xs
xsm
sm
md
lg

หยุดรัฐประหารไฟใต้?!/ปิยะโชติ อินทรนิวาส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ : ด้ามขวานผ่าซาก
โดย...ปิยะโชติ อินทรนิวาส

มีการยืนยันจาก พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) แล้วว่า ฝ่ายความมั่นคงได้ประชุมปรึกษาหารือถึงการจัดทำโครงสร้างของศูนย์ปฏิบัติการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.จชต.) เสร็จเรียบร้อยแล้ว และเตรียมชงเรื่องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงนามอนุมัติ ในวันที่ 24 สิงหาคมนี้ จากนั้น องค์กรที่ถูกตั้งขึ้นมาใหม่ก็จะเดินหน้าได้อย่างสมบูรณ์แบบ

การจัดวางโครงสร้าง ศปก.จชต.ดังกล่าวเป็นไปตามภารกิจสั่งการจาก พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ผู้ที่นายกฯ จะมอบหมายให้นั่งทำหน้าที่ ผอ.ศปก.จชต.ตัวจริง ส่วนคนนั่งเป็นเลขานุการศูนย์ได้แก่ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล เสนาธิการทหารบก แล้วคณะกรรมการคนอื่นๆ ประกอบไปด้วย รองนายกฯ รัฐมนตรี และหัวหน้าส่วนราชการจาก 17 กระทรวง 66 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาไฟใต้

อันเป็นไปท่ามกลางกระแสคัดค้านที่ดังกระหึ่มไปทั่ว โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนใต้ ว่ากันว่า จะมีหลายฝ่ายลุกขึ้นต่อต้านอย่างหนักหน่วง

ส่งผลให้บรรดาผู้นำในรัฐบาล และฝ่ายความมั่นคงต้องชักแถวสลับหน้ากันออกมาให้ข่าวทุกวี่วันว่า ศปก.จชต.ที่ตั้งใหม่จะช่วยเกื้อหนุนการทำงานของทั้งฝ่ายทหาร ตำรวจ และพลเรือนให้คล่องตัวขึ้น สะดวก รวดเร็ว ที่สำคัญสุดคือ เพื่อให้เกิดการบูรณาการของทุกหน่วยงานอย่างเป็นระบบ ไม่เป็นการซ้ำซ้อนกับหน่วยงานที่มีอยู่แล้ว รวมถึงไม่ขัดกฎหมายทั้ง พ.ร.บ.กอ.รมน. และ พ.ร.บ.ศอ.บต.

ในส่วนของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ที่ออกมาโวยวาย ข่มขู่ และเคาะกะโหลกนักข่าวตลอด ถึงขั้นประกาศสั่งการต่อหน้าสื่อว่าจะให้ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ไปพูดคุยทำความเข้าใจกับนายอาซิส เบ็ญหาวัน ประธานสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.) และกรรมการคนอื่นๆ จากที่มีทั้งหมด 49 คน

ทั้งนี้ เพื่อต้องการสยบความเคลื่อนไหวของทุกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย มิพักต้องพูดถึงเสียงคัดค้านของบรรดาพลพรรคฝ่ายค้านอย่างประชาธิปัตย์ ส.ว. นักวิชาการ นักเคลื่อนไหว นักคิด นักเขียน และคอลัมนิสต์มากมายที่แสดงความเห็นกันไปมากแล้ว

เอาแค่ในพื้นที่ชายแดนใต้ตอนนี้ก็มีข่าวว่า สมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ที่ถูกตั้งขึ้นมาให้เดินงานคู่ขนานกับ ศอ.บต.กำลังรวมตัวกันเตรียมไปฟ้องศาลปกครองให้หยุดการขับเคลื่อน ศปก.จชต. เพราะเห็นว่าเป็นการตั้งองค์กรใหม่ที่ซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กปต.) ที่ต่างก็มีนายกฯ นั่งหัวโต๊ะเหมือนกัน และจะมีการดำเนินงานขัดแย้งกับ พ.ร.บ.ศอ.บต.อีกต่างหาก ซึ่งถ้าไม่เป็น ผลกรรมการสภาที่ปรึกษาฯ ทั้ง 49 คนตกลงจะเปิดหมวกลาออกโดยพร้อมเพรียงกัน

