสเครดิตสุขุมพันธุ์และปชป.ให้มีจุดอ่อนที่คู่แข่งสำคัญ อย่างเพื่อไทยนำไปขยายผลในการหาเสียงเลือกตั้งได้
ตรงนี้มันชัดเสียยิ่งกว่าชัด ดูกันง่ายๆ ดีเอสไอมาเร่งสรุปสำนวนเอาผิด -แจ้งข้อกล่าวหา -เรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา สุขุมพันธุ์กับพวกในช่วงที่กำลังเข้าสู่การหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.พอดี
ยิ่งมาเจอการที่เพื่อไทยส่งโฆษกพรรคไปร้องเอาผิดสุขุมพันธุ์เพิ่มเติม เสมือนกับต้องการฝังดาบสองเพื่อจะจมสุขุมพันธุ์ให้มิดดิน แล้วดีเอสไอก็ขานรับทันทีแบบนี้ อย่ามาปฏิเสธว่า ไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลังการเมือง
ตรงนี้ทีมข่าวการเมืองไม่ได้คิดปกป้องใคร หากสุขุมพันธุ์กับพวกที่โดนดีเอสไอสอบสวนที่มีทั้งนักการเมือง-ข้าราชการ-นักธุรกิจ ทำผิดกฎหมายจริง ก็ขอเชียร์ให้ดีเอสไอสอบสวนเอาผิดจนถึงที่สุด หาพยานหลักฐานมาดำเนินคดีให้แน่นหนา
แต่สิ่งที่ขอกระตุกหน่อยก็คือ การใช้อำนาจของดีเอสไอ ไม่ควรไปรับใช้ฝ่ายการเมืองมากเกินไป
ความเป็นไปของคดีนี้ ที่ต้องจับตามองก็คือ ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น เมื่อคดีเดินไปตามขั้นตอน แล้วมันจะมีผลอะไรกับสุขุมพันธุ์และพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ โดยเฉพาะกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ที่จะมีขึ้น
เพราะเมื่อดูตามลู่ทางของคดีที่จะเดินไปข้างหน้า คดีนี้ดูแล้วยังไงดีเอสไอก็ต้องส่งสำนวนไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เพื่อทำการไต่สวนและชี้มูลความผิด หากดีเอสไอทำสำนวนเร็ว คดีก็ส่งไปที่ป.ป.ช.เร็ว ก็ทำให้ป.ป.ช.มีข้อสรุปทางคดีได้เร็วตามลำดับ
ความระทึกใจมันจะเกิดขึ้นหากว่า ป.ป.ช.เกิดมีมติชี้มูลความผิดตามสำนวนของดีเอสไอ แล้วอะไรจะเกิดขึ้น ถ้าสุขุมพันธุ์ได้รับเลือกให้เป็นผู้ว่าฯกทม. ที่จะอยู่ในวาระ 4 ปี ที่หากดูตามความน่าจะเป็นแล้ว ป.ป.ช.น่าจะต้องมีข้อสรุปออกมาไม่เกินนี้แน่นอน
บรรทัดฐานที่อภิรักษ์ เคยลาออกจากผู้ว่าฯกทม.ทันทีทั้งที่เพิ่งเข้าไปทำหน้าที่เป็นผู้ว่าฯกทม.สมัยที่สองได้ไม่นาน หลังถูกป.ป.ช.ชี้มูลความผิดคดีทุจริตจัดซื้อรถและเรือดับเพลิง โดยไม่ต้องรอให้มีการเอาผิดในชั้นอัยการหรือศาลมีคำพิพากษา
บรรทัดฐานของอภิรักษ์ จะต้องเป็นบรรทัดฐานที่สุขุมพันธุ์ก็ต้องปฏิบัติตามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมันได้กลายเป็นบรรทัดฐานของประชาธิปัตย์ไปแล้ว
หากป.ป.ช.ปิดสำนวนเร็ว แล้วสุขุมพันธุ์กับพวกรอดไม่มีความผิด ก็จะไม่มีปัญหาอะไรต่อตำแหน่งผู้ว่าฯกทม. แต่หากตรงกันข้ามขึ้นมา นั่นหมายถึงจะต้องมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ก่อนครบกำหนด ถ้าสุขุมพันธุ์ต้องรักษาบรรทัดฐานของปชป.เอาไว้
คดีต่ออายุสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอส ประชาธิปัตย์จะมีประวัติศาสตร์ซ้ำรอยคดีรถดับเพลิงที่ตอนนี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ได้เปิดห้องพิจารณาคดีกันไปแล้วสองนัดหรือไม่ เป็นเรื่องที่แม้ปชป.จะมีเวลาได้พักหายใจกันพอสมควรในการจะไปคิดถึงเรื่องนี้
แต่ ฝั่งเพื่อไทย ก็คงมองประเด็นนี้เอาไว้เหมือนกัน เพื่อดูความเป็นไปได้ว่าจะสามารถขยายผลไปถึงการหาเสียงเลือกตั้งได้หรือไม่ แต่ก็ต้องระวังพอสมควรในการนำไปขยายผลเพื่อไม่ให้กลายเป็นเรื่องการหาเสียง ผิดกฎหมายขึ้นมา
สำคัญกว่าน่าจะเป็นความคิดของคนกรุงเทพฯที่จะมองเรื่องนี้อย่างไร มองว่าเป็นคดีการเมืองที่หวังกลั่นแกล้งสุขุมพันธุ์กับปชป. หากคิดแบบนี้ คะแนนสงสารเห็นใจย่อมบวกเพิ่มให้สุขุมพันธุ์แน่นอน แต่หากมองว่าเรื่องนี้ดีเอสไอคงทำไปตามข้อเท็จจริงก็คงทำให้ปชป.เสียคะแนนไปพอสมควร
กว่าจะถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง การวางแผนหาเสียงเลือกตั้งและเล่นเกมดิสเครดิตกันของเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ คงไม่ได้มีแค่เรื่องนี้เรื่องเดียว จะมีการขุดความชั่วออกมาถล่มกันอีกหลายระลอก