xs
xsm
sm
md
lg

ครม.สัญจร : โอกาสและความท้าทายภาคเหนือตอนล่าง

เผยแพร่:   โดย: ไพศาล อินทสิงห์

คณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดจัดประชุม ครม.สัญจรครั้งต่อไป ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ในวันที่ 21-22 มค.56 ถือเป็นโชคดี และโอกาสอุตรดิตถ์

ทั้งให้เพชรบูรณ์ ตาก สุโขทัย และพิษณุโลก โดยผู้ว่าราชการจังหวัด (ผวจ.) เข้าร่วมประชุมและเสนอความคิดโครงการพัฒนาต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่

เป็นโอกาสภาคเหนือตอนล่าง

เป้าหมาย ครม.สัญจร มิเพียงเป็นการประชุมนอกสถานที่ ยังต้องการออกมาเห็นปัญหา ความต้องการของประชาชน การพัฒนาด้านต่างๆ ของจังหวัด พร้อมหาทางส่งเสริม และสนับสนุนงบประมาณที่เหมาะสม ขึ้นกับความจำเป็นเร่งด่วน และลำดับความสำคัญก่อน-หลัง

ที่ยังยากยังจนอยู่ ทำอย่างไรให้มีรายได้เพิ่มขึ้น พอกินพอใช้ หรือเศรษฐกิจพอเพียง

ที่ยังมีปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน เป็นอุปสรรคในการดำรงชีวิต น้ำไม่ไหล ไฟไม่สว่าง ถนนหนทางไม่สะดวก หรือกระทั่งหมู่บ้านไม่มีไฟฟ้าใช้ จะแก้ไขอย่างไร

อะไรที่ยังขาด หรือปัจจัยใดยังไม่เกื้อหนุน ทำให้เสียเปรียบในการแข่งขันยุคใหม่ จะต้องเพิ่มศักยภาพอย่างไร รวมถึงปัญหาภัยธรรมชาติ น้ำท่วม ภัยแล้ง ฯลฯ

อยู่ที่ผู้นำภาครัฐ ภาคเอกชน 5 จังหวัดดังกล่าว จะเขียนโครงการ เพื่อตอบโจทย์ ครม.สัญจรอย่างไร เป็นคำถามชวนคิดประการที่ 1

คำถามชวนคิดประการที่ 2 : คงมิเพียงเสนอโครงการ ได้งบ แล้วจบ มีอะไรอีกมั้ย ที่ผู้นำจังหวัดควรจะจูนคลื่นกับครม.สัญจร นานๆ จะแวะเวียนมาสักที ไม่รู้จะมาอีกหรือไม่ เมื่อใด?

หากไม่ใช้โอกาส ก็อาจไม่มีโอกาส (ให้ใช้) อีกแล้ว หรือไม่ ประการใด

ซึ่งอยากชวนผู้อ่านร่วมคิด โดยเฉพาะผู้อ่านในภาคเหนือตอนล่าง อาจเห็นด้วย เห็นต่าง หรือเห็นมากกว่าผู้เขียน ทุกๆ ความเห็นล้วนเป็นผลดี และประโยชน์ต่อสังคม ประเทศชาติของเรา

ในฐานะเป็นประชาชนคนหนึ่งในภาคเหนือตอนล่าง ก็มองว่า จะดีหรือไม่ ประการใด หาก ผวจ.จะใช้เวทีนี้จูนคลื่น สร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจครม.สัญจรเที่ยวนี้ ด้วยการสื่อสารให้นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี มองเห็นเป้าหมายและทิศทางการพัฒนาเติบโตอย่างไร ไปสู่จุดใด อะไรที่อยากเน้นทำก่อน และรองๆ ลงไป หรือเน้นทำไปพร้อมๆ กันได้

ด้วยกลวิธีสร้าง “แบรนด์(Brand)จังหวัด”

เป็นแนวคิดธุรกิจ แต่ก็อาจนำมาประยุกต์ใช้ที่เหมาะสมและลงตัวได้ อยู่ที่กลยุทธ์ผู้ใช้

จะดีหรือไม่ ประการใด หากชูภาพจังหวัด หรือแบรนด์จังหวัด และสื่อสารออกไป ต้องการเน้นให้สังคมเห็นภาพอะไร อย่างไร หรือจะให้โดดเด่นด้านใด ก็ว่าไป

อยากเห็นตำแหน่งของแบรนด์ อยู่ตรงไหน ขึ้นกับปริมาณและคุณภาพการกระทำและผลงาน (กิจกรรมโครงการ) ของจังหวัด ถือเป็นดัชนีชี้วัดความสำเร็จ หรือล้มเหลว