ไม่เพียงเท่านั้น ยังแว่วว่ามวลชนจาก 8 เครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ช่วยกันเลือกตั้งคนในสังกัดเข้าไปเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ศอ.บต.กำลังนัดแนะที่จะรวมตัวกันลุกฮือไปทวงถามความจริงใจในการดับไฟใต้ต่อรัฐบาล และเดินทางไปให้กำลังใจหน่วยงานที่มีปฏิสัมพันธ์กับภาคประชาชนมาตลอดอย่าง ศอ.บต.ด้วย

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่เวลานี้ ทั้งสภาที่ปรึกษาฯ และ ศอ.บต.จะกลายเป็นเหมือนหมู่บ้านกระสุนตกไปเสียแล้ว

มีเสียงร่ำลือจากฝ่ายที่รู้ทันให้มีการรื้อปรับโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินในพื้นที่ไฟใต้ โดยการชงขมของกองทัพขึ้นไปให้แก่ฝ่ายการเมืองตั้ง ศปก.จชต.ขึ้นมาใหม่ หากพิจารณาให้ลึกซึ้งถึงแกนแก่นของความต้องการแล้วจะพบว่า ไม่น่าจะเกินเลยอะไรไปจากการที่กองทัพได้เดินหน้าอีกครั้งหนึ่งเพื่อทำ...

“รัฐประหารไฟใต้”

เดี๋ยวก่อน!! อย่าเพิ่งตกอกตกใจกันนะครับ ตามเสียงร่ำลือที่ว่าไม่ได้หมายถึงการยกโขยงเอากำลังพลออกมา แล้วลากรถถังพร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์อื่นๆ มาพร้อมสรรพเพื่อยึดอำนาจเหมือนเหตุการณ์ 19 กันยายน 2549 ซะเมื่อไหร่ แม้วันนี้ตั้งแต่กองทัพภาคที่ 1-4 จากทั่วประเทศได้ส่งกำลังพลพร้อมอาวุธครบมือลงไปที่ชายแดนใต้หลายหมื่นนายแล้วก็ตาม

ตามเสียงร่ำลือของพวกรู้ทันเขามองเห็นเจตนาว่า แท้จริงแล้ว ฝ่ายกองกำลังต้องการรวบอำนาจการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับการดับไฟใต้ไว้ในมือแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่ใช่เพียงแค่ปฏิบัติการทางทหารเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการขับเคลื่อนการพัฒนา และการอำนวยความยุติธรรม ทว่าที่สำคัญที่สุดเห็นจะเป็นการรวบรวม และการจัดสรรงบประมาณต่างๆ ที่เกี่ยวโยงกับการแก้ปัญหาความไม่สงบนั่นเอง

โดยหากมองอย่างผิวเผินก็น่าจะสอดรับกับสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ไม่น้อย เพราะเวลานี้ดูแลค่อนข้างจะหนักหนาสาหัสสากรรจ์เอาการ ทั้งเสียงระเบิด เสียงปืน และเสียงโอดครวญของผู้คนดังระงมไปทั่ว เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ควรจะเป็นหน้าที่ของกองทัพเข้าไปรับผิดชอบเป็นกลไกหลัก ภาพของทหารจึงต้องเป็นฝ่ายเดินนำหน้าทั้งตำรวจ และพลเรือน

