“สุริยะใส” บุกศาลปกครอง ทวงถามใครมีอำนาจยื่นฟ้อง กสทช. หลังตัดสินผู้ตรวจการฯ ไม่มีอำนาจฟ้องล้ม 3จี ขณะเดียวกัน ยื่นผู้ตรวจการฯ อุทธรณ์คำสั่งต่อศาลปกครองสูงสุด ด้านโฆษกผู้ตรวจการฯ คาดสัปดาห์หน้ารู้ชัดเดินหน้าอุทธรณ์หรือไม่
ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน วันนี้ (4 ธ.ค.) นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน ได้เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านนายรักษเกชา แฉ่ฉาย โฆษกสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลางที่ไม่รับคำฟ้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีขอให้เพิกถอนการจัดประมูลคลื่นความถี่ 3จี โดยเห็นว่า คำสั่งศาลปกครองกลางดังกล่าวเป็นผลให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) คณะกรรมการ กสทช. และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) มีสถานะสูงเกินกว่าที่กฎหมาย อำนาจตุลาการ และอำนาจขององค์กรตรวจสอบจะตรวจสอบได้
อีกทั้งยังมีผลกระทบต่ออำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยมีลักษณะเป็นการจำกัดอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดิน ทั้งที่ข้อเท็จจริงแล้ว สำนักงาน กสทช.ไม่ได้เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ แต่มีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครองที่เป็นอิสระ กสทช. และกทค.จึงมีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ การกระทำหรือคำสั่งใดๆ ของสำนักงาน กสทช. คณะกรรมการ กสทช. และกทค.จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครองกลาง ดังนั้นเพื่อประโยชน์ร่วมกันของประชาชนและประเทศชาติ และเพื่อป้องกันความเสียหายที่ยากต่อการเยียวยาในภายหลังหากมีการออกใบอนุญาต 3จี จึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุด
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้นายสุริยะใสได้เข้ายื่นหนังสือต่ออธิบดีศาลปกครองกลาง เพื่อขอความชัดเจนว่าใครควรเป็นผู้เสียหายในกรณีนี้ที่จะมายื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางได้ และคำสั่งของศาลปกครองกลางดังกล่าวทำให้ สำนักงาน กสทช. คณะกรรมการ กสทช. และกทค. มีสถานะใดในทางกฎหมาย และไม่สามารถถูกตรวจสอบได้ใช่หรือไม่
ทั้งนี้ นายสุริยะใสกล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากยื่นหนังสือต่ออธิบดีศาลปกครอง ได้พูดคุยกับเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ซึ่งก็เห็นว่าตามคำสั่งศาลปกครองกลางที่ออกมามีการโต้แย้งเรื่องอำนาจของผู้ตรวจฯ โดยความเห็นของตุลาการแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ดังนั้นถ้าผู้ตรวจฯ มีการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ จึงอยากให้ผู้ตรวจฯ เร่งรัดพิจารณาในเรื่องนี้ เพราะเท่าที่ดูท่าทีของ กทค.ที่ออกมาในขณะนี้มุ่งมั่นที่จะเดินหน้าออกใบอนุญาต ทั้งๆ ที่คำสั่งศาลปกครองที่ออกมายังไม่ใช่การประทับรับรองว่าการประมูลที่เกิดขี้นนั้นถูกต้องชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น กทค.จะมาลักไก่ออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ เพราะพอออกไปแล้ว ศาลปกครองสูงสุดเห็นไปอีกทาง แล้วไต่สวนพบความผิดปกติการประมูลก็จะมีปัญหา ความเสียหายจะเกิดมาก
“ทางกลุ่มฯ จะดำเนินการตรวจสอบกรณี กสทช.ต่อไป เราเตรียมแนวทางต่อสู้ 3 แนวทาง 1. อุทธรณ์ไปแล้วศาลปกครองสูงสุดยืนตามศาลปกครองกลาง ผู้ตรวจฯ ก็คงไปทางศาลรัฐธรรมนูญต่อว่า อำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจฯ มีขนาดไหน และหากประตูปิดอีก ตนจะมีการอุทธรณ์ใหม่ ไปยังศาลปกครองสูงสุด เพราะครั้งที่แล้วไม่ได้อุทธรณ์ เนื่องจากศาลบอกให้มาร้องผู้ตรวจฯ แต่หากชี้ว่า ผู้ตรวจฯ ไม่มีอำนาจ ตนจะอุทธรณ์ต่อ 2. หามูลนิธิที่ทำงานการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคมายื่นฟ้อง และ 3. ต้องเร่ง ป.ป.ช.ไต่สวนพิจารณาคดี"
ด้านนายรักษเกชากล่าวหลังการประชุมผู้ตรวจฯ ว่า ที่ประชุมผู้ตรวจฯ ได้ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายทำการวิเคราะห์คำสั่งศาลปกครองเพื่อพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปได้บ้าง รวมถึงเรื่องที่สมาชิกวุฒิสภายื่นขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเรื่องการขัดกันของกฎหมาย โดยผู้ตรวจฯ เห็นว่าเรื่องดังกล่าวมีความจำเป็นเร่งด่วนดังนั้นในสัปดาห์น่าจะได้ข้อยุติว่าผู้ตรวจฯจะดำเนินการอย่างไรต่อไป