xs
xsm
sm
md
lg

“ธาริต” เตือน “สุขุมพันธุ์-แฟน ปชป.” ระวังปาก จ่อเอาผิดดูหมิ่นเจ้าพนักงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ภาพจากแฟ้ม)
อธิบดีดีเอสไอ โต้ “สุขุมพันธุ์” อ้างไม่ได้ให้ร้ายอะไรเลย เตือนแฟนคลับ ปชป.ระวังปาก พร้อมจับตาจ่อแจ้งข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงาน อีกด้าน “เด็จพี่” ยื่นฟ้องดีเอสไอฟัน “ผู้ว่าฯ-กทม.กรุงเทพธนาคม-บีทีเอส” รวม 11 คน เพิ่มอีกคดี อ้างบีทีเอสโฆษณาตั้งกองทุนรวม “บีทีเอส โกรท” ส่อฉ้อโกงประชาชน เพราะมีปัญหาคดีความ

วันนี้ (9 ม.ค.) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ในการแถลงข่าวประจำทุกวันพุธ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ กล่าถึงการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในคดีต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอส 30 ปีโดยมิชอบว่า ในระหว่างการแจ้งข้อกล่าวหา ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ และนายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯ กทม.ได้พูดเชิงตำหนิติติงว่า ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งขอให้ดีเอสไอระมัดวังในการที่จะพูออะไรที่จะเป็นการให้ร้าย ดังนั้นตนก็ยืนยันว่าดีเอสไอไม่ได้พูดอะไรในทางที่ให้ร้ายผู้ว่าฯ กทม. หรือพูดอะไรที่จะทำให้ไปกระทบกระเทือนการเลือกตั้งเลย โดยจะพูดเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีเท่านั้น

นายธาริตกล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน ทางดีเอสไอก็มีข้อสังเกตว่าฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาก็ออกมาพูดรายวันอยู่เช่นกัน ซึ่งคำพูดหลายอย่างก็หมิ่นเหม่อยู่เช่นกัน ตัวอย่างเช่น ระบุว่าดีเอสไอดำเนินการไม่ถูกต้องและปฏิบัติหน้าที่ไม่ให้ความเป็นธรรมกับฝ่ายตน ทั้งนี้จึงอยากจะชี้แจงว่า ทางดีเอสไอก็จะพิจารณาการใช้สิทธิเช่นเดียวกันว่า การกล่าวอ้างหรือว่าการพูดบางอย่างนั้นมันอาจจะเป็นความผิดได้ ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวเท็จ หรือดูหมิ่นเจ้าหน้าที่พนักงาน

“หากเจ้าพนักงานปฏิบัติงานแล้วถูกดูหมิ่นว่าร้ายในทางกฎหมายก็ถือว่าเป็นผิด ดังนั้นเราก็จะระมัดระวังไม่ได้ประสงค์จะโต้ตอบ แต่ก็อยากจะเตือนผู้เกี่ยวข้องกับคดีและกลุ่มแฟนคลับว่าอยากขอให้ระมัดระวัง อย่าทำอะไรที่มันเข้าข่ายผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ซึ่งดีเอสไอจะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด” นายธาริตกล่าว

นายธาริตกล่าวด้วยว่า โดยสรุปแล้วการแจ้งข้อกล่าวหาและการพิมพ์ลายนิ้วมือและการทำประวัติต่างๆ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งเราได้ปฏิบัติกับทั้งคู่อย่างให้เกียรติ เพราะถือเป็นผู้ใหญ่ในบ้านเมือง วันนี้มีเพียงผู้ถูกกล่าวหา 2 รายเท่านั้นที่เข้ารับฟังข้อกล่าวหา ส่วนผู้ต้องหาที่เหลืออีกจำนวนหนึ่ง ได้ขอเลื่อนการรับทราบข้อกล่าวหาไปเป็นวันที่ 15-17 ม.ค.นี้

