xs
xsm
sm
md
lg

ภรรยา “พล.อ.ร่มเกล้า” ทวงถาม “ยิ่งลักษณ์” จริงใจปรองดอง เตือนลอยตัวชีวิตคนในชาติไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม (ภาพจากแฟ้ม)
“นิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม” ภรรยาอดีตนายทหารที่เสียชีวิตในช่วงการชุมนุมเสื้อแดงปี 53 เขียนบันทึกเรียกร้องความจริงใจนโยบายสร้างความปรองดองคนในชาติ ชี้ หลังