xs
xsm
sm
md
lg

ก.ล.ต. เตรียมแก้ พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ เพิ่มความยืดหยุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ก.ล.ต. เตรียมแก้ พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ เพิ่มความยืดหยุ่น โดยเห็นควรให้ลูกจ้างที่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งได้ลาออกจากงานเมื่อมีอายุไม่น้อยกว่า 55 ปี สามารถขอรับเงินออกจากกองทุนเป็นงวดได้เช่นเดียวกับลูกจ้างที่เกษียณอายุ โดยไม่จำเป็นต้องนำเงินออกจากกองทุนทั้งจำนวน และยังคงเป็นสมาชิกกองทุนต่อไปได้ตามระยะเวลาที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุน

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต. มีแนวคิดที่จะเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 เพื่อส่งเสริมให้ลูกจ้างที่เป็นสมาชิกกองทุนมีเงินออมอย่างต่อเนื่อง และเพียงพอไว้ใช้จ่ายในวัยเกษียณอายุ โดย ก.ล.ต. อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวจนถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2555

สำหรับรายละเอียดการเสนอแก้ไขกฎหมายนั้น ก.ล.ต. เห็นควรให้ลูกจ้างที่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งได้ลาออกจากงานเมื่อมีอายุไม่น้อยกว่า 55 ปี สามารถขอรับเงินออกจากกองทุนเป็นงวดได้เช่นเดียวกับลูกจ้างที่เกษียณอายุ โดยไม่จำเป็นต้องนำเงินออกจากกองทุนทั้งจำนวน และยังคงเป็นสมาชิกกองทุนต่อไปได้ตามระยะเวลาที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ลูกจ้างมีเงินไว้ใช้ดำรงชีพได้อย่างต่อเนื่องภายหลังจากที่ออกจากงานแล้ว

พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. จะเสนอแก้ไขหลักการบริหารเงินของลูกจ้างที่อยู่ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพประเภทให้เลือกนโยบายได้ (employee’s choice) ในกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้เลือกนโยบายการลงทุนไว้ ผู้จัดการกองทุนต้องนำเงินไปลงทุนตามนโยบายการลงทุน (default policy) ตามลำดับ ดังนี้ ในลำดับแรกให้ผู้จัดการกองทุนนำเงินสะสม และเงินสมทบไปลงทุน หรือหาประโยชน์ตามนโยบายเดิมที่ลูกจ้างเคยลงทุนไว้

แต่หากกองทุนนั้นไม่มีนโยบายเดิมที่ลูกจ้างเคยลงทุน จึงให้ผู้จัดการกองทุนนำเงินไปลงทุนตามนโยบายที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของกองทุนแทน และหากข้อบังคับกองทุนไม่ได้กำหนดไว้ ผู้จัดการกองทุนจึงจะสามารถนำเงินไปลงทุนในนโยบายที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุดที่กองทุนมีในขณะนั้น

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่กองทุนในการกำหนดนโยบายการลงทุนที่เป็น default policy ให้เหมาะสมกับสมาชิกกองทุนที่มีความต้องการผลตอบแทนและความสามารถรับความเสี่ยงที่หลากหลาย และสอดคล้องกับแนวทางของต่างประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น