xs
xsm
sm
md
lg

"ธิดาแดง-ตู่"บุกศาลรธน. เค้นถามโหวตวาระ3ได้หรือไม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย ในฐานะทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า สิ่งที่พรรคเพื่อไทยจะทำหลังจากนี้ มี 3 แนวทางคือ
1. กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ทำหนังสือถามศาลรัฐธรรมนูญ ให้ชี้แจงข้อสงสัยในคำวินิจฉัยของศาล เกี่ยวกับการทำประชามติ และการโหวต วาระ 3 ว่าควรเป็นอย่างไร
2. ให้สถาบันการศึกษาช่วยหาทางออกถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คาดว่าจะใช้เวลา 60 วัน 3. การนำเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าหารือต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภา หาทางออก เพราะเรื่องดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของรัฐสภาโดยตรง เนื่องจากการโหวตวาระ 3 ยังค้างอยู่ในระเบียบวาระการประชุม ซึ่งอาจจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกัน ระหว่าง ส.ส. -ส.ว. มาช่วยหาทางออก จะได้ถือเป็นแนวทางปฏิบัติไปในทางเดียวกัน เช่น สมมติว่าคณะกรรมาธิการฯ เสนอให้คว่ำการโหวตรัฐธรรมนูญ วาระ 3 แล้วเห็นว่าควรแก้ไขเป็นรายมาตรา ตรงนี้ก็จะใช้เป็นข้อยุติทันที ในขณะนี้อะไรที่เป็นปัญหาสุ่มเสี่ยง ก็ไม่ควรทำ
ด้านนพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในวันที่ 10 ม.ค.นี้ เวลา 10.30 น. นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช. และนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. จะไปยื่นหนังสือต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้ตอบข้อสงสัยในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าจะเอาอย่างไรใน 2 ประเด็น คือ 1. การโหวตวาระ 3 ทำได้หรือไม่ 2. การทำประชามติ จะต้องทำอย่างไร ซึ่งทั้ง 2 ข้อ ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องชี้ให้ชัด ไม่ควรทำให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัย และอย่าให้คนอื่นไปคิดกันเอง

** รัฐบาลไม่ได้ยื้อแก้รธน.

นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าขณะนี้แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังคงมี 3 แนวทาง แต่แนวทางของ นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทยที่เสนอให้ สถาบันการศึกษา ศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ไม่ใช่แนวทางที่ 4 แต่เป็นขั้นตอนการทำงาน เพื่อให้เชื่อมั่นว่าจะเอาแนวทางไหนดีกว่ากัน
ส่วนที่มีนักวิชาการออกมาระบุว่าเป็นการยื้อเวลานั้น เป็นเรื่องที่พูดยาก ตรงที่บอกว่า เร็วก็ว่า ช้าก็บ่น เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เหมือนที่นายกฯได้พูดไว้ว่าเป็นเรื่องสำคัญ แต่ไม่จำเป็นต้องเร่งรัดจนความรอบคอบ ส่วนระยะเวลาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เร็วหรือช้า จะมีผลต่อการทำงานของรัฐบาลหรือไม่นั้น อาจจะมีส่วนประกอบอยู่บ้าง แต่รัฐบาลก็ไม่หยุดในการทำงานในหน้าที่ตามนโยบาย
เมื่อถามถึงการนัดหมายพูดคุยกับกกต. นายวราเทพ กล่าวว่า ได้นัดกันเวลา 13.30 น. ซึ่งเลขาธิการกกต. และคณะ จะเป็นตัวแทนมาพูดคุย โดยหัวข้อในการพูดคุยนั้น จะเป็นบทบาทของ กกต. หากจะมีการทำประชามติ ตามกฎหมายซึ่งจะปรึกษาหารือกัน
เมื่อถามถึงความชัดเจนการให้สถาบันการศึกษา ร่วมศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น นายวราเทพ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องรอฟัง นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ศึกษาธิการ เพราะจะเป็นผู้รับผิดชอบในด้านนี้ และนายพงศ์เทพ คงคิดแนวทางไว้แล้ว ในวันที่ 11 ม.ค. จะมีการพูดคุยในเรื่องนี้ หลังจากหารือกับกกต. แล้ว ส่วนแนวโน้มจะเป็นอย่างไรนั้น ยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะ คณะทำงานศึกษาข้อกฎหมายและวิธีการออกเสียงประชามติ จะเป็นการศึกษาการทำประชามติ และก่อนหน้านี้คิดว่าจะทำงานกันในระยะเวลา 1 เดือน แต่เมื่อมีข้อเสนอให้สถาบันการศึกษาทำการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้ามา จึงต้องมาปรับกันอีกว่าจะทำอย่างไร และหลังจากวันที่ 11ม.ค. แล้วอาจจะได้ความชัดเจนมากขึ้น