ซึ่งจะส่งผลสะท้อนแบรนด์จังหวัด ให้เป็นที่จดจำ รับรู้ของประชาชน (ยกตัวอย่างประกอบตอนท้ายบทความ)

บริหารการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เพื่อให้แบรนด์เข้มแข็ง แข็งแกร่งยิ่งขึ้น มีภารกิจโครงการใหม่ๆ อะไรบ้าง ที่จะใส่เข้าไป เพื่อให้เกิดความถี่และความต่อเนื่อง ก็ทำได้ เพื่อตอกย้ำแบรนด์ให้ประชาชนเชื่อถือ เชื่อมั่น

นั่นคือ จุดขาย

ในทางธุรกิจ ถ้าประชาชนเชื่อถือ เชื่อมั่น ผลิตสินค้าใด ก็ได้การตอบรับ

ในทางราชการ ถ้าประชาชนเชื่อถือ เชื่อมั่น ทำโครงการใด ก็ได้ความร่วมมือ

มิเพียงบอกกล่าวจุดขายของจังหวัด ยังต้องสื่อสารจูงใจครม. เพื่อนำไปสู่การสนับสนุน ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ทั้งด้านบริหารจัดการ เครื่องจักร เครื่องมือ และงบประมาณ เป็นต้น

อาจพา ครม.ไปดูสถานที่จริง ถ้าจำเป็น เนื่องจาก ครม.อุตส่าห์มาเยือนถึงที่แล้ว

ภารกิจจังหวัดมีมากมายหลายเรื่อง และหลากหลายด้าน จะขายอะไร หรือชูภาพเป้าหมายด้านใด หยิบด้านนั้นมาสร้างแบรนด์

เช่น เพชรบูรณ์ชูแบรนด์การท่องเที่ยว (เขาค้อ) อุตรดิตถ์ พิษณุโลก สุโขทัย และตากจะชูอะไร

ชูแล้ว ตีปี๊บประชาสัมพันธ์(PR)ด้วย

เป็นโอกาสและความท้าทายภาคเหนือตอนล่าง

หากทำได้ เป้าหมายจังหวัดเพชรบูรณ์ที่จะดึงประชาชน นักท่องเที่ยวให้เข้ามาท่องเที่ยว และพักค้างในจำนวนวันมากขึ้น ก็มิใช่เรื่องไกลตัว

ยิ่งปรับแบรนด์ให้แข็งขึ้น โดดเด่นขึ้น เป้าหมายที่จะทำให้ตำแหน่งของแบรนด์จังหวัดน่าเที่ยวอันดับต้นๆ ก็ไม่ไกลเกินเอื้อม

อยู่ที่ต้องอ่านขาดจะชูอะไร จุดขายใด ตอกย้ำด้วยการกระทำกิจกรรมโครงการอะไร มากน้อยเท่าใด โดยเฉพาะโครงการใหม่ๆ และสร้างสรรค์ ไม่มีที่ไหน มามีที่นี่(เพชรบูรณ์) ขึ้นกับการออกแบบกิจกรรมโครงการด้วย

หากทำได้ ก็พักหลายคืน ไม่เช่นนั้น แค่แวะผ่านพัก 1 คืน แล้วขึ้นเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน

เพชรบูรณ์ได้ ภาคเหนือตอนล่างได้

ภาคเหนือตอนล่างได้ ประเทศได้

ประเทศได้ รัฐบาลได้

“จุดขาย” ไม่จำเป็นต้องได้เป็นตัวเงิน เช่น รายได้จากการท่องเที่ยว ฯลฯ อาจเป็นกระแสตอบรับจากประชาชน เสียงเชียร์ คะแนนนิยม เช่น กรณีของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่เน้นชูทวงคืนผืนป่า เอาจริง จับจริง รื้อจริงกับผู้บุกรุกโดยอธิบดี ดำรงค์ พิเดช

ผลงานโดดเด่น เด่นชัด กระทั่งสังคมให้เป็นแบรนด์กรมฯ ไปแล้ว

นึกถึงป่า นึกถึงอธิบดีดำรงค์ (แม้วันนี้ท่านจะเกษียณแล้ว แต่ประชาชนก็ยังอยากให้ลุยต่อ เพราะสร้างผลงานเป็นประโยชน์ให้ประเทศ)

อยู่ที่ท่านมโนพัศ หัวเมืองแก้ว อธิบดีคนใหม่ที่มาแทนท่านดำรงค์ คงจะต้องลุยต่อ และฝากฝีมือให้สังคม เพราะประชาชนคาดหวัง เพื่อรักษา คงไว้ซึ่งแบรนด์กรมฯ

