กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ออกแถลงการณ์ “ยุติการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ” ชี้คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นคำพิพากษา อีกทั้งทำเกินขอบเขตอำนาจ ใช้เผด็จการเสียงข้างมาก ขัดหลักการสร้าง “องค์กรผู้ให้รัฐธรรมนูญ” เตือนหากลงมตินำไปสู่ความขัดแย้งครั้งสำคัญของประเทศ เกิดการเผชิญหน้ารัฐสภาและรัฐบาล กับประชาชน
วันนี้ (9 ธ.ค.) กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 7 เรื่องยุติการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ระบุว่า สถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันได้มีการตระเตรียมเสนอต่อรัฐสภาเพื่อให้นำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... ที่ค้างในวาระการประชุมเพื่อลงมติในวาระที่ 3 ต่อไป โดยไม่ดำเนินการตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่18-22/2555 ที่วินิจฉัยไว้โดยสรุปว่า การที่รัฐสภาใช้อำนาจของรัฐสภาในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 291 จนนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของมาตรา 291แต่กลุ่มผู้ตระเตรียมดังกล่าวกลับตีความเองว่าเป็นเพียง “คำแนะนำ” ซึ่งรัฐสภาจะดำเนินการตามหรือไม่ก็ได้
เนื่องในโอกาสที่วันรัฐธรรมนูญได้เวียนมาอีกรอบ กลุ่ม “สยามประชาภิวัฒน์” ได้ติดตามการดำเนินการดังกล่าวแล้วเห็นว่าประเทศไทยยึดถือระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร และยอมรับ “หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ” แต่กลับมีข้อโต้แย้งนานาประการจากนักการเมือง ในหลักการดังกล่าวว่า พวกตนยึดถือ “หลักความมีอำนาจสูงสุดของรัฐสภา” จึงตีความในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 18-22/2555ว่าเป็นเพียง “คำแนะนำ” ดังนั้น กลุ่ม “สยามประชาภิวัฒน์” จึงขอเสนอหลักการทางรัฐธรรมนูญต่อสาธารณชนที่สำคัญ เพื่อพิจารณาประกอบการวินิจฉัยในความพยายามของผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ อันสะท้อนถึงการกระทำที่ไม่ชอบด้วยหลักการทางรัฐธรรมนูญและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ดังนี้
ประการที่ 1 คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 18-22/2555 ที่ได้วินิจฉัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับโดยแก้ไขมาตรา 291 จนนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของมาตรา 291 ไม่ใช่ “คำแนะนำ” ต่อรัฐสภา แต่เป็นคำวินิจฉัยที่เป็น “คำพิพากษา” ตามประเด็นข้อพิพาทของผู้ฟ้องคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้เป็นประเด็นที่ 3 จากจำนวนประเด็นที่ต้องวินิจฉัยจำนวน 4 ประเด็น เป็นการวินิจฉัยปัญหา “ข้อกฎหมาย” จากเจตนารมณ์มาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ตามหลักการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการกระทำของฝ่ายนิติบัญญัติ และเป็นไปตามหลักการในการทำคำวินิจฉัยตามมาตรา 216 วรรคสี่ และมีผลผูกพันรัฐสภาและองค์กรต่างๆ ตามมาตรา 216 วรรคห้า ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 การที่กระทำรัฐสภาและพรรคการเมืองกระทำการลงมติในวาระที่ 3 โดยไม่ปฏิบัติตามผลผูกพันของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 18-22/2555 จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
ประการที่ 2 ข้อพิจารณาในทางวิชาการ ซึ่งฝ่ายนิติบัญญัติและพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยต้องพิจารณาและคำนึงถึงเป็นหลักการสำคัญในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความชอบธรรม เป็นไปหลัก “นิติรัฐ” ที่สมกับเหตุผลชอบธรรมไม่กระทำการเกินขอบอำนาจของรัฐสภาที่ได้รับมอบจากรัฐธรรมนูญ หลักการสำคัญที่จะเป็นหลักในการวินิจฉัยว่ารัฐสภากระทำการเกินขอบเขตของอำนาจ มีทั้งสิ้น 3 หลักการสำคัญ คือ
- หลักพื้นฐานของระบบเสียงข้างมากกับศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญที่ถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของการปฏิรูประบบการเมืองแบบรัฐสภา คือศาลรัฐธรรมนูญของประเทศเยอรมันหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเป็นการปฏิรูประบบการเมืองจากปัญหา “เผด็จการเสียงข้างมากของพรรคการเมืองในระบอบรัฐสภา” มีหลักการในการสร้างดุลยภาพระหว่างระบบเสียงข้างมากโดยพรรคการเมืองกับการเคารพหลักการของรัฐธรรมนูญ และมอบให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรในการรักษาดุลยภาพดังกล่าวให้เป็นไปตาม “หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ (Supremacy of constitution)” ในประเทศที่ยึดถือระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร ที่แตกต่างจากประเทศที่ถือ “หลักความมีอำนาจสูงสุดของรัฐสภา (Supremacy of parliament)” ในประเทศที่ยึดถือระบบกฎหมายจารีตประเพณี สำหรับประเทศไทยเป็นรัฐที่ใช้ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษรยึดถือ “หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ”ทำให้รัฐสภาโดยเสียงข้างมากย่อมต้องมีขอบเขตตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้และในกรณีที่มีปัญหาว่ารัฐสภาโดยเสียงข้างมากกระทำการเกินขอบเขตของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ย่อมเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัย ทั้งนี้เพื่อปกป้อง “หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ” ดังนั้นประเทศไทยซึ่งเป็นเสรีประชาธิปไตยที่ใช้ระบบรัฐสภาและถือ “หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ (Supremacy of constitution)” จึงต้องมีศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรในการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐสภาว่าอยู่ภายในขอบเขตของรัฐธรรมนูญหรือไม่