**กกต.แจงอุปสรรคการทำประชามติ

นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการสำนักงาน กกต. กล่าวถึงกรณี นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการคณะทำงานศึกษาข้อกฎหมายและวิธีการออกเสียงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้เชิญกกต.ไปหารือเรื่องการจัดทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยได้รับการประสานให้ไปร่วมหารือที่ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 11 ม.ค. เวลา 13.30 น. ซึ่งตนและนายธนินศร์ ศรีประเทศ รองเลขาธิการด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกประชามติ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จะไปรับฟังความคิดเห็นจากคณะทำงาน โดยจะนำเสนอประเด็นที่เป็นปัญหา และอุปสรรค หากรัฐบาลจะมีการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญจริง เช่น เรื่องที่กฎหมายกำหนดให้การออกเสียงประชามติกระทำในวันเดียว แต่ก็มีการกำหนดให้คนไทยที่อยู่นอกราชอาณาจักร สามารถออกเสียงได้ รวมถึงกรณีหากมีการประกาศให้มีการทำประชามติ กกต.จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน120 วัน โดยระหว่างนั้น หากมีการยื่นร้องต่อศาลปกครองสูงสุด และหากศาลรับไว้พิจารณา กกต.ต้องหยุดการดำเนินการประชามติ จนกว่าศาลจะมีคำสั่ง หรือคำพิพากษา ซึ่งช่วงเวลาที่หายไปในระหว่างการพิจารณาของศาล ที่อาจะเกินจาก 120 วัน ซึ่งกฎหมายกำหนด จะนับกันอย่างไร กฎหมายไม่ได้ระบุไว้
"จริงอยู่หากจะขจัดปัญหาอุปสรรคเหล่านี้ ต้องแก้กฎหมาย ซึ่งต้องใช้กระบวนการของสภาฯ แต่คณะของกกต. ที่ไป มีหน้าที่ไปรับฟัง และแจ้งให้ทราบถึงปัญหาอุปสรรคหากมีการทำประชามติ ตามที่กกต.มอบหมายเท่านั้น ไม่มีหน้าที่จะไปเสนอว่า ปัญหาอุปสรรคเหล่านี้จะต้องแก้ด้วยวิธีใด เพราะหน้าที่นี้เป็นของฝ่ายการเมือง" นายภุชงค์ กล่าว และว่า ขณะนี้ ร่างระเบียบว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ยังอยู่ระหว่างการปรับแก้ของสำนักงานเป็นครั้งที่ 5 ตามมติ กกต. ก่อนที่จะเสนอต่อที่ประชุมกกต. พิจารณาอีกครั้งในสัปดาห์หน้า

** ตั้งกก.ไต่สวนกรณีร้องยุบพรรคปชป.

นอกจากนี้ในกรณีที่ นายเรืองไกร และนายหนึ่งดิน วิมุตตินันท์ ชมรมนักกฎหมายผู้รักความเป็นธรรม ได้ยื่นขอให้กกต. ตรวจสอบการกระทำของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กรณีมีจดหมายเปิดผนึกผ่านทางเฟซบุ๊ก ส่งถึงคนไทยทุกคนให้ร่วมกันคว่ำการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ กรณีกล่าวปราศรัยที่ จ.นครปฐม เชิญชวนประชาชนไม่ให้ไปลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าเข้าข่ายกระทำผิด พ.ร.ป.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และพ.ร.บ.พรรคการเมืองที่เป็นเหตุให้ต้องยุบพรรคหรือไม่นั้น นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานกกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง มีคำสั่งลงวันที่ 2 ม.ค. ให้ตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง โดยให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน

**อัด"ปู"ดึงนักวิชาการซื้อเวลาแก้รธน.

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ให้สถาบันการศึกษาเป็นผู้หาทางออกในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการทำประชามติ ว่า น่าจะเป็นการซื้อเวลามากกว่า เพราะยังไม่สามารถหาช่องทางที่จะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่แฝงเร้นได้ จึงเป็นไปได้ว่ารัฐบาลจะใช้สถาบันการศึกษา มาเป็นตราประทับ เพื่อเป็นข้ออ้างในการหาข้อยุติ ซึ่งทางที่ดีนายกฯควรเร่งตัดสินใจว่า จะดำเนินการอย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อบ้านเมืองดีกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น