ผ่าประเด็นร้อน
แม้จะยังไม่ชัดเจน และยังไม่มีคำยืนยันออกมาจากฝ่ายรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยออกมาอย่างเป็นทางการ แต่เริ่มจับทิศทางความเคลื่อนไหวได้แล้วว่า กำลังเตรียมหาจังหวะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือยกร่างใหม่ทั้งฉบับอีกรอบหนึ่ง
อย่างน้อยๆ ก็เริ่มจากปฏิทินที่เปิดเผยจาก วราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่เป็นหนึ่งในตัวแทนฝ่ายรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยว่ามีการนัดหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลเกี่ยวกับรูปแบบการแก้ไขรัฐธรรมนูญกันแล้ว เพียงแต่ว่ายังไม่มีข้อสรุปว่าจะเป็นแบบไหนกันแน่ จะเอาตามแบบที่คณะทำงานที่นำโดย โภคิน พลกุล ยกร่างขึ้นมา รวมไปถึงจะมีการเดินหน้าลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ตามกระบวนการแก้ไขตามมาตรา 291 เพื่อนำไปสู่กระบวนการยกร่างใหม่ทั้งฉบับที่ยังค้างคาเป็นวาระด่วนอยู่ในสภาเวลานี้หรือไม่
รวมไปถึงมีการพูดถึงเรื่องดังกล่าวจากคนที่เกี่ยวข้องมากขึ้นอย่างเช่น ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิป) อุดมเดช รัตนเสถียร และประธานรัฐสภา อย่างสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ เป็นต้น
แม้จะยังไม่ได้ข้อสรุปแบบเต็มร้อยว่าจะเดินไปอย่างไร แต่ถ้าพิจารณาจากคำพูดของตัวแทนฝ่ายรัฐบาลดังกล่าวที่นัดตัวแทนพรรคร่วมหารือกันเมื่อวันจันทร์ที่ 3 ธันวาคม ก็คงได้เห็นท่าทีบางอย่างออกมาบ้าง
นี่คือความเคลื่อนไหวที่เป็นจริงเป็นจังขึ้นมาอีกรอบ หลังจากที่มีการชะงักกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ดังกล่าวเพื่อนำไปสู่การตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อยกร่างทั้งฉบับส่อไปสู่การล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ทำให้กระบวนการลงมติในวาระ 3 ต้องค้างเติ่งมาจนถึงวันนี้ แต่ถึงอย่างไรก็ยังบรรจุเป็นวาระด่วนในลำดับต้นๆ สามารถหยิบยกขึ้นมาพิจารณาได้ตลอดเวลา รวมไปถึงในช่วงเวลานั้นกระแสต่อต้านได้พุ่งขึ้นสูงทำให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจำต้องสั่งถอยชั่วคราว
อย่างไรก็ดี ในช่วงจังหวะของบรรยากาศวันรัฐธรรมนูญกำลังมาถึงในวันที่ 10 ธันวาคมประกอบกันในปลายเดือนเดียวกันก็จะเป็นช่วงของการเปิดสมัยประชุมสภาสมัยนิติบัญญัติเป็นการเปิดช่องให้ฝ่ายรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยสามารถเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้ามาอีกครั้ง
อีกด้านหนึ่งอาจมองเห็นว่า การสลายการชุมนุมของกลุ่มองค์การพิทักษ์สยามรวดเร็วเกินคาด ทำให้เกิดความมั่นใจมากขึ้นว่ากลุ่มต่อต้านนั้นพลังเริ่มถดถอยลงไป ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมาสามารถกระชับอำนาจสามารถสร้างกลไก “รัฐตำรวจ” ได้อย่างเบ็ดเสร็จ ทำให้เชื่อว่าจะเดินไปสู่เป้าหมายสูงสุดได้ไม่ยาก
แน่นอนว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญคราวนี้ฝ่ายรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยพยายามอุดช่องโหว่จากบทเรียนคราวก่อนให้ได้มากที่สุด อย่างน้อยก็เป็นเรื่องของการตั้งวงเสวนา รับฟังความเห็นจากฝ่ายต่างๆทั้งภาคประชาชนและนักวิชาการ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นฝ่ายเดียวกันถึงจะเป็น “ปาหี่” แต่อย่างน้อยก็นำไปอ้างอิงได้ว่าได้ผ่านการรับฟังความเห็นมาแล้ว
เมื่อพิจารณาจากความเคลื่อนไหวดังกล่าวมาทั้งหมดก็ต้องสรุปให้เห็นว่า “เอาแน่” สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการส่งสัญญาณออกมาให้เห็นแล้วว่าเป็นการ “แก้ไขทั้งฉบับ” โดยอ้างอย่างสวยหรูว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน แต่นั่นคือ “เปลือก” ภายนอกที่นำมาหลอกต้มชาวบ้าน ซึ่งนาทีนี้ไม่ต้องพูดอธิบายอะไรให้มากความ เชื่อว่าใครที่ติดตามสถานการณ์มาอย่างต่อเนื่องย่อมต้องเข้าใจดีและรู้ทันมานานแล้วว่า นี่คือกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อ ทักษิณ ชินวัตร คนเดียวเท่านั้น แก้ไขเพื่อไม่ให้เขา “เสมือนไม่เคยมีความผิด” โดยการลบล้างคำสั่งของคณะปฏิวัติ เป็นต้น
เชื่อว่านี่คือความหวังอีกครั้งของ ทักษิณ ชินวัตร ที่หวังกลับมาแบบไม่มีความผิด กลับมามีอำนาจอีกครั้ง และที่สำคัญต้องการได้เงินที่ถูกยึดจำนวน 4.6 หมื่นล้านบาทกลับคืนมา ซึ่งมีทางเดียวที่เป็นไปได้มากที่สุดก็คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลบล้างคำสั่งหรือองค์กรที่มีผลเป็นลบกับตัวเขา ซึ่งมีเพียงวิธีนี้วิธีเดียวที่เป็นไปได้มากที่สุด โดยแอบอ้างความต้องการของประชาชนบังหน้า
แต่ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งความคิดในการต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของ ทักษิณ ก็ถือว่าตกผลึกแล้วเช่นเดียวกัน นาทีนี้ไม่ต้องพูดอะไรกันมากแล้ว ถ้าขยับก็ต้านทันทีเหมือนกัน อีกทั้งหากประเมินจากความรู้สึกของคนส่วนใหญ่แล้วเชื่อว่าไม่เห็นจำเป็นต้องแก้ไข เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดิน หรือหากแก้ไขแล้วก็ไม่ได้ทำให้ นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีความ “ฉลาด” ขึ้นแต่อย่างใด ความ “ห่วยแตก” ของรัฐบาลไม่ได้มีสาเหตุมาจากรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด แต่หากจะเสี่ยงอีกรอบก็ลองดูก็ได้!!