xs
xsm
sm
md
lg

ม.รังสิต ชี้ข่าวคดีปล้นบ้านปลัดพันล้านโกงอื้อฉาวสุดในรอบงบปี 55

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม (แฟ้มภาพ)
วิทยาลัยนวัตกรรม ม.รังสิต จัด 10 อันดับข่าวคอร์รัปชันไทยปีงบ 55 ชี้ คดีปล้นบ้านปลัดคมนาคมอื้อฉาวสุด ฮั้วประมูล 3จี-จำนำข้าว รองลงมา ระบุโกงสอบนายสิบ ตร.ฉาวคอร์รัปชันบริหาร คดีไร่ส้มโกงภาคธรุกิจ ส่วนคดีดีเอสไอตั้งข้อหา “มาร์ค-เทือก” สั่งฆ่าประชาชน คอร์รัปชันทางการเมือง

วันนี้ (25 ธ.ค.) วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ได้จัด 10 อันดับ ข่าวอื้อฉาวที่สุดเกี่ยวกับการคอร์รัปชันของประเทศไทย ประจำปี 2555 โดยระบุว่า เป็นการจัดอันดับข่าวความอื้อฉาวเกี่ยวกับการคอร์รัปชันในประเทศไทยประจำปี 2555 กำหนดตามความสนใจของประชาชนที่สนใจข่าวนั้นๆ มีการซุบซิบนินทามากที่สุด และมีการวิพากษ์วิจารณ์ผ่านสื่อต่างๆ มากที่สุด ไม่ใช่ดูจากขนาดความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม

ทั้งนี้ คณะผู้จัดทำได้แบ่งการคอร์รัปชันที่อื้อฉาวออกเป็น 4 ประเภท คือ 1. การคอร์รัปชันทางเศรษฐกิจ เป็นเรื่องของการโกงเงินงบประมาณแผ่นดินหรือการรับสินบนของนักการเมืองและข้าราชการประจำ 2. การคอร์รัปชันทางการเมือง เป็นเรื่องที่รัฐบาลใช้อำนาจโดยมิชอบไปข่มเหงหรือรังแกพรรคการเมืองฝ่ายค้านหรือผู้ที่มีความเห็นแตกต่างจากรัฐบาล 3. การคอร์รัปชันทางการบริหาร เป็นเรื่องของการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการโดยมิได้ยึดหลักคุณธรรมและความสามารถโดยนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐชั้นผู้ใหญ่เช่นอาศัยความเป็นญาติพี่น้อง สมัครพรรคพวกของตนเองเป็นหลัก และ 4. การคอร์รัปชันภาคธุรกิจ เป็นการทุจริตของนักธุรกิจเอกชน เช่นการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐ การเปลี่ยนแปลงแก้ไขตัวเลขบัญชีทางการค้าเพื่อหลอกลวงผู้คนทั่วไป เป็นต้น

โดย 10 อันดับข่าวอื้อฉาวที่สุดเรื่องคอร์รัปชันในปี 2555 ได้แก่ อันดับ 1. การปล้นบ้านอดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ที่ตำรวจสามารถยึดเงินของกลางได้เป็นจำนวนที่มากกว่าที่เจ้าทุกข์แจ้ง ทำให้เกิดข้อสงสัยกันทั่วไปว่าเงินเหล่านั้นน่าจะเป็นเงินที่ได้มาโดยไม่โปร่งใส กรณีนี้ถือเป็นการคอร์รัปชันทางเศรษฐกิจ

2. การฮั้วประมูล 3G ของ กสทช. ที่ไม่มีการแข่งขันจริง ไม่มีผู้ประมูลจากต่างประเทศเข้าแข่งขัน กสทช.กำหนดราคาประมูลต่ำกว่าความเป็นจริง เกิดอำนาจกึ่งผูกขาดในตลาดของบริษัทมือถือ 3 ราย ทำให้ผู้ประกอบการได้กำไรเกินกว่าราคาปกติ รัฐสูญเสียรายได้ และผู้บริโภคต้องเสียค่าบริการที่สูงเกินจริง

3. นโยบายการรับจำนำข้าวที่สูงกว่าราคาตลาดของรัฐบาล ทำให้งบประมาณแผ่นดินของรัฐบาลที่มาจากภาษีอากรของประชาชนเสียหายเป็นเงินนับแสนล้านบาท ซึ่งเป็นการทำลายผลประโยชน์ของประชาชนทั้งประเทศ (Public interest) และแสดงให้เห็นถึงนโยบายที่ขาดความรับผิดชอบต่อส่วนรวมจนสามารถเรียกได้ว่าเป็นการคอร์รัปชันทางเศรษฐกิจ

4. การสอบคัดเลือกเข้าโรงเรียนพลตำรวจ ที่มีข่าวอื้อฉาวว่ามีขบวนการโกงข้อสอบที่สร้างรายได้ให้แก่ตำรวจกลุ่มหนึ่งที่ใช้อำนาจของตนอย่างขาดความรับผิดชอบ และทำให้ผู้สมัครนับหมื่นคนต้องเดือดร้อน จนสามารถจึงเรียกได้ว่าเป็น “คอร์รัปชันทางการบริหาร”

5. กรณีบริษัท ไร่ส้ม ของนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดว่าจ่ายสินบนให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อผลประโยชน์ในการทำธุรกิจ เรียกได้ว่าเป็น “การคอร์รัปชันภาคธุรกิจ”

6. การโยกย้ายเลขาธิการ ป.ป.ท. คือ พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ ไปเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม เนื่องจากเข้าไปตรวจสอบการทุจริตในหน่วยงานราชการบางแห่ง ซึ่งมีผลประโยชน์นับหมื่นล้านบาท เป็นการใช้อำนาจของรัฐบาลที่มิได้ตั้งอยู่บนหลักคุณธรรม และความสามารถ จึงเรียกได้ว่าเป็น “คอร์รัปชันทางการบริหาร”

7. การโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี จากเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ไปเป็นที่ปรึกษาฯ ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยไม่มีความผิด เพียงเพื่อที่จะให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ขึ้นเป็น ผบ.ตร. แล้วให้ ผบ.ตร.ท่านเดิมไปเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงฯ เป็นการแสดงออกถึงการใช้อำนาจของรัฐบาลในการบริหารแผ่นดินอย่างไม่เป็นธรรม จึงเรียกได้ว่าเป็น “คอร์รัปชันทางการบริหาร”

8. งบฟื้นฟูการบริหารจัดการน้ำท่วม 120,000 ล้านบาท กลายเป็นข่าวอื้อฉาวมาก เพราะว่าการประมูลจัดซื้อจัดจ้าง ถูกมองว่าขาดความโปร่งใสเป็นอย่างยิ่งจนเรียกได้ว่าเป็นการคอร์รัปชันทางด้านเศรษฐกิจ

9. กรณีดีเอสไอตั้งข้อกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ว่าสั่งฆ่าประชาชน 99 ศพ เป็นการใช้อำนาจทางการเมืองของรัฐบาลในการกลั่นแกล้งผู้นำฝ่ายค้านอย่างชัดเจน จนสามารถเรียกได้ว่าเป็น “การคอร์รัปชันทางการเมือง”

10. การถอดยศว่าที่ร้อยตรีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ โดย รมว.กลาโหม เป็นการกลั่นแกล้งและใช้อำนาจทางการเมืองโดยมิชอบของ รมว.กลาโหม ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น “การคอร์รัปชันทางการเมือง”


กำลังโหลดความคิดเห็น