เมื่อถามว่าทางผู้ว่าฯ กทม.ยังมีข้อสงสัยในบ้างประเด็น นายธาริตกล่าวว่า เรื่องนี้หลายฝ่ายพูดว่าทำไมดีเอสไอไม่ดำเนินคดีความผิดต่อเจ้าพนักงานกับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ รองผู้ว่าฯ ปลัด และรองปลัด กทม. ที่ดีเอสไอไม่ดำเนินคดีตามมาตรา 157 นั้น เพราะว่าตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในเรื่องนี้ไม่ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ แต่กระทำผิดเพราะใช้อำนาจหน้าที่ของคนอื่น คือความผิดต่อเจ้าพนักงาน ต้องหมายความว่าเจ้าพนักงานมีหน้าที่นั้นแล้วก็ใช้หน้าที่นั้นไปทุจริตหรือแสวงหาอำนาจอันมิควรได้สำหรับตนเองหรือผู้อื่น อย่างนี้เป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ แต่เรื่องนี้ทั้งทั้งหมดไม่ได้มีหน้าที่ในการอนุมัติสัมปทาน เพราะหน้าที่อนุมัติสัมปทานเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย การที่ไปเอาหน้าที่ของคนอื่นมาใช้ จึงไม่ใช่การปฏิบัติในหน้าที่ของตัวเอง

ดังนั้น ในเรื่องนี้มีคำพิพากษาของศาลฎีกาชัดเจนว่า ไม่ถือว่าเป็นการปฏิบัติในหน้าที่หรือในตำแหน่ง มันจึงไม่ใช่เรื่องตามมาตรา 157 แต่เป็นเรื่องของกฎหมาย ป.วิอาญา มาตรา 58 ซึ่งก็จะแยกย่อยออกมาเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์อีกส่วนหนึ่ง ยิ่งความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ยิ่งชัดเจนเลยว่าไม่ได้เกี่ยวกับหน้าที่เลย เพราหน้าที่ของผู้ว่าฯ กทม. ไม่ได้มีหน้าที่ที่จะไปสนับสนุนส่งเสริมให้บีทีเอสไปตั้งกองทุนในอนาคตแล้วเสนอขายหุ้นเลย แต่หากเข้าไปเกี่ยวข้อง ไปสนับสนุน ก็เข้าข่ายความผิด ในลักษณะนี้ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ แต่เป็นเรื่องการกระทำที่เป็นส่วนตัว

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เมื่อเวลา 14.00 น.ที่ผ่านมา นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย เข้ายื่นหนังสือคำร้องต่อนายธาริต เพื่อให้สอบสวนดำเนินคดีต่อ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ พร้อมพวกรวม 11 ราย ที่ถูกแจ้งข้อหาในคดีต่อสัมปทานบีทีเอสโดยไม่ได้รับอนุญาตไปก่อนหน้านี้ ในฐานฉ้อโกงประชาชน และความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรณีร่วมกันต่อสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอสโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก รมว.มหาดไทย ตามคำสั่งคณะปฎิวัติ พ.ศ. 2515 ก่อนมีการนำสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอสไปตั้งกองทุนขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เบื้องต้นนายธาริต เพ็งดิษฐ์ เซ็นรับคำร้องรับเรื่องไว้สอบสวนทันที

นายพร้อมพงศ์กล่าวว่า ตนมายื่นเรื่องร้องเรียนกรณีที่บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมบัวหลวง จำกัด ได้ร่วมกันจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางรางบีทีเอส โกรท ขณะนี้อยู่ระหว่างการขอจัดตั้งต่อ ก.ล.ต. ปรากฏว่า กองทุนบัวหลวงได้ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ชักชวนให้มีการลงทุนในกองทุน แม้ท้ายโฆษณาจะระบุว่าเอกสารการโฆษณาไม่ใช่การเสนอขายหลักทรัพย์หรือการชี้ชวน แต่ตนเห็นว่า อาจหมิ่นเหม่ที่อาจขัดต่อกฎหมาย โดยมีข้อสังเกตดังนี้ 1. กองทุนนี้ตั้งขึ้นเป็นผลมาจากรณี กทม.โดยบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ทำสัญญากับบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร หรือบีทีเอสซี ระยะเวลา 30 ปี อย่างเร่งด่วน น่าจะแสดงให้เห็นว่าเจตนาตั้งแต่แรกว่า การทำสัญญาของ กทม.ดังกล่าว น่าจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของเอกชนในการนำผลของสัญญาไปร่วมกันจัดตั้งกองทุน เพื่อหาผลประโยชน์