แต่โดยข้อเท็จจริง แทบจะทุกฝ่ายเห็นไปในทางเดียวกันว่า สถานการณ์บ้านเมืองเราในเวลานี้มันเดินไปไกลกว่าการที่ผู้กุมบังเหียนอำนาจรัฐจะย้อนกลับไปเอานโยบาย “การทหารนำการเมือง” กลับมาใช้ได้อีกแล้ว แน่นอนปฏิบัติการทางทหารยังจำเป็นต่อพื้นที่ไฟใต้ แต่ก็ต้องเดินไปพร้อมๆ กับด้านการพัฒนา และการอำนวยความยุติธรรม โดยเฉพาะการขับเคลื่อนการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และสังคมควรต้องเป็นทัพหน้า ส่วนการไล่ล่าผู้กระทำความผิดก็ไม่สามารถหยุดลงได้

ดังนี้แล้ว นโยบาย “การเมืองนำการทหาร” น่าจะสอดรับกับความต้องการของสังคมโดยรวมมากกว่า

ที่ผ่านๆ มา ก็มีกระแสเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า การจะให้ไฟใต้มอดดับได้แท้จริงควรต้องมีการตัดวงจรการค้า หรือหากินกับสงครามให้ขาดตอนให้ได้ นอกจากนี้ ยังมีการจี้ใจดำให้กองทัพประเมินตนเองว่า เกือบ 10 ปีที่ไฟใต้ระลอกใหม่ถูกจุดให้คุโชน การเผด็จอำนาจไว้ในมือประสบผลอย่างไรมาแล้วบ้าง อย่างน้อยภาพของหน่วยงานดับไฟใต้ที่เคยเกิดขึ้นจากการชงขมไม่ว่าจะเป็น กอ.สสส.จชต. รวมถึงองค์กรชื่อย่อแปลกๆ อีกมากมายก็น่าจะเป็นบทเรียนได้ดี

ความจริงแล้ว การรัฐประหารไฟใต้ไม่ใช่ไม่เคยเกิดขึ้น แถมที่ต้องถือว่าเป็นการทำรัฐประหารไฟใต้ครั้งล่าสุดที่คนรุ่นเรายังจำได้ดี ก็เป็นฝีมือของนักการเมืองจอมเผด็จการ ผู้นำที่มากมายไปด้วยความอหังการ และมมังการที่สุด โดยอาศัยกองกำลังสีกากีที่ตนเคยสังกัด และยังมีปฏิสัมพันธ์เป็นเครื่องหลักในการคิดสร้างรัฐตำรวจ แล้วตั้งตนเองเป็นนายกฯ ซีอีโอ สร้างระบอบการเมืองสามานย์ และทุนสามานย์ครอบสังคม แม้ในเวลานี้ จะเป็นนักโทษหนีคุกไปเร่ร่อนอยู่ทั่วโลก แต่ก็ยังไม่เลิกจ้องทำร้ายประเทศชาติ และประชาชนคนไทย

คนไทยน่าจะยังจำกันได้ดี นช.ทักษิณ ชินวัตร ที่เถลิงอำนาจรัฐในปี 2544 เพียงไม่นานก็เดินหน้ายึดอำนาจไฟใต้ เขาไม่ได้เคลื่อนกองกำลัง และใช้รถถังแม้แต่น้อย แถมยังไล่ให้ทหารที่ยังคงกำกับดูแลไฟใต้ไม่ให้โชนเปลวมานานต้องถอยกลับเข้ากรมกองไปเสียอีก การสั่งยุบ ศอ.บต. และ พตท.43 แล้วดันตำรวจขึ้นมาใหญ่ พร้อมๆ กับกำราบข้าราชการ นักการเมือง และนักธุรกิจไม่ให้หืออือ นั่นคือการทำรัฐประหารไฟใต้ครั้งประวัติศาสตร์แล้วไง แต่สุดท้าย ก็รักษาอำนาจไฟใต้ไว้ไม่อยู่ ต้องยินยอมคืนบทบาทไปให้แก่ทหารเข้าไปจัดการ แล้วก็พัวพันมาจนถึงวันนี้

สำหรับวันที่ 24 สิงหาคมนี้ ก็เป็นที่รับรู้กันแล้วว่า เมื่อกองทัพชงให้รัฐบาลปูนิ่มมีหรือจะไม่จัดให้
กำลังโหลดความคิดเห็น