- หลัก “องค์กรที่รับอำนาจจากรัฐธรรมนูญ” กับ “องค์กรที่ให้รัฐธรรมนูญ” รัฐสภาหรือองค์กรนิติบัญญัติและองค์กรทั้งหลายที่ถูกก่อตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญย่อมเป็น “องค์กรที่รับอำนาจมาจากรัฐธรรมนูญ” และย่อมต้องถูกผูกพันต่อรัฐธรรมนูญ ส่วน “องค์กรที่ให้รัฐธรรมนูญ” องค์กรนั้นย่อมมีความชอบธรรมในการที่กำหนดหลักการของรัฐธรรมนูญให้แตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญที่เคยมีมาได้ และ “องค์กรที่ให้รัฐธรรมนูญ” ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ย่อมหมายถึง สภาร่างรัฐธรรมนูญ ประชาชน (ด้วยการออกเสียงประชามติ) และพระมหากษัตริย์ แต่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่กำลังเสนอให้มีการลงมติในวาระที่สามในครั้งนี้เป็นการแก้ไขที่จะนำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ และก่อตั้ง “องค์กรผู้ให้รัฐธรรมนูญ” ใหม่โดย “องค์กรผู้รับอำนาจมาจากรัฐธรรมนูญ” (ฝ่ายนิติบัญญัติ) และไม่จัดให้มีการออกเสียงประชามติของประชาชน การกระทำเช่นนี้จึงขัดกับหลักการสำคัญในกระบวนการสร้าง “องค์กรที่ให้รัฐธรรมนูญ” ซึ่งจะต้องผ่านการลงประชามติของประชาชนก่อนจึงจะชอบด้วยกระบวนการ การกระทำของรัฐสภาที่ขัดต่อหลักการดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่เกินขอบเขตของ “องค์กรผู้รับอำนาจมาจากรัฐธรรมนูญ”
- หลักการที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ กับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 291 (1) วรรคสองของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 บัญญัติว่า “ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ จะเสนอมิได้” หลักการดังกล่าวนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็น “หลักการที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้” ไม่ว่าด้วยวิธีการใดๆ ผลของ” หลักการที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้”อย่างน้อยก่อให้เกิดผลที่สำคัญ คือ ลำดับชั้นหรือคุณค่าของบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่สามารถแยกออกเป็น ระดับแรกบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ และระดับที่สอง บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ ในความหมายนี้การแก้ไขเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติระดับแรกที่ส่งผลให้มีผลกระทบต่อบทบัญญัติในระดับที่สอง ย่อมไม่อาจกระทำได้และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรในการปกป้อง “หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ” ย่อมปกป้องได้ทั้ง “ส่วนของบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้” และ “ส่วนของบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้” กล่าวคือ เมื่อเป็นไปตามหลักการดังกล่าว ส่วนของบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้นั้นศาลรัฐธรรมนูญจะต้องเข้าไปควบคุมตรวจสอบอย่างเข้มข้นเพื่อมิให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไปกระทบต่อหลักดังกล่าวข้างต้น
ประการที่ 3 การลงมติในวาระที่ 3 ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จะนำไปสู่ความขัดแย้งครั้งสำคัญของประเทศ อันเนื่องมากจากการเสนอลงมติดังกล่าวจะเป็นการทำลายหลักการสำคัญของการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญโดยศาลรัฐธรรมนูญ และฝืนความรู้สึกของประชาชนที่ร่วมสถาปนารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ขึ้น ตามหลักการใช้อำนาจอธิปไตยโดยตรงของประชาชนด้วยการออกเสียงประชามติ การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กระทำเพื่อประโยชน์ของคนบางกลุ่มโดยไม่คำนึงเสียงประชาชนที่ได้ออกเสียงประชามติ จะทำให้เกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างรัฐสภากับประชาชน รัฐบาลกับประชาชน และระหว่างประชาชนด้วยกัน และจะนำไปสู่การใช้ความรุนแรงให้เกิดขึ้นจากความขัดแย้งดังกล่าวในวงกว้างได้
กลุ่ม “สยามประชาภิวัฒน์” พิจารณาในปรากฏการณ์ของระบอบการเมืองไทย นักการเมืองไทยจำนวนมากไม่เคารพ“หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ” และหลัก “นิติรัฐ” แต่กลับกระทำการนานาประการที่ฝ่าฝืน หรือล่วงละเมิดต่อบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอันเป็นภาพสะท้อนของการตกอยู่ภายใต้การครอบงำของพรรคการเมืองนายทุนผูกขาด ทำให้นักการเมืองของประเทศไทยทำตัวเป็นเพียงแค่ “พนักงาน หรือลูกจ้าง (political party employee)” ของเจ้าของพรรค แทนที่จะแสดงบทบาทในฐานะให้สมกับที่เป็น “บุคลากรของรัฐ (State man)” หรือเป็นผู้แทนปวงชน
กลุ่ม “สยามประชาภิวัฒน์” จึงขอเรียกร้องให้รัฐสภา พรรคการเมือง หรือกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ คำนึงถึงหลักการดังกล่าว หลักนิติรัฐ และหลักการในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ยุติการดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยการลงมติในวาระที่ 3 ที่เป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและฝ่าฝืนต่อผลผูกพันของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญโดยทันที และดำเนินการให้ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแล้ว เพื่อสร้างความปรองดองและลดความขัดแย้งในหมู่ประชาชน อันจะนำสังคมสู่สันติสุขได้อย่างแท้จริง