โฆษกประชาธิปัตย์ป้องแทนนาย ยัน “อภิสิทธิ์” ปกป้องอธิปไตย ไล่นายกฯ เตือน “ปึ้ง” อย่าใส่ร้ายฝ่ายตรงข้าม จี้พูดยืนยันพื้นที่สันปันน้ำเป็นของสยาม แก้ตัวส่งทนายไปสู้ในศาลโลกไม่เสียหาย แถมยังกั๊กจะรับอำนาจหรือไม่ จวกส่อผิดมติ ครม.ปล่อยเขมรประชุมมรดกโลกฝ่ายเดียว ถาม พท.ชงแก้ ม.309 ประชาชนได้อะไร ยันมีแต่นักการเมืองชั่วได้ประโยชน์ วอนชาวบ้านเห็นธาตุแท้เห็นตัวเองสำคัญกว่าแก้ปัญหาชาติ สวน “ปู” ลอยตัวกับไม่รับผิดชอบคือคำเดียวกัน
วันนี้ (8 ธ.ค.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวตอบโต้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ออกมาระบุไม่อยากให้นำเรื่องประเด็นปราสาทพระวิหารเป็นเรื่องการเมือง โดยยืนยันว่าการดำเนินการของรัฐบาลที่แล้วซึ่งมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นไปเพื่อการปกป้องศักดิ์ศรี อธิปไตย ผลประโยชน์ของคนในชาติและประชาชน สิ่งที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมาจนนำไปสู่การปะทะกับกัมพูชา ไทยไม่เคยเริ่มต้นก่อน แต่จำเป็นต้องปกป้องสิทธิและอธิปไตยของชาติ โดยไม่มีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่คนที่นำการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้คือคนในรัฐบาล โดยเฉพาะนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ ที่ออกมาระบุว่าไทยอาจแพ้ในคดีนี้และพยายามโทษว่าเป็นความผิดของรัฐบาลชุดที่แล้ว จึงอยากให้นายกรัฐมนตรีเตือนคนของตัวเองว่าอย่านำเรื่องความมั่นคงมาหาผลประโยชน์ทางการเมืองด้วยการใส่ร้ายฝ่ายตรงกันข้าม
นายชวนนท์กล่าวว่า ทั้งนี้ยังเรียกร้องให้นายกฯแสดงออกให้ชัดเจนต่อคนไทยว่าพื้นที่ตามบริเวณสันปันน้ำเป็นแผ่นดินไทยทั้งหมด เพื่อให้เห็นว่านี่คือยุทธศาสตร์จึงเจตนารมณ์ของรัฐบาลในการต่อสู้กับกัมพูชาในทุกเวที เพราะตนไม่สบายใจคำพูดของคนในรัฐบาลที่แสดงให้เห็นว่าไม่มีความรู้ในเรืองนี้ทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ เช่น ระบุว่าเป็นพื้นที่ทับซ้อนซึ่งความจริงคือพื้นที่พิพาทและเรามั่นใจว่าเป็นของไทย นอกจากนี้ นายกฯ เองก็เคยพูดว่าไม่รู้พื้นที่ดังกล่าวเป็นของใคร ก่อนที่จะกลับลำแก้ตัวผ่านเฟซบุ๊กหลังถูกโจมตี ดังนั้นจึงขอให้แสดงจุดยืนให้ชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางการต่อสู้เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคนไทยด้วย
นายชวนนท์ชี้แจงด้วยว่า มีความเข้าใจผิดว่าประเทศไทยต้องยอมรับอำนาจศาลโลกหรือไม่ และรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ นำเรื่องนี้ไปสู่ศาลโลกทำไม จึงขอชี้แจงว่ารัฐบาล ปชป.ไม่ได้นำเรื่องนี้ขึ้นสู่ศาลโลก แต่กัมพูชาเป็นผู้นำเรื่องขึ้นไปเพราะไม่ได้ตามเจตนารมณ์ของตัวเองในเรื่องการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งการขึ้นสู่การพิจารณาของศาลโลกนั้น กัมพูชาขอให้ตีความคำพิพากษาเดิมให้ศาลโลกได้พิจารณา จึงเป็นเรื่องเก่าที่แม้ไทยจะไม่ไปต่อสู้ที่ศาลโลก ศาลและกัมพูชาก็จะพิจารณาฝ่ายเดียวได้อยู่ดี ดังนั้นการส่งทีมทนายความไปให้ข้อมูลจึงไม่มีอะไรเสียหาย