xs
xsm
sm
md
lg

“อภิสิทธิ์” ซัดรัฐบาลหางโผล่ แก้กติกาประชามติหวังให้ชนะเพื่อชำเรา รธน.ช่วย “ทักษิณ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (แฟ้มภาพ)
ผู้นำฝ่ายค้านฉะรัฐบาลหางโผล่ แก้กติกาประชามติเพื่อให้ตัวเองชนะ หวังชำเรา รธน. แก้ ม.309 ช่วย “นช.แม้ว” พ้นผิดไม่สง่างาม จี้พาประเทศเดินหน้าแก้ ศก. ห่วงส่งออกโคม่าหลังเป้าหดเหลือแค่ 1% จากที่วางไว้ 15% ยันประเทศชาติทรุดเพราะนโยบายรัฐบาล งง “ยิ่งลักษณ์” ตั้ง “เฉลิม” ดับไฟใต้ทั้งที่ไม่มีใจ ยัน ศปก.กปต.ซ้ำซ้อน ศอ.บต.ทำสับสน ระบุนายกฯ ลอยตัวเหนือปัญหาไม่ได้ ห่วงท่าที่รัฐอ่อนแอเพิ่มความฮึกเหิมโจรใต้

 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง "นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ให้สัมภาษณ์  

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงข่าวที่ว่ารัฐบาลจะแก้กฎหมายประชามติเพื่อให้คะแนนเสียงลดลงก่อนทำประชามติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า สิ่งแรกที่รัฐบาลต้องทำ คือ หากจะแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับจะต้องทำประชามติ จึงจะสอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะทำให้ไม่ต้องเกิดประเด็นโต้แย้งกัน แต่ต้องถามว่าการเดินเรื่องนี้มุ่งไปสูเป้าหมายใด และจะทำให้เกิดความขัดแย้งหรือไม่ การที่พยายามจะแก้กติกาเพื่อให้การกระทำของตัวเองง่ายขึ้นนั้นก็ไม่ค่อยสง่างามเท่าไหร่ ทั้งนี้ถ้าจะทำประชามติก็ไม่จำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายประชามติ

นอกจากนี้ยังมีการยอมรับแล้วว่าต้องการแก้ไขมาตรา 309 ซึ่งต้องถามว่าทำเพื่อประโยชน์ของใคร ตนตั้งข้อสังเกตว่าตั้งแต่ใช้รัฐธารรมนูญปี 50 มา มีการตั้ง คกก.โดยสภาหรือองค์กรอื่นๆ ไม่เคยมีการสรุปว่าต้องแก้ไขมาตรานี้

“แต่พรรคเพื่อไทยมีเป้าหมายมาตั้งแต่ต้นจะแก้ไขมาตรา 309 ช่วยคดี พ.ต.ท.ทักษิณเท่านั้น ผมกำลังจะถามว่า ที่กำลังจะรื้อกฎหมายสูงสุดของประเทศจะลงทุนถึงขั้นทำประชามติ และแก้กฎหมายประชามติให้ตัวเองชนะ เพื่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณพ้นผิดนั้นเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งหากเดินหน้าต่อไปผมก็ต้องถามนายกฯ ว่าทำไมนายกฯ อยากให้มีความขัดแย้งในบ้านเมือง นอกจากจะทำเพื่อคนบางคน ส่วนจะสำเร็จหรือไม่ผมไม่กล้าพยากรณ์ แต่ถ้าเห็นแก่บ้านเมืองมีเรื่องอื่นที่ควรไปทำมากกว่านี้ โดยเฉพาะการแก้ปัญหานโยบายหลักของประเทศที่กำลังกระทบต่อเศรษฐกิจและประชาชน อะไรที่จะทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยย่อมดีกว่าการจุดประเด็นความขัดแย้งขึ้นมา เพราะสังคมไทยทุกข์กับความขัดแย้งที่มีอยู่อยู่แล้ว”

นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงเป้าหมายการส่งออกจากเดิมที่วางไว้ 15% ขณะนี้มีการคาดการณ์ว่าจะเหลือเพียง 1% เท่านั้นว่า ไม่รู้สึกแปลกใจเพราะได้เตือนมาตั้งแต่ต้น แต่สิ่งที่ต้องไปดูคือ การแก้ปัญหาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐบาล เช่น การส่งออกสินค้าการเกษตร รัฐบาลไม่ต้องโทษใครที่ไหนเป็นความผิดที่เกิดจากนโยบายของตัวเอง และต้องไปดูสถานการณ์โลกว่าจะมีมาตรการเชิงรุกส่งเสริมการส่งออกอย่างไร ซึ่งตนเคยเตือนล่วงหน้าให้ไปศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการขึ้นค่าแรง 300 บาทในปีหน้าโดยไม่มีมาตรการช่วยเหลือจะส่งผลกระทบอย่างไรกับผู้ประกอบการ

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้ปัจจัยการส่งออกลดลงเป็นเพราะรัฐบาลมองว่าเกิดจากผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ ปัญหาเกิดจากนโยบายของรัฐบาลเอง เช่น การจำนำข้าว มันสำปะหลัง หากรัฐบาลไม่เปลี่ยนแปลงก็จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกปีหน้าด้วย ส่วนจะถึงขั้นติดลบหรือไม่นั้นยังไม่ทราบและต้องดูยอดการขาดดุลทางการค้าด้วย จึงหวังว่ารัฐบาลจะรีบเร่งปรับนโยบายเพราะมีสัญญาณที่ไม่เป็นบวกและส่งผลกระทบต่อประชาชน ทั้งราคาสินค้า ปัญหากระทบการส่งออก ตลาดแรงงานที่จะปั่นป่วนพอสมควร

นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายยุทธศาสตร์และแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) ว่าการมอบคนที่ไม่มีใจหรือไม่มั่นใจที่จะทำงานก็เป็นเรื่องยาก และแปลกใจว่าทำไมจึงมอบให้กับคนที่ประกาศมาตลอดว่าไม่เต็มใจ ซึ่งไม่ทราบว่านายกฯใช้หลักบริหารแบบใด และเห็นว่าจะเกิดความสับสนระหว่าง ศปก.กปต.กับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต.ที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการอยู่

โดยในวันที่ตนไปให้ข้อมูลกับนายกฯ ก็บอกแล้วว่าอย่าทำแบบนี้พร้อมกับเสนอไปอีกหลายเรื่อง แต่ไม่ดำเนินการเหตุการณ์ในพื้นที่ก็รุนแรงขึ้น พวกตนยังยืนในจุดเดิม โดยนายเจะอามิง โต๊ตาหยง ส.ส.นราธิวาสของพรรคก็ออกมาเตือนว่าจะต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่างไร

ผู้สื่อข่าวถามว่าก่อนหน้านี้นายกฯระบุว่าจะรับผิดชอบการแก้ปัญหาภาคใต้เองแต่ต่อมากลับมอบให้ ร.ต.อ.เฉลิม ถือเป็นการลอยตัวหนีปัญหาหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ลอยตัวไม่ได้ เพราะในการอภิปรายไม่ไว้วางใจพรรคได้แสดงให้เห็นว่าลอยตัวไปไหนไม่ได้เพราะเป็นปัญหาของประเทศและปัญหาใหญ่ของประชาชน ไม่ว่าหัวหน้ารัฐบาลมอบหมายใครหรือไม่มอบหมายใครก็ตาม แต่เมื่อแก้ปัญหาไม่ได้ก็ต้องมาทบทวน ซึ่งตนเห็นว่าน่าเป็นห่วงอย่างมาก โดยเฉพาะหน้าอยากให้แก้ปัญหาเรื่องการ รปภ.ครูให้โรงเรียนกลับมาเปิดได้โดยเร็วที่สุด ซึ่งครูกับโรงเรียนเป็นจุดที่ถูกมองว่าอ่อนแอมีความสุ่มเสี่ยง เป็นเป้า และเป็นสัญลักษณ์ โดยเฉพาะโรงเรียนของรัฐ หากท่าทีรัฐอ่อนแอก็จะยิ่งทำให้ฝ่ายตรงข้ามฮึกเหิมทำให้การแก้ปัญหายากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น