ทัพเรือร้อน! ตั้งโต๊ะแถลงโต้ซักฟอกพาดพิงเรือฟริเกต เสธ.ทร.ยันตอบสนองด้านยุทธศาสตร์ รักษาทรัพยากร ปกป้องอธิปไตย มั่นใจแจง ป.ป.ช.ได้ ไม่ตอบคนในส่งข้อมูล ด้านกุนซือ ทร.ระบุปรับปรุงเรือไม่ล้าหลัง ไม่รู้ “ศิริโชค” เอาเงินทอนพันล้านมาจากไหน เย้ยใช้เอกสารคลาดเคลื่อน เผย “สุกำพล” ไม่เกี่ยวจัดซื้อ ขณะที่ ผช.เสธ.ยุทธการ ย้ำโปร่งใส ปราศจากอคติ
วันนี้ (27 พ.ย.) ที่ราชนาวิกสภา เมื่อเวลา 08.30 น. พล.ร.อ.จักรชัย ภู่เจริญยศ เสนาธิการทหารเรือ พร้อมด้วย พล.ร.อ.ทวีวุฒิ พงศ์พิพัฒน์ ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพเรือ พล.ร.ท.พัลลภ ตมิสานนท์ ผู้ช่วยเสนาธิการฝ่ายยุทธการ พล.ร.ท.ทวีชัย บุญอนันต์ ปลัดบัญชีทหารเรือ และ พล.ร.ต.นวพล ดำรงพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานจัดหายุทโธปกรณ์ทางเรือ ร่วมแถลงข่าวกรณีที่ฝ่ายค้านมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจเกี่ยวกับโครงการเรือสนับสนุนปฏิบัติการทางเรือ และโครงการปรับปรุงเรือฟริเกต ชุดเรือหลวงนเรศวร โดย พล.ร.อ.จักรชัยกล่าว่า หลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรอภิปรายถึงการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ของกองทัพเรือ ทาง พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ สั่งการให้กองทัพเรือเร่งชี้แจงกรณีดังกล่าว ซึ่งกองทัพเรือขอบคุณทางสภาผู้แทนราษฎรที่มีความรู้สึกที่ดีและห่วงใยกองทัพเรือในการตรวจสอบการดำเนินการของกองทัพเรือ ทั้งนี้เม็ดเงินแต่ละเม็ดกองทัพเรือได้มาด้วยความยากลำบาก ดังนั้นการนำไปใช้ต้องมีเหตุผล และตอบสนองความต้องการด้านยุทธศาสตร์ รวมถึงการรักษาทรัพยากรทางทะเล และอธิปไตยของประเทศชาติ ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้กองทัพเรือสอบตกไม่ได้ เพราะเป็นผลประโยชน์ของประชาชนโดยรวม ซึ่งยุทโธปกรณ์ดังกล่าวที่นำมาติดตั้งเราสามารถป้องกันตัวเองได้ และครอบคลุมถึงความปลอดภัยของลูกเรือ
เมื่อถามว่า คนในของกองทัพเรือส่งข้อมูลให้ฝ่ายการเมืองเพื่อโจมตีกองทัพเรือใช่หรือไม่ พล.ร.อ.จักรชัยกล่าวว่า ในกองทัพเรือไม่มีการเมือง ทั้งนี้อาจมีความคิดในคณะกรรมการที่มีจำนวนมากทำให้มีความคิดเห็นที่หลากหลาย แต่เมื่อได้ข้อยุติถือเป็นอันสิ้นสุด ส่วนโครงการจัดหาเรือสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรือจำนวน 3 ลำ วงเงิน 553.5 ล้านบาทนั้น ทางกองทัพเรือมั่นใจที่จะชี้แจงต่อ ป.ป.ช. เพราะกองทัพเรือมีวินัยดี และเป็นเด็กดี เรารู้ว่าอยู่ขณะนี้อยู่ในกระบวนการตรวจสอบ เราไม่อยากจะพูดอะไรมาก แต่ที่ชี้แจงในวันนี้ห่วงว่าสังคมจะเข้าคลาดเคลื่อน
ด้าน พล.ร.อ.ทวีวุฒิกล่าวว่า ในส่วนของโครงการปรับปรุงเรือฟริเกต ชุดเรือหลวงนเรศวร กรณีที่มีว่าการเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์แตกต่างจากความต้องการของฝ่ายเสนาธิการในเรื่องระบบเป้าลวง ซึ่งเป็นระบบการรบ โดยเปลี่ยนจากตราอักษร Sagem แท่นยิงแบบหมุนได้ มาเป็นตราอักษร Terma SKWS แท่นยิงแบบหมุนไม่ได้นั้น เป็นความจำเป็น เพราะข้อจำกัดในการติดตั้งแท่นยิงแบบหมุนได้ต้องใช้พื้นที่มาก และจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก รวมทั้งจะส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติการขึ้นลงของเฮลิคอปเตอร์ และระบบการควบคุมการยิง รวมถึงยังบดบังมุมยิงด้านหัวเรือทำให้เกิดมุมอับ และส่งผลให้ประสิทธิภาพลดลง 50 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่แท่นยิงแบบหมุนไม่ได้จะติดตั้งในตำแหน่งที่ยิงลูกเป้าลวงได้ทุกทิศทางครอบคลุมมุมยิงได้มากกว่าแท่นยิงแบบหมุนได้ และสามารถยิงได้ครอบคลุม 360 องศา
