xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” แย้มลากยาวแก้ รธน.กลัววุ่น ปัดตอบยุบศาล รธน.-ศาลฎีกาฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (แฟ้มภาพ)
“ยิ่งลักษณ์” ชิ่งหนีแนวคิด “เฉลิม” แก้ รธน.รายมาตรา เรียกแขก ชี้เป็นแต่ข้อเสนอของคนคนเดียว โยนโหวตเป็นเรื่องฝ่ายนิติบัญญัติ แย้มแนวคิดรัฐบาลไม่เร่งรัด ยื้อเวลาศึกษารายละเอียด รอทุกฝ่ายเห็นพ้องจึงเดินหน้า หนุนแนวคิดให้อาจารย์มหาวิทยาลัยร่วมหาทางออก ปัดตอบข้อเสนอ อนุฯ แก้ รธน.ยุบศาล รธน.-ศาลฎิกาแผนกคดีอาญานักการเมือง ผู้ตรวจการฯ

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์หลังการประชุม ครม. ถึงกรณีที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราว่า แนวคิดการแก้ไขรายมาตรา เป็นข้อเสนอของ ร.ต.ต.เฉลิม ยังไม่ถือเป็นมติของใครใดๆ ทั้งสิ้น โดยส่วนตัวเห็นว่าเรามีหน้าที่ทำอย่างไรให้บ้านเมืองเดินได้และเป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย อันนี้เป็นประเด็นมากกว่า แต่การที่จะโหวตวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ คือ รัฐสภา ที่จะต้องไปหารือกับสมาชิกในสภาฯ ว่าวาระที่ค้างอยู่นี้จะทำอย่างไรต่อไป พร้อมกับนำข้อแนะนำหรือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาพิจารณาพร้อมๆ กันด้วยว่าคณะรัฐสภาจะตัดสินใจอย่างไร รัฐบาลเป็นเพียงแค่กระบวนการระดมความคิดเห็นเท่านั้น ขณะนี้คงรอคณะทำงานศึกษาแนวทางด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เสร็จโดยเร็วหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เราอยากเห็นประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชนเพื่อให้ประชาชนได้สามารถใช้รัฐธรรมนูญนี้ตรงกับความต้องการและเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ แต่เราไม่อยากเห็นการเร่งรัดจนทำให้เกิดความไม่สงบ ความไม่สามัคคี หรือความเป็นกังวลของประชาชน นั่นคือสิ่งที่เราคงต้องพูดคุยกันมากกว่าและเมื่อไรที่เราเห็นพ้องต้องกันเมื่อนั้นคงจะเป็นเวลาที่เหมาะสม แต่ถ้าความคิดเห็นยังไม่ตรงกันเรามองว่าควรจะศึกษาให้ละเอียดก่อน

ผู้สื่อข่าวถามว่าแนวคิดที่จะให้อาจารย์มหาวิทยาลัยมาเป็นคนกลางในการหาทางออกได้คุยกันหรือยัง นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า อันนี้เป็นข้อเสนอจากที่ประชุม ซึ่งคณะทำงานมีแนวโน้มที่จะรับตรงนี้ แต่คงต้องรอคณะทำงานฯ เสนอคณะรัฐมนตรี แต่อย่างไรก็ตาม ในความคิดเห็นนี้เป็นความคิดที่ดี เพราะมีประเด็นเรื่องการตีความข้อกฎหมาย ซึ่งหลายๆ ท่านเห็นแล้วว่าข้อกฎหมายอยู่ที่มุมของการตีความด้วย ซึ่งต้องตีความตามตัวบทของรัฐธรรมนูญปี 2550 ขณะเดียวกันต้องตีความตามข้อวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะมีผลอย่างไร ฉะนั้นจึงไม่สามารถที่จะใช้ข้อมูลแค่เฉพาะบางกลุ่มเท่านั้น เลยมองว่าต้องให้ผู้ที่มีความรู้ด้านของนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ หรือทางคณะอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญตรงนี้หารือก่อนว่าการตีความต่างๆ นั้นเป็นอย่างไร เพื่อให้แต่ละกลุ่มเกิดความสบายใจ เพราะรายละเอียดเนื้อหายังมีความเข้าใจที่ไม่ตรงกันอยู่

น.ส.ยิ่งลักษณ์ปฏิเสธที่จะตอบคำถามกรณีที่อนุกรรมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนฯ เสนอยุบศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมมือง และผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยเดินไปขึ้นรถส่วนตัวไปทันที


กำลังโหลดความคิดเห็น