xs
xsm
sm
md
lg

เลขาฯ กกต.จ่อคุย รบ.ถกปัญหาประชามติแก้ รธน.-พตส.ยังไม่เชิญ “นช.แม้ว” วิทยากร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. (ภาพจากแฟ้ม)
เลขาฯ กกต.แถลงเตรียมเสนอประเด็นปัญหาและอุปสรรคทำประชามติแก้ รธน.ต่อรัฐบาลศุกร์นี้ ตั้งคณะกรรมการสอบยุบพรรค ปชป. กรณี “อภิสิทธิ์-สุเทพ” ร้องคว่ำประชามติ และตั้งอนุสอบคุณสมบัติ “ก่อแก้ว” ส่วนที่ประชุม กกต.เห็นชอบรับจดทะเบียนพรรค “ทวงคืนผืนป่าประเทศไทย” ของอดีตอธิบดีกรมอุทยานฯ เพิ่มเงินค่าเสี่ยงภัยบุคลากร 3 จังหวัดชายแดนใต้คนละ 5 พัน-ประกันชีวิต 2 ล้าน เผย พตส.ยังไม่พิจารณาเชิญ “ทักษิณ” เป็นวิทยากร


วันนี้ (9 ม.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อาคารศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. แถลงว่า กรณีที่นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการคณะทำงานศึกษาข้อกฎหมายและวิธีการออกเสียงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ เชิญ กกต.ไปหารือเรื่องการจัดทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ได้รับการประสานให้ร่วมหารือที่ตึกบัญชาการทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 11 ม.ค. เวลา 13.30 น. ซึ่งตนและนายธนินศร์ ศรีประเทศ รองเลขาธิการด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกประชามติ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะไปรับฟังความคิดจากคณะทำงาน

โดยจะนำเสนอประเด็นที่เป็นปัญหาและอุปสรรค หากรัฐบาลจะมีการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญจริง เช่น เรื่องที่กฎหมายกำหนดให้การออกเสียงประชามติกระทำในวันเดียว แต่ก็มีการกำหนดให้คนไทยที่อยู่นอกราชอาณาจักรสามารถออกเสียงได้ รวมถึงกรณีหากมีการประกาศให้มีการทำประชามติ กกต.จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน โดยระหว่างนั้นหากมีการยื่นร้องต่อศาลปกครองสูงสุด และรับไว้พิจารณา กกต.ต้องหยุดการดำเนินการประชามติ จนกว่าศาลจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษา ซึ่งช่วงเวลาที่หายไปในระหว่างการพิจารณาของศาลที่อาจะเกินจาก 120 วันซึ่งกฎหมายกำหนด จะนับกันอย่างไร กฎหมายไม่ได้ระบุไว้

“จริงอยู่หากจะขจัดปัญหาอุปสรรคเหล่านี้ต้องแก้กฎหมาย ซึ่งต้องใช้กระบวนการของสภาฯ แต่คณะของ กกต.ที่ไปมีหน้าที่ไปรับฟังและแจ้งให้ทราบถึงปัญหาอุปสรรคหากมีการทำประชามติ ตามที่ กกต.มอบหมายเท่านั้น ไม่มีหน้าที่จะไปเสนอว่าปัญหาอุปสรรคเหล่านี้จะต้องแก้ด้วยวิธีการใด เพราะหน้าที่นี้เป็นของฝ่ายการเมือง” นายภุชงค์กล่าว และว่า ขณะนี้ร่างระเบียบว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ยังอยู่ระหว่างการปรับแก้ของสำนักงานเป็นครั้งที่ 5 ตามมติ กกต. ก่อนที่จะเสนอต่อที่ประชุม กกต.พิจารณาอีกครั้งในสัปดาห์หน้า

นอกจากนี้ ในกรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา และนายหนึ่งดิน วิมุตตินันท์ แกนนำชมรมนักกฎหมายผู้รักความเป็นธรรม ได้ยื่นขอให้ กกต.ตรวจสอบการกระทำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กรณีมีจดหมายเปิดผนึกผ่านทางเฟซบุ๊กส่งถึงคนไทยทุกคนให้ร่วมกันคว่ำการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ กรณีปราศรัยที่ จ.นครปฐม เชิญชวนประชาชนไม่ให้ไปลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าเข้าข่ายกระทำผิด พ.ร.ป.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และ พ.ร.บ.พรรคการเมืองที่เป็นเหตุให้ต้องยุบพรรคหรือไม่นั้น นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง มีคำสั่งลงวันที่ 2 ม.ค.ให้ตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงโดยให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน

นายภุชงค์กล่าวต่อว่า กกต. มีมติตั้งอนุกรรมการไต่สวนกรณีที่นายเรืองไกร ขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติการเป็น ส.ส.ของนายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ที่ถูกคุมขังเพราะศาลอาญาถอนประกัน ว่าสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 106 (4) ประกอบมาตรา 101 (3) และมาตรา 100 (3) ประกอบ พ.ร.บ.พรรคเมืองมาตรา 8, 19, 20 หรือไม่ และขอให้ส่งเรื่องไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 91 โดยให้ดำเนินการสอบสวนให้แล้วเสร็จภายใน 30 หลังจากที่ก่อนหน้านี้นายเรืองไกร ได้มาให้ถ้อยคำเพิ่มเติมในประเด็นที่มีการกล่าวหาเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2555 ต่อสำนักกฎหมายและคดี

ส่วนการประชุม กกต.เมื่อวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุม กกต.มีมติรับเห็นชอบกับการที่นายทะเบียนพรรคการเมืองรับจดแจ้งจัดตั้งพรรค ทวงคืนผืนป่าประเทศไทย ของนายดำรงค์ พิเดช อดีตอธิบดีกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืชแล้ว ซึ่งหลังจากนี้พรรคจะต้องจัดหาสมาชิกพรรคให้ได้ 5 พันคนอย่างน้อยใน 4 ภาค ภายใน 1 ปี นอกจากนี้ ที่ประชุม กกต.ยังมีมติให้มีการเพิ่มเงินค่าเสี่ยงภัยให้กับบุคคลากรด้านการเลือกตั้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จ.ยะลา ปัตตานี นราธิวาส จากเดิมคนละ 3,750 บาท เป็นคนละ 5,000 บาท พร้อมทั้งเพิ่มเบี้ยประกันชีวิตจากเดิม 1 ล้านบาท เป็น 2 ล้านบาทด้วย

ส่วนกรณีที่นักศึกษาหลักสูตรพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง หรือ พตส. รุ่นที่ 4 มีแนวคิดเชิญ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มาบรรยายให้กับนักศึกษาว่า เรื่องนี้เป็นการพูดคุยของนักศึกษา ซึ่งการจะเชิญใครมาบรรยาย ตามระเบียบการจัดการศึกษาของ พตส. กำหนดให้คณะกรรมการกำกับหลักสูตร ที่มีตนเองเป็นประธาน และมีนักวิชาการ ตัวแทนพรรคการเมือง ร่วมเป็นกรรมการ เป็นผู้พิจารณา ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการยังไม่มีการพูดคุยในเรื่องดังกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น