xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” วอน “ปู” รับความจริงค่าแรง 300 พ่นพิษ จี้เร่งแก้ก่อน ศก.ล่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (แฟ้มภาพ)
“มาร์ค” หวั่นรัฐล้มเหลวซ้ำรอยโกหกสีขาว สอนมวยแก้ปัญหาค่าแรง 300 ชี้พ่นพิษทำเอสเอ็มอีเจ๊งระนาว นักลงทุนย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน เชื่อแนวโน้มคนไทยเดือดร้อนหนักเจอเงินเฟ้อคู่เงินฝืด จี้รัฐเลิกปัดสวะ หัดยอมรับความจริง เร่งแก้ปัญหาก่อนลามกระทบ ศก.โดยรวม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 9 ม.ค. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเป็นห่วงต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและแรงงานที่มีแนวโน้มเสี่ยงต่อการตกงานมากขึ้นจากการขึ้นค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ โดยขอให้รัฐบาลยอมรับความจริงว่าผลกระทบได้เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งทางพรรคได้เตือนให้รัฐบาลเตรียมรับมือมาตั้งแต่ก่อนปีใหม่ แต่รัฐบาลกลับเพิกเฉยและไม่ใส่ใจที่จะแก้ปัญหา จึงอยากให้รัฐบาลหารือกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด เพราะมาตรการที่ออกมาเป็นแนวคิดเดิม เช่น การให้เงินกู้ หรือการหักค่าใช้จ่าย ซึ่งไม่ตรงกับการแก้ปัญหาให้กับธุรกิจขนาดเล็กที่ขาดทุน เพราะหากดำเนินกิจการต่อไปไม่ได้การให้กู้เงินก็ไม่มีประโยชน์ เพราะจะมีการปิดกิจการเกิดขึ้นก่อน เนื่องจากคำนวณเงินจากมาตรการที่รัฐบาลเข้าไปช่วยเหลือแล้วเทียบไม่ได้กับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น จึงยืนยันว่ารัฐบาลต้องหามาตรการที่ตรงจุดเพื่อประคับประคองให้ธุรกิจปรับตัว พร้อมย้ำว่าพรรคไม่ได้ขัดข้องที่จะให้มีการปรับค่าแรงให้ผู้ใช้แรงงาน เช่นเดียวกับนักธุรกิจที่ต้องการให้คนของตัวเองได้ค่าแรงสูงขึ้น แต่ธุรกิจก็ต้องอยู่รอดด้วย ไม่เช่นนั้นก็จ้างคนต่อไม่ได้ จะเห็นได้จากการปิดกิจการเกิดขึ้นแล้วในหลายจังหวัด รวมถึงมีการย้ายฐานการผลิตเข้ามาใกล้ กทม.มากขึ้น และย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศด้วยซึ่งไม่เป็นผลดีกับการจ้างงานในภาพรวม จึงอยากให้รัฐบาลใจกว้างและเร่งแก้ปัญหาก่อนที่จะกระทบไปถึงเศรษฐกิจในภาพรวม

ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวด้วยว่า หากรัฐบาลอ้างว่าการปิดกิจการที่เกิดขึ้นในขณะนี้ไม่เกี่ยวข้องกับนโยบายค่าแรง 300 บาท ก็ต้องถามว่ามีมาตรการออกมาช่วยเหลือทำไม ทั้งนี้ ขอให้รัฐบาลอยู่กับความเป็นจริง เพราะคนในรัฐบาลก็ผ่านประสบการณ์ทางธุรกิจมามาก ถ้าต้นทุนทางด้านแรงงานสูงขึ้น 70-80% ในระยะเวลาสั้นๆ ตนเชื่อว่าน่าจะทราบว่าคนทำธุรกิจไม่สามารถแบกรับภาระได้ทั้งหมด โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่มีอำนาจต่อรองในการขึ้นราคาสินค้าเพื่อส่งต่อต้นทุนได้

“ไม่มีใครต้องการล้มนโยบายนี้ แต่การที่รัฐบาลเอาใจใส่ในเรื่องนี้น้อยมาก ทั้งที่ภาคเอกชนก็จัดทำข้อเสนอให้ไม่ต่ำกว่า 3 เดือนแล้ว แต่รัฐบาลชะล่าใจไม่ดำเนินการอะไรเลย รวมถึงท่าทีของรัฐบาลก่อนหน้านี้ก็ไม่ให้ความสำคัญกับธุรกิจเอสเอ็มอี โดยสิ่งที่นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานแบงก์ชาติ และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และรมว.คลัง เคยท้าให้ธุรกิจที่ปรับตัวไม่ได้ย้ายฐานการผลิตไปอยู่ต่างประเทศนั้นกำลังเกิดขึ้นจริงในขณะนี้ จึงอยากให้รัฐบาลตระหนักด้วยว่าเศรษฐกิจมีความสัมพันธ์กัน เพราะธุรกิจขนาดใหญ่ก็เชื่อมโยงกับธุรกิจเอสเอ็มอีซึ่งจะได้รับผลกระทบตามไปด้วยในเรื่องความสามารถการผลิตเรื่องการส่งออก จนรวมถึงภายในประเทศอาจต้องมีการนำเข้ามากขึ้นด้วย หากรัฐบาลมองแค่ยอดขายก็จะสนใจแค่รายใหญ่ แต่ถ้าดูจำนวนผู้ประกอบการและคนงานจะเห็นว่าเป็นตัวเลขเกือบทั้งหมดของการจ้างงาน จึงต้องใส่ใจตรงนี้ด้วย โดยแก้ปัญหาทันที ไม่เช่นนั้นจะมีโรงงานปิดตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ตามมาด้วยปัญหาความไม่สมดุลย์ในเรื่องแรงงานที่จะวิ่งไปหางานที่อื่น ทำให้กระทบต่อนโยบายที่จะกระจายอุตสาหกรรมออกไปยังต่างจังหวัดอย่างรุนแรงด้วย ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะเอาใจใส่มากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าคิดแค่ว่าธุรกิจใหญ่อยู่ได้ ก็กลายเป็นว่าแทนที่จะช่วยให้คนมีโอกาสมีรายได้ที่ดีขึ้น กลายเป็นการซ้ำเติมประชาชนมากกว่า”

