xs
xsm
sm
md
lg

ส.ว.ยื่นผู้ตรวจฯ ร้องศาลฯ ตีความ กม.จัดสรรคลื่นขัด รธน.ม.305

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผานิต นิติทัณฑ์ประภาศ (แฟ้มภาพ)
“สุมล-ไพบูลย์” ยื่นผู้ตรวจการฯ ร้องศาล รธน.ตีความ ม. 40 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่น ขัด รธน.ม.305 ชี้ กทค.ไม่มีอำนาจรับรองผลการประมูล 3จี เหตุ รธน.กำหนดให้มีอำนาจแค่กำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม ไม่ได้หมายรวมถึงอำนาจการจัดสรรคลื่น และการออกใบอนุญาต ด้าน “ผานิต” เผยนำเข้าที่ประชุมวันนี้หารือ พร้อมกรณีศาลปกครองไม่รับคำร้องเพิกถอน 3จี

ที่สำนักงานตรวจการแผ่นดิน วันนี้ (4 ธ.ค.) น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี และนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนางผานิต นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบ และเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาว่า มาตรา 40 ประกอบมาตรา 27 ( 4) แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม 2553 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 47 และมาตรา 305 (1) หรือไม่

นายไพบูลย์ กล่าวว่า จากการศึกษาข้อกฎหมาย พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ใช้ในการจัดประมูลคลื่นความถี่ และจะออกใบอนญาต 3 จี แล้วเห็นว่า มาตรา 40 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว กำหนดให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) มีอำนาจปฎิบัติหน้าที่แทน กสทช.ในเรื่องต่างๆ ตามมาตรา 27 ของ พ.ร.บ.เดียวกัน โดยที่เป็นปัญหาคือมาตรา 27 (4) ที่กำหนดให้ กทค. มีอำนาจหน้าที่แทน กสทช.ในเรื่องการพิจารณาอนุญาตและกำกับดูแลการใช้คลื่นความถี่ในการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม แต่เมื่อมาพิจารณารัฐธรรมนูญ มาตรา 305 (1) กลับบัญญัติให้ กทค. มีอำนาจปฏิบัติหน้าที่แทน กสทช. เฉพาะการกำกับการประกอบกิจการโทรคมนาคม ซึ่งในที่นี้ไม่หมายรวมถึงการให้มีอำนาจหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ และการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่

ดังนั้น การที่ กทค.มีมติเมื่อวันที่ 18 ต.ค. เห็นชอบผลการประมูล 3จีที่มีการประมูลเมื่อวันที่ 16 ต.ค. จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาและส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งหากศาลมีคำวินิจฉัยว่า มาตรา 40 ประกอบ มาตรา 27 ของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 47 และมาตรา 305 (1) ก็จะเป็ผลให้การจัดประมูลที่เกิดขึ้นเป็นโมฆะทันที

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ที่ตนได้ยื่นคำร้องกรณีเรื่องการปฏิบัติของ กทค.ต่อนางผานิต ที่อาคารวุฒิสภา เป็นการยื่นในเรื่องการกระทำของ กทค.ที่รับรองผลประมูลว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเสนอผู้ตรวจฯ ให้ส่งเรื่องให้ศาลปกครองวินิจฉัย แต่ผู้ตรวจได้แจ้งผลการวินิจฉัยว่า ไม่อาจดำเนินการได้เพราะ กทค.ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในอำนาจที่ผู้ตรวจการฯ และตรวจสอบได้ แต่ในครั้งนี้เป็นการยื่นเรื่องให้ตีความข้อกฎหมายถือว่าเป็นอำนาจโดยตรงของผู้ตรวจการแผ่นดิน

นอกจากนี้ ยังยอมรับว่า ขณะนี้ กทค.ยังสามารถทบทวนการมีมติรับรองผลการประมูลดังกล่าวได้ และหาก กทค.นำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อ กสทช.ให้รับรองผลประมูล 3จี เสียใหม่ก็จะทำให้การประมูลนั้นถูกต้องตามกฎหมาย และรัฐธรรมนูญ การประมูลที่เกิดขึ้นแล้วก็เดินหน้าต่อไปได้ แต่ทั้งนี้ ก็จะไม่มีผลให้คำร้องนี้ตกไป เพราะที่เสนอให้ผู้ตรวจการฯ พิจารณาดำเนินการเป็นเรื่องของกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยก็จะเป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคต

อย่างไรก็ตาม การยื่นเรื่องครั้งนี้เป็นคนละส่วนกับการตรวจสอบการประมูลว่าชอบด้วย พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคา ซึ่งตนได้มีการยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ไปแล้ว

“การที่ กทค. ประกาศในวันศุกร์นี้จะประชุม และจะเดินหน้าให้ใบอนุญาตแก่เอกชนแล้ว ก็อยากให้ทำอย่างระมัดระวัง เพราะขณะนี้ ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องการประมูลว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ถ้ามีการออกใบอนุญาตไปก็อาจทำให้บางคนต้องถูกดำเนินคดีอาญา ฐานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้”

ด้านนางผานิต กล่าวว่า จะนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมในวันเดียวกันนี้ ซึ่งก็จะมีการพิจารณากรณีศาลปกครองกลาง มีคำสั่งไม่รับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ฟ้องเรื่องการเพิกถอนการประมูล 3จี ว่า ทางผู้ตรวจการฯ จะมีการดำเนินการอย่างไรต่อไปได้หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญสังคมให้ความสนใจมาก เพราะเป็นเรื่องการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ


กำลังโหลดความคิดเห็น