และมิเพียงคงไว้ ต้องพัฒนาแบรนด์ให้โดดเด่นขึ้นอีกด้วย แบรนด์จมเมื่อใด สังคมก็ลดเสียงเชียร์เมื่อนั้น

ลดเสียงเชียร์ลงเท่าใด ลดคุณค่าแบรนด์ลงเท่านั้น

นึกถึงป่า นึกถึงกรมอุทยานฯ

นึกถึงบึงกาฬ นึกถึงสินค้าเกษตรยางพารา

นึกถึงถนนหนทาง นึกถึงสุพรรณบุรี ซึ่งครั้งหนึ่ง ผวจ.(ในขณะนั้น) และท่านบรรหาร ศิลปอาชา สร้างผลงานไว้

คนรับรู้ จดจำได้ ไม่มีลืม

ขนาดสังคมให้เป็นแบรนด์ไปแล้ว “บรรหารบุรี”

เป็นความสำเร็จของแบรนด์ที่วัดได้ สัมผัสได้

ครม.สัญจร : โอกาสและความท้าทายภาคเหนือตอนล่าง อยู่ที่จังหวัดควรเล่นกับแบรนด์อย่างไร จึงจะสร้างมูลค่าเพิ่มจังหวัด

หนึ่ง วิสัยทัศน์ผู้นำในการกำหนดแบรนด์

สอง การสื่อสารแบรนด์ของผู้นำ

ผวจ.ในฐานะผู้นำ จะต้องฉวยใช้การสื่อสาร “วิสัยทัศน์” แก่ ครม.หรือรัฐมนตรีต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และชี้แนะให้เห็นว่า จะนำองค์กรจังหวัดไปสู่ความสำเร็จก้าวหน้า โอกาสเติบโตอย่างไร และนำประชาชนในพื้นที่จังหวัดไปสู่คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นอย่างไร

ดึงจุดแข็ง เป็นจุดขาย

ชูจุดขาย เป็นแบรนด์

และมิเพียงชี้แนะ ยังต้องชี้นำให้ ครม.สัญจรเห็นชอบที่จะส่งเสริมและสนับสนุนการทำให้บรรลุซึ่งผลวิสัยทัศน์ หรือแบรนด์นั้นๆ ด้วย

ผวจ.มุ่งสื่อสารกับนายกรัฐมนตรี

มอบหัวหน้าส่วนราชการจังหวัด สื่อสารกับรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงที่เกี่ยวข้อง อาทิ คลังจังหวัดสื่อสารกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อุตสาหกรรมจังหวัดสื่อสารกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พาณิชย์จังหวัดสื่อสารกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น

จะชิงสื่อสารกับรัฐมนตรีอย่างไร อยู่ที่เทคนิคกลวิธีของหัวหน้าส่วนราชการ

ไม่ต้องกลัว ครม.ตำหนิ แต่จะนึกขอบคุณ ผวจ.ด้วยซ้ำที่ช่วยคิด ช่วยมอง ช่วยทำการบ้าน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ประชาชนในจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง

อย่างไรก็ตาม มิเพียงสื่อสารออกไป ยังต้องรับฟังเข้ามา โดยใช้หลัก PR เพื่อฟังว่า ครม.รัฐมนตรีต่างๆ จะมีความเห็นอย่างไร มีอะไรแนะนำ หรือให้นโยบายการทำงานอย่างไร เห็นชอบ หรือสั่งการอย่างไร มีเสียงสะท้อนอย่างไร

เพื่อปรับแบรนด์ให้สอดคล้อง สนองตอบความต้องการฝ่ายนโยบาย

แบรนด์ไม่เคยหยุดนิ่ง และปล่อยให้หยุดนิ่งก็ไม่ได้ เพราะคำว่า “คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนต้องดีขึ้น และดีขึ้นเรื่อยๆ”

เป็นธุรกิจ แบรนด์นิ่งเมื่อใด คู่แข่งก็แซง (ยอดขาย) เมื่อนั้น เป็นราชการ แบรนด์นิ่งเมื่อใด จังหวัดอื่นก็แซง (ผลงาน) เมื่อนั้น แบรนด์จังหวัดจะประสบผลสำเร็จ มากน้อยเพียงใด

ขึ้นกับวิสัยทัศน์ที่ชู และ PR ที่ใช้!!

paisuni@nu.ac.th
กำลังโหลดความคิดเห็น