ดังนั้น โอกาสที่จะเกิดปัญหาเงินเฟ้อและเงินฝืดควบคู่กันต่อระบบเศรษฐกิจไทยในปีนี้จึงมีความเป็นไปได้ เพราะมีความเสี่ยงในเรื่องต้นทุนด้านอาหารที่มีความไม่แน่นอนอาจทำให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ประชาชนบางส่วนมีความเสี่ยงที่จะตกงาน จึงอยากให้รัฐบาลใส่ใจให้มาก และยังไม่เข้าใจว่าเหตุใดรัฐบาลจึงปฏิเสธแนวคิดของเอกชนที่ขอให้ตั้งกองทุนช่วยชดเชยเป็นการชั่วคราวเพื่อให้ปรับตัวได้ โดยเงินที่จะใช้เมื่อเทียบกับเงินที่ขาดทุนจากโครงการจำนำข้าวในส่วนที่ไม่ไปถึงมือชาวนาแสนล้าน เอามาแค่ครึ่่งเดียวก็สามารถแก้ปัญหานี้ได้แล้ว ทั้งนี้ หากเกิดปัญหาเงินเฟ้อกับเงินฝืดคู่กัน ประชาชนจะอยู่ในภาวะยากลำบากมาก เพราะหลายคนไม่มีรายได้ คนที่มีรายได้จะเจอค่าครองชีพที่สูงขึ้น และจะก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรมและปัญหาสังคมตามมาด้วย เพราะข้ออ้างที่ว่าแรงงานมีรายได้เพิ่มนั้นเป็นแค่บางส่วนเท่านั้นไม่ได้สอดคล้องกับความจริง เพราะมีจำนวนมากที่นอกจากไม่ได้ประโยชน์แล้วยังได้รับผลกระทบจากนโยบายนี้ด้วยทำให้ผลประโยชน์ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากอย่างที่รับบาลเข้าใจ จึงไม่อยากให้ผิดพลาดซ้ำรอยเหมือนกับเรื่องการส่งออกข้าวที่เคยบอกว่าเกษตรกรจะรายได้ดีขึ้นแม้ส่งออกข้าวไม่ได้ แต่สุดท้ายอุตสาหกรรมข้าวไทยกำลังประสบกับปัญหา ซึ่งในที่สุดคนที่เดือดร้อนก็คือเกษตรกรไทย เช่นเดียวกับธุรกิจ ถ้าแข่งขันไม่ได้จากต้นทุนที่สูงขึ้นปัญหาก็จะย้อนกลับมาหาผู้ใช้แรงงานในที่สุด จึงไม่อยากให้รัฐบาลเอาภาพลวงตาระยะสั้นหรือความชะล่าใจของสถานะในอดีตมากำหนดทิศทางนโยบาย

“ถ้ารัฐบาลยังคิดแต่จะกินบุญเก่าที่รัฐบาลที่แล้วสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจเอาไว้ สุดท้ายก็หมด และเวลานี้นโยบายจำนำข้าวก็เห็นแล้วว่าภายในปีเดียวทำให้ไทยเสียแชมป์การส่งออกข้าวไปแล้ว นโยบาย 300 บาท ถ้าไม่มีมาตรการรองรับก็จะเห็นความเสียหายในแง่ของอุตสาหกรรมในหลายจังหวัด ทำให้โอกาสของประชาชนและผู้ใช้แรงงานหลุดลอยไป เราเคยหวังว่าประชาชนจำนวนมากจะมีโอกาสในการประกอบอาชีพใกล้บ้าน แต่ถ้ารัฐบาลทำอย่างนี้จะเป็นการย้อนยุคกลับไปสู่การดึงดูดทุกอย่างเข้ามาในพื้นที่ที่มีความพร้อมมากกว่า อย่าง กทม. ปีเศษที่ผ่านมาผมคิดว่าหลายเรื่องรัฐบาลได้ทำลายโอกาสและสร้างความเสียหายให้กับประชาชนและประเทศชาติไปแล้ว เช่น อุตสาหกรรมข้าว อย่าให้เรื่อง 300 บาท ลุกลามจนส่งผลกระทบต่อศักยภาพการแข่งขันของประเทศโดยรวมอีกเลย และผมเชื่อว่าธุรกิจที่ปิดกิจการไปในขณะนี้เกิดจากผลกระทบเรื่องนโยบายค่าแรง 300 ทั่วประเทศ ถ้าไม่มีเรื่องนี้ก็ไม่ปิดกิจการ รัฐบาลจึงไม่ควรคิดแค่จะปัดให้พ้นตัวแต่ควรคิดแก้ปัญหามากกว่า” นายอภิสิทธิ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น