xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” ยันนาซาขอใช้ “อู่ตะเภา” เข้า ม.190 แน่ ยกคดีแถลงการณ์ร่วมไทย-เขมรเปรียบเทียบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ข้อความในเฟซบุ๊ก “คำนูณ สิทธิสมาน” วันนี้ (26 มิ.ย.)
ส.ว.สรรหาชี้กรณี “นาซา” ขอใช้อู่ตะเภาเข้าข่าย ม.190 แน่เพราะศาลตีความอย่างกว้าง หยิบกรณีแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาเปรียบเทียบ ฉะที่ ครม.ใช้ ม.179 ขอรับฟังรัฐสภาเลี่ยงไม่ได้ คาดอาจจบลงรื้อ ม.190 ทิ้ง-ล้มศาล รธน.

วันนี้ (26 มิ.ย.) นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ได้โพสต์ข้อความในเว็บไซต์เฟซบุ๊ก “คำนูณ สิทธิสมาน” ระบุว่า เรื่องนาซาขอใช้อู่ตะเภาหากดูข้อความตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 อย่างเดียว อาจมองต่างกันว่าเข้าข่ายหรือไม่ก็ได้ แต่หากพิจารณาประกอบกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 6-7/2551 กรณีแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาด้วยแล้วจะพบว่าเข้าข่ายแน่ ๆ เพราะศาลฯ ตีความมาตรา 190 อย่างกว้างเพื่อให้ใช้บังคับได้จริงสมตามเจตนารมณ์ (เหมือนที่ตีความมาตรา 68 กรณีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับขายขาด) ในวรรคท้ายๆ ของคำวินิจฉัยฉบับนั้นใช้คำว่า "สุ่มเสี่ยงต่อผลกระทบ...", "อาจก่อให้เกิดความแตกแยก...", "อาจก่อให้เกิดวิกฤตความสัมพันธ์..." และอรรถาธิบายว่าหากแปลตรงตัวตามตัวบทมาตรา 190 จะไม่เกิดผลตามความมุ่งหมาย แม้จะไม่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตฯชัดเจน แต่แค่ "อาจ..." ก็ถือเป็นหนังสือสัญญาที่เข้าข่ายต้องขออนุมัติจากรัฐสภาตามมาตรา 190 แล้ว

“ที่ ครม.จะขอแค่รับฟังรัฐสภาตามมาตรา 179 นั้นก็ดีอยู่ แต่ไม่ได้แปลว่าจะเลี่ยงมาตรา 190 ได้สำเร็จหากยังมีผู้ติดใจ สุดท้ายก็มาจบลงที่ต้องรื้อรัฐธรรมนูญเลิกมาตรา 190 และล้มศาลรัฐธรรมนูญก่อนอยู่ดีนั่นแหละ ทุกวัตถุประสงค์จึงจะสมอารมณ์หมาย” นายคำนูณระบุ

อนึ่ง เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2551 ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 8 ต่อ 1 วินิจฉัยชี้ขาดว่าแถลงการณ์ร่วมไทย-กับพูชา ฉบับวันที่ 18 มิ.ย. 51 กรณีปราสาทพระวิหารมีลักษณะครบองค์ประกอบเป็นสนธิสัญญาตามอนุสัญญากรุงเวียนนา และมีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นว่าแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพุชา เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา จากนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะส่งคำวินิจฉัยให้กับประธานวุฒิสภา และประธานสภาผู้แทนฯ ดำเนินการต่อไป แต่ทั้งนี้การดำเนินการจะเป็นอย่างไรต่อไป ไม่อยู่ในอำนาจที่ศาลรัฐธรรมนูญจะไปก้าวล่วงได้

สรุปผลการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (8 ก.ค. 51)

เรื่อง ประธานวุฒิสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งความเห็นของสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดว่าคำแถลงการณ์ร่วมไทย - กัมพูชา หรือ Joint Communique ฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน 2551 เป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 190 วรรคสอง ซึ่งต้องได้รับความเห็นชองของรัฐสภา หรือไม่

สรุปข้อเท็จจริง
ประธานวุฒิสภาได้ส่งความเห็นของสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 77 คน และประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งความเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 151 คน เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 วรรคหก ประกอบมาตรา 154 วรรคหนึ่ง(1) ว่า คำแถลงการณ์ร่วมไทย- กัมพูชา หรือ Joint Communique ฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน 2551 เป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 190 วรรคสอง ซึ่งต้องได้รับความเห็นชองของรัฐสภา หรือไม่

สรุปคำวินิจฉัย
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว ลงมติ ราม 2 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง คำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา หรือ Joint Communique ฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน 2551 เป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 190 หรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญ โดยมติเอกฉันท์วินิจฉัย คำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน 2551 มีลักษณะครบองค์ประกอบของความเป็นสนธิสัญญาตามอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสิทธิสัญญา ค.ศ. 1969 และเป็นไปตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 11/2542 และที่ 33/2543 จึงเป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190

ประเด็นที่สอง หนังสือสัญญาดังกล่าวเป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 190 วรรคสอง ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาหรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญ โดยมติ 8 ต่อ 1 เสียง วินิจฉัยชี้ขาดว่า คำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา หรือ Joint Communique ฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน 2551 เป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 วรรคสอง ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา

อ่านประกอบ : ศาล รธน.มีมติ 8 ต่อ 1 ชี้แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ขัด รธน.ต้องผ่านรัฐสภา (8 ก.ค.2551)
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 6-7/2551 จากเว็บไซต์สภาผู้แทนราษฎร
กำลังโหลดความคิดเห็น