พล.ร.อ.ทวีวุฒิกล่าวว่า กรณีที่ระบุว่าแท่นยิงแบบหมุนไม่ได้มีความล้าหลังเป็นความเข้าใจผิด เพราะปัจจุบันได้มีการพัฒนาระบบแล้ว โดยการยิงไม่ต้องมีการกลับเรือ ส่วนใหญ่ประเทศในชาตินาโต้ใช้กันมาก เช่น เดนมาร์ก ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย โมร็อกโก ชิลี โรมาเนีย สำหรับโครงดังกล่าวอยู่ในช่วงระยะที่ 2 ซึ่งเป็นการจัดซื้อระบบการรบ และจัดซื้อลูกอาวุธปล่อยพื้นสู่อากาศ แบบ ESSM วงเงิน 3,300 ล้านบาท ประกอบด้วย ระบบการรบ 2,700 ล้านบาท และลูกอาวุธปล่อย 600 ล้านบาท แต่จากเดิมได้มีการตกลงเป็นเงิน 2,725 ล้านบาท แต่เนื่องจากกองทัพเรือได้รับจัดสรรงบประมาณจัดหาในส่วนนี้ 2,700 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลางที่กำหนดไว้เดิม ทำให้บริษัทต้องลดราคาลงในขั้นแรก 25 ล้านบาท และลดราคาในขั้นการจัดหาอีก 1,000 บาท รวมราคาที่ลดทั้งสิ้น 25,001,000 บาท และโครงการระยะที่ 3 จัดซื้อระบบโซนาร์ และระบบปืนรอง รวมทั้งการปรับปรุงเรือและสนับสนุน วงเงิน 810 ล้านบาท
“ระบบเป้าลวง Sagem ราคาประมาณ 300 ล้านบาท แต่ระบบเป้าลวง Terma ราคาประมาณ 200 ล้านบาท บริษัท Saab AB จึงเสนอระบบ และอุปกรณ์ชดเชย อาทิเช่น ไยโรแบบ หรือ อุปกรณ์บอกค่าทิศทาง อุปกรณ์ที่ใช้จัดการสัญญาณ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่กองทัพเรือต้องการจัดหาอยู่แล้ว คิดเป็นมูลค่าอุปกรณ์ชดเชยรวม 103 ล้านบาท ทำให้กองทัพเรือประหยัดงบประมาณได้จำนวนหนึ่ง กองทัพเรือโดยคณะกรรมการและหน่วยเกี่ยวข้องได้พิจารณาอย่างรอบคอบและรัดกุมในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งความต้องการทางยุทธการ ขีดความสามารถของระบบแท่นยิงแบบหมุนไม่ได้ และการติดตั้ง และมุมยิงของลูกเป้าลวง รวมถึงการเชื่อมต่อระบบการรบ การบำรุงรักษา และค่าใช้จ่ายตลอดอายุการใช้งานแล้ว เห็นว่าการเสนอติดตั้งระบบแท่นยิงเป้าลวง Terma เหมาะสมสำหรับการใช้งานในเรือฟริเกตชุดเรือหลวงนเรศวร จึงรับข้อเสนอจากบริษัท Saab AB ดังกล่าว” พล.ร.อ.ทวีวุฒิกล่าว
เมื่อถามถึงกรณีที่นายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่ามีเงินทอน 1,000 ล้านบาทจากการจัดซื้อระบบป้องกัน พล.ร.อ.ทวีวุฒิกล่าวว่า ตนไม่แน่ใจว่าเอาข้อมูลเงินทอน 1,000 ล้านบาทมาจากที่ไหน แต่คณะกรรมการทราบอยู่แล้วว่ามีตัวเลขเท่าไหร่ ระบบเป้าลวงมีราคาแค่ 300 ล้านบาท จะเงินทอน 1,000 ล้านบาท เป็นไปไม่ได้ ซึ่งส่วนต่างจริงๆ เราได้รับมาคือ 100 ล้านบาทเท่านั้น ทั้งนี้ นายศิริโชค โสภา ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ น่าจะได้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ซึ่งคนอื่นอาจจะเคยทำจนเคยชิน แต่กองทัพเรือไม่เคยทำจึงไม่แน่ใจว่าไปเอาข้อมูลมาจากไหน เพราะข้อมูลที่กองทัพเรือมีอยู่เป็นข้อพื้นฐานที่เราเห็นตัวเลขกันอยู่แล้ว แต่เอกสารที่นายศิริโชค เอาเอกสารขึ้นมาประกอบอาจจะมีความคลาดเคลื่อน หรือเอกสารดังกล่าวยังไม่สมบูรณ์ คณะกรรมการของกองทัพเรือทั้งหมดยืนยันว่าการจัดซื้อระบบการรบและระบบเป้าลวงนั้น พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือสั่งการให้เปลี่ยนแปลงแบบการจัดซื้อ ท่านยังเรียกกองทัพเรือชี้แจงว่าทำไมมีการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น ทุกเรื่องเป็นเรื่องของกองทัพเรือทั้งหมด