โฆษกพรรคเพื่อไทยกล่าวอีกว่า เพราะหากไม่มีการต่อสัญญากองทุนนี้ก็จะเกิดไม่ได้ 2. กทม.และผู้บริหารของบีทีเอสซี อยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีจากดีเอสไอ อันมีมูลจากการทำสัญญาดังกล่าว เพราะมูลคาการลงทุนตามสัญญาเกินกว่า 1 พันล้านบาท ต้องปฎิบัติตามกฎหมายร่วมทุน และต้องได้รับอนุญาตจาก รมว.มหาดไทย เมื่อการทำสัญญาไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย สัญญานั้นย่อมเป็นโมฆะ การขอจัดตั้งกองทุนและการโฆษณาในลักษณะให้มีการลงทุนเช่นนี้น่าจะเข้าข่าย ที่อาจจะหลอกลวงประชาชนหรือไม่ ดังนั้นจึงมีการไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะมีการโฆษณาในลักษณะให้มีการลงทุนใน กองทุน ซึ่งยังจัดตั้งไม่แล้วเสร็จ และยังมีปัญหาด้านคดีความ จึงมายื่นหนังสือต่ออธิบดีดีเอสไอ ให้สอบสวนเรื่องนี้ว่า เป็นการกระทำความผิดต่อ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์และกฎหมายอาญาฐานฉ้อโกงประชาชนหรือไม่

นายธาริตกล่าวว่า เรื่องที่นายพร้อมพงศ์ มาร้องเรียนเพิ่มจะตั้งเรื่องนี้เป็นคดีใหม่ มอบให้ ผบ.สำนักคดีการเงินการธนาคาร ดีเอสไอ รับผิดชอบ เพราะเป็นคดีที่ละเอียดซับซ้อน มีนัยสำคัญ มีคำถามว่าทำไมจะต้องเร่งรีบทำสัญญาทั้งส่วนต่อขยายและที่สำคัญก็คือการขยายระยะเวลาหรือ ที่เรียกว่าการขยายสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอส ในทางกฎหมายคดีใหม่จะเป็นมูลเหตุจูงใจว่าทำไมจึงมีการเร่งรีบและกระทำการที่เข้าข่ายความผิดของคดีแรกคือการต่อ สัมปทานในทางกฎหมายอาญาเรียกว่า เป็นมูลเหตุจูงใจว่าเหตุที่เร่งรีบทำและอาจจะเข้าข่ายกระทำกฎหมายในครั้งแรก เพราะมีเหตุจูงใจต่อประโยชน์ที่จะได้รับ ในเรื่องที่โฆษกพรรคเพื่อไทย มาร้องและเป็นที่ดีเอสไอได้ตรวจสอบต่อไป นายพร้อมพงศ์ได้นำแผ่นซีดีมามอบให้การนำเอาผลต่อสัญญาต่อสัมปทานบีทีเอสไปใช้ประโยชน์ในหน่วยลงทุนของ บีทีเอสด้วย และข่าวที่โฆษณการลงทุน มอบให้ดีเอสไอ เรื่องใหม่นี้กรมสอบสวนคดีพิเศษถือว่าเป็นเรื่องให้ความสำคัญจริงจังเพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับประชาชนโดยตรง และเป็นการกระทำผิดที่เข้าอำนาจดีเอสไอ สามารถดำเนินการได้เอง

อธิบดีดีเอสไอกล่าวอีกว่า เราต้องเร่งรีบทำแต่คงไม่ถึงขั้นเรียกว่าวิกฤตการณ์ เพราะทางบีทีเอสเร่งดำเนินการโฆษณาข้ามวันข้ามคืนเพื่อจะขายกองทุนนี้แล้วคดีก็มาเกิดตอนนี้ คงจะต้องเร่งรีบดำเนินการเพื่อให้ความจริงปรากฏแก่สาธารณชนด้วย ตนอยากให้ รมว.มหาดไทยเร่งดำเนินการอะไรสักอย่างหนึ่งตามที่ดีเอสไอมีหนังสือแจ้งท่านไปว่า ให้พิจารณากล่าวอ้างบอกความเป็นโมฆะของสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอสทั้ง 2 ฉบับ ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาลุกลามต่อเนื่องกันไป ต่อข้อถามว่า ดีเอสไอต้องดำเนินการสั่งห้ามโฆษณาดังกล่าวของบีทีเอส หรือมีคำแนะประชาชนอย่างไร อธิบดีดีเอสไอกล่าวว่า ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ดีเอสไอไม่เคยเจอว่าถ้าจะมีการกระทำความผิด ซึ่งเป็นการกระทำความผิดในวินาทีที่ต่อเนื่องแล้วจะทำอย่างไร คดีที่ 2 เป็นคดีในรับผิดชอบของดีเอสไอ ก็มีความกังวลมาก เราเร่งรีบดำเนินการให้ความจริงปรากฏ เบื้องต้นยังไม่มีการชี้ว่ามีการทำผิด แต่ว่ามีนัยยะสำคัญที่จำเป็นต้องมีการสืบสวนสอบสวนแน่นอน แต่ไม่สามารถไปสั่งยับยั้งห้ามโฆษณาหรือหยุดซื้อ หยุดขายนั้นไม่ใช่หน้าที่เรา แต่เป็นวิจารณญาณของผู้ที่จะลงทุนเองว่าจะตัดสินอย่างไรเพราะเป็นเรื่องที่ มีปัญหาในขณะนี้ระหว่างถูกกับผิดซึ่งจะเกิดผลกระทบกับนักลงทุนอย่างแน่นอน ทั้งนี้ ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่เรากังวลมาก และดีเอสไอจะได้ตรวจสอบข้อมูลว่าขณะนี้มีผู้เข้าไปซื้อหน่วยลงทุนจากกรณีดัง กล่าวมากน้อยเพียงใด

พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ ผบ.สำนักคดีการเงินการธนาคาร ดีเอสไอ กล่าวอีกว่า กรณีนี้สืบเนื่องจากกรณีที่บริษัทบีทีเอส ได้ทำสัญญาเชื่อมต่อการขยายระยะเวลาสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอส เนื่องจากบริษัทบีทีเอสเป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ จะมีสิ่งที่เกี่ยวเนื่องผูกพันกับการดำเนินการของบริษัทในบริษัทมหาชนซึ่งอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ กรณีนี้จากการตรวจสอบหรือการเผยแพร่ ข่าวโดยทั่วไปของทางบริษัทเอง บริษัทได้นำโครงการนี้เข้าสู่ระบบของการจัดตั้งกองทุน ที่ต้องขออนุมัติต่อคณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เรียกว่ากองทุนอินฟราสตรัคเจอร์ฟันด์ หรือเรียกว่ากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน อธิบายโดยย่อๆ ว่า ทางบีทีเอสได้นำเอารายได้ซึ่งเกิดขึ้นในอนาคตของบริษัทซึ่งได้จากการทำสัญญา ต่อเนื่องออกไปขายให้กับกองทุนนี้เป็นมูลค่าโดยประมาณ 5-6 หมื่นล้านบาท ตามระยะเวลาทั้งหมด บริษัทบีทีเอสจะได้เงินจากองทุนนี้มาก่อนล่วงหน้า คือไม่ต้องรอเก็บเงินเป็นรายเดือน หรือรายปี ตามที่บริษัทดำเนินการ แต่จะได้เงินทั้งก้อน โดยให้เหตุผลว่าเพื่อนำมาลงทุนในโครงการของบริษัทต่อไปในอนาคตเป็นการขยาย ธุรกิจหรือเพื่อความเติบโตทางธุรกิจของตนเอง

ผบ.สำนักคดีการเงินการธนาคาร ดีเอสไอ กล่าวด้วยว่า ตอนนี้ทราบว่าได้ยื่นทาง ก.ล.ต.เพื่อขอจัดตั้งกองทุนซึ่งมีมูลค่ารายได้เกิดขึ้นในอนาคตสูง 5-6 หมื่นล้านบาทในอนาคต ทั้งนี้ บริษัทจะได้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้มาล่วงหน้าซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการทำสัญญา หากถามว่าจะมีความเกี่ยวข้องกับความผิดใดบ้าง สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เราคงต้องใช้กฎหมายในเงื่อนไขเหล่านี้เข้าไปตรวจสอบ ไม่ว่าการรับรู้รายได้ต่างๆ รายได้ที่ได้มา การประมาณค่า ประมาณการต่างๆ ที่มีการนำเสนอ เพราะว่ากองทุนนี้ต้องเปิดขายสู่สาธารณชน และประชาชนทั่วไป เพราะฉะนั้นการประมวลเนื้อหาทั้งหมด การประมาณการรายได้ การลงบัญชี ซึ่งต้องมีหลักอ้างอิงว่าเป็นจริงตามที่มีการเสนอข้อมูลแก่สาธารณชนและประชาชน ไม่ใช่การนำเสนอเพื่อประโยชน์แก่บริษัท หรือผู้ได้ประโยชน์แต่ฝ่ายเดียว เพราะทางกองทุนนี้ต้องถูกนำเสนอหรือจำหน่ายให้กับประชาชนโดยทั่วไป ส่วนในรายละเอียดทั้งการทำบัญชี เงื่อนไขการทำกองทุน ซึ่งจะต้องตรวจสอบอีกหลายขั้นตอน


กำลังโหลดความคิดเห็น