รมต.สำนักนายกฯ ชี้ประธานวิปรัฐบาลลาออกไม่กระทบงาน โยนให้พรรคหาตัวเสียบแทน บอกแนวทางแก้ รธน.มีเพียง 3 ทาง พ้อเร็วก็ว่าช้าก็บ่น ข้อเสนอ “ภูมิธรรม” ให้สถาบันการศึกษาร่วมวงศึกษาแนวทางแก้ รธน.เป็นเพียงขั้นตอน เตรียมคุย “พงศ์เทพ” เพิ่ม ส่วนกรณีศาล รธน. นัดฟังคำวินิจฉัยคุณสมบัติ 1 ก.พ. มั่นใจตัวเองไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
วันนี้ (9 ม.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 16.00 น. นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ นายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ลาออกจากตำแหน่งวิปรัฐบาล ว่า คงไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของวิปรัฐบาล เพราะมีรองประธาน มีคณะกรรมการอยู่ และนายอุดมเดชก็ไม่ได้หนีไปไหน ส่วนกระแสข่าวจะตั้งนายวิทยา บุรณศิริ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคเพื่อไทยนั้น ตนไม่ทราบ ขึ้นอยู่กับพรรคจะพิจารณาและเสนอต่อนายกฯ เพื่อแต่งตั้งต่อไป
ส่วนความคืบหน้าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายวราเทพกล่าวว่า ขณะนี้แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังคงมี 3 แนวทาง แต่แนวทางของนายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย เสนอให้สถาบันการศึกษาศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ไม่ใช่แนวทางที่ 4 แต่เป็นขั้นตอนการทำงาน เพื่อให้เชื่อมั่นว่าจะเอาแนวทางไหนดีกว่ากัน ส่วนที่มีนักวิชาการออกมาระบุว่าเป็นการยื้อเวลานั้น เป็นเรื่องที่พูดยากตรงที่บอกว่า เร็วก็ว่า ช้าก็บ่น เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เหมือนที่นายกฯ ได้พูดไว้ว่าเป็นเรื่องสำคัญแต่ไม่จำเป็นต้องเร่งรัด ถึงขนาดขาดความรอบคอบ ส่วนระยะเวลาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เร็วหรือช้าจะมีผลต่อการทำงานของรัฐบาลหรือไม่นั้น อาจจะมีส่วนประกอบอยู่บ้างแต่รัฐบาลก็ไม่หยุดในการทำงานในหน้าที่ตามนโยบาย
เมื่อถามถึงการนัดหมายพูดคุยกับ กกต. นายวราเทพกล่าวว่า ได้นัดกันเวลา 13.30 น. ซึ่งเลขาธิการ กกต.และคณะจะเป็นตัวแทนมาพูดคุย โดยหัวข้อในการพูดคุยนั้นจะเป็นบทบาทของ กกต.หากจะมีการทำประชามติ ตามกฎหมายซึ่งจะปรึกษาหารือกัน เมื่อถามถึงความชัดเจนการให้สถาบันการศึกษา ร่วมศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น นายวราเทพกล่าวว่า ในเรื่องนี้ต้องรอฟังนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ศึกษาธิการ เพราะจะเป็นผู้รับผิดชอบในด้านนี้ ซึ่งนายพงศ์เทพคงคิดแนวทางไว้แล้ว และในวันที่ 11 ม.ค.จะมีการพูดคุยในเรื่องนี้ หลังจากหารือกับ กกต.แล้ว ส่วนแนวโน้มจะเป็นอย่างไรนั้นยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะคณะทำงานศึกษาข้อกฎหมายและวิธีการออกเสียงประชามติ จะเป็นการศึกษาการทำประชามติ และก่อนหน้านี้คิดว่าจะทำงานกันในระยะเวลา 1 เดือน แต่เมื่อมีข้อเสนอให้สถาบันการศึกษาทำการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้ามา จึงต้องมาปรับกันอีกว่าจะทำอย่างไร และหลังจากวันที่ 11 แล้วอาจจะได้ความชัดเจนมากขึ้น
ส่วนกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยกรณี ส.ว.ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 (3) ประกอบมาตรา 174 (5) จากกรณีที่ต้องคำพิพากษา จำคุก 2 ปี และให้รอลงอาญา 2 ปี ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีทุจริตหวยบนดินหรือไม่ ในวันที่ 1 ก.พ.ว่า ตนยังมั่นใจเหมือนตั้งแต่วันแรกว่ามีเจตนาที่บริสุทธิ์ว่าเรามีคุณสมบัติที่ครบ และกระบวนการตรวจสอบที่ทางเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ได้ดำเนินการ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ตนได้ทำคำชี้แจงส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญไปเรียบร้อยแล้ว ส่วนหากศาลวินิจฉัยว่าไม่ขัดจะทำให้การทำงานง่ายขึ้นหรือไม่นั้น ตั้งแต่ตนทำงานก็ไม่ได้คิดอะไร เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีผู้ร้องเรื่องคุณสมบัติ กฎหมายก็คุ้มครองอยู่แล้วว่าการร้องเรื่องคุณสมบัติผลจะออกมาเป็นอย่างไรก็ตามจะไม่กระทบกับสิ่งที่ดำเนินการไป เพราะรัฐธรรมนูญให้การคุ้มครอง