พล.ร.ท.พัลลภกล่าวว่า โครงการจัดหาเรือสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรือ จำนวน 3 ลำ ในวงเงิน 553.5 ล้านบาท ทางกองทัพเรือยืนยันว่าการดำเนินการเป็นไปตามข้อกำหนดตามหนังสือเชิญชวนเสนอแบบเรือ (TOR) ที่ได้กำหนดไว้ว่า “ระบบควบคุมการขับเคลื่อนต้องเป็นผลิตภัณฑ์ตราอักษรเดียวกันกับเครื่องจักรใหญ่ ยกเว้นกรณีที่ไม่มีระบบควบคุมฯ ที่เป็นตราอักษรเดียวกันกับเครื่องจักรใหญ่สามารถใช้ระบบควบคุมฯ ตราอักษรที่บริษัทผู้ผลิตแนะนำ” ข้อกำหนดดังกล่าวมิได้เป็นสาระสำคัญที่จะไม่รับพิจารณาข้อเสนอ กองทัพเรือต้องพิจารณาให้คะแนนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้แล้ว โดยบริษัท มาร์ซัน จำกัด ได้เสนอเครื่องจักรใหญ่ตราอักษร Comminsรุ่น K50-M และ ระบบควบคุมการขับเคลื่อนตราอักษร Kobeltโดยได้ใช้หนังสือแนะนำจากบริษัท Commins DKSH (Thailand) Ltd. ลงวันที่ 29 เมษายน 2554 เป็นหลักฐานว่าสามารถใช้งานร่วมกับเครื่องจักรใหญ่ดังกล่าวได้ ซึ่งต่อมาหลังจากประกาศผลผู้ได้รับการคัดเลือกให้ต่อสร้างเรือแล้ว กองทัพเรือได้ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลดังกล่าวอีกครั้ง โดยกองทัพเรือได้มีหนังสือขอให้บริษัท Cumminsสาธารณรัฐสิงคโปร์ และบริษัท CumminsIns สหรัฐอเมริกายืนยันความถูกต้องอีกครั้ง ดังนั้นหนังสือรับรองของบริษัท Cumminsสาธารณรัฐสิงคโปร์ และบริษัท CumminsInsสหรัฐอเมริกา จึงมิได้ถือว่าเป็นการยื่นเอกสารเพิ่มเติมในภายหลัง แต่เป็นเอกสารที่ยืนยันความถูกต้องของข้อมูลเท่านั้น
สำหรับกรณีข้อกำหนดว่า แบบของเรือต้อง “สามารถปฏิบัติงานได้ในสภาวะทะเลไม่น้อยกว่า SeaState5” (ความสูงของคลื่น 2.5-4 เมตร) นั้น แบบของบริษัท มาร์ซัน จำกัด ที่เสนอสามารถปฏิบัติงานได้ในสภาวะทะเลไม่น้อยกว่า SeaState5 ส่วนแบบของบริษัท ซีเครสท์ มารีน จำกัด สามารถปฏิบัติงานได้ในสภาวะทะเลไม่น้อยกว่า SeaState6 (ความสูงของคลื่นมากกว่า 4 เมตร) บริษัท ซีเครสท์ มารีน จำกัด จึงได้คะแนนในหัวข้อนี้มากกว่าบริษัท มาร์ซัน จำกัด การให้คะแนนเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์และยุติธรรม การดำเนินการของคณะกรรมการโครงการต่างๆ ของกองทัพเรือทุกโครงการดำเนินการด้วยความโปร่งใส เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย การพิจารณาตัดสินปราศจากอคติใดๆ ทั้งนี้ การดำเนินการในโครงการจัดหายุทโธปกรณ์ของกองทัพเรือ ไม่ว่าจะเป็นโครงการปรับปรุงเรือฟริเกต ชุดเรือหลวงนเรศวร โครงการจัดหาเรือสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรือ หรือโครงการอื่นๆ ที่กองทัพเรือได้ดำเนินการไปแล้ว และที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการนั้น กองทัพเรือจะดำเนินการโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดที่ทางราชการจะได้รับ และผลของประเทศชาติเป็นหลัก ภายใต้กรอบงบประมาณที่กองทัพเรือได้รับจัดสรรตามขอบเขตอำนาจและหน้าที่สอดคล้องกับระเบียบข้อบังคับของทางราชการ