ไม่ได้หมายความว่าเราจะรับหรือไม่รับอำนาจของศาลโลก ส่วนหลังจากนั้นปลายปีจะมีคำพิพากษาอย่างไร คนไทยทั้งประเทศปรึกษาหารือกันได้ว่าจะเดินหน้าอย่างไร แต่ตอนนี้เร็วเกินไปที่จะพูดว่าจะรับหรือไม่รับอำนาจศาล เพราะยังมีทางออกอีกหลายประการ ซึ่งรัฐบาลต้องหยุดนำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นการเมือง เพราะที่ผ่านมาท่าทีชัดเจนว่าไม่เอาจริงเอาจัง แต่โหนกระแสไปวันๆ มีการพลิกคำพูดทั้งนายกฯ และ รมว.ต่างประเทศ จึงอยากให้เดินหน้าจุดยืนประเทศให้มั่นคงในการต่อสู้กับกัมพูชา
“ฝากไปถึงนายกฯ ให้เรียก รมว.ต่างประเทศมาถามว่า ทำไมจึงปล่อยให้กัมพูชาเป็นเจ้าภาพการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกในปีนี้แต่เพียงฝ่ายเดียว เพราะถ้าไม่มีมติ ครม.ในเรื่องนี้ก็เท่ากับมีการกระทำที่ฝืนมติ ครม.ยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ ที่ระบุชัดว่าหากกัมพูชาขอเป็นเจ้าภาพการประชุมกรรมการมรดกโลก ไทยจะเสนอตัวเข้าแข่งขันทุกครั้ง ดังนั้น หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงมติ ครม.ดังกล่าวก็เท่ากับมีการกระทำที่ฝ่าฝืน มติ ครม.สมัยรัฐบาลชุดก่อนด้วย”
นอกจากนี้ นายชวนนท์กล่าวถึงข้อเสนอของคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญของสภาฯ ที่เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 309 ยุบองค์กรอิสระ ตัดทอนอำนาจศาลนั้นว่า อยากถามว่าที่เสนอมาประชาชนได้อะไร มีแต่นักการเมืองชั่วที่ได้ประโยชน์ เพราะตัดอำนาจการตรวจสอบ องค์กรอิสระ ผู้ที่จะทำงานคานอำนาจกับฝ่ายบริหารในระบอบประชาธิปไตย และถาม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือยังว่ารัฐรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตยประชาชนทำมาหากินลำบากตรงไหน หรือพูดไม่หมดว่าที่หากินลำบากคือตัวเองและนักการเมืองชั่วๆ จึงคิดว่าประชาชนควรเห็นตัวตนที่แท้จริงว่าคนเหล่านี้มองประโยชน์ตัวเองสำคัญกว่าประโยชน์ของประชาชน ไม่สนใจแก้ปัญหาไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากค่าแรง 300 จนนายกรัฐมนตรีมีการท้าฝ่ายค้านให้นำข้อมูลไปเสนอเกี่ยวกับผลกระทบนั้น คิดว่าให้พวกตนไปเป็นรัฐบาลจะดีกว่า เพราะคนเป็นนายกฯเรียกข้อมูลมาดูได้ตลอดเวลา มีแรงงานได้รับผลกระทบแล้ว ทั้งปิดกิจการ ย้ายฐานการผลิต ถูกเลิกจ้าง เหล่านี้คือข้อเท็จจริงอยากให้นายกฯ ดู ไม่ใช่ปฏิเสธความรับผิดชอบโดยอ้างว่าไม่รู้ผลกระทบ และขาดมาตรการเยียวยาที่ชัดเจนอย่างที่เป็นอยู่ เพราะสิ่งที่รัฐบาลทำอยู่นั้นไม่ได้ช่วยเหลือภาคเอกชนอย่างแท้จริง
“เราสนับสนุนการคำนวณส่วนต่างของค่าแรงที่เพิ่มขึ้นของเอสเอ็มอี จากรายจ่ายค่าแรงจริงภายในเวลา 2 ปี โดยรัฐบาลเข้าไปชดเชยให้เอสเอ็มอี เชื่อว่าใช้เงินไม่มาก หากเปรียบเทียบกับโครงการจำนำข้าวที่เสียหายปีละ 1.5 แสนล้าน และโครงการรถยนต์คันแรก 1 แสนล้าน การชดเชยดังกล่าวจะคุ้มค่ากว่า อย่าเล่นการเมืองเพียงเพราะว่าข้อเสนอนี้มาจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายกฯ ต้องเลิกลอยตัวเหนือปัญหา เพราะคำว่าลอยตัวกับคำว่าไม่รับผิดชอบ เป็นคำคำเดียวกัน” นายชวนนท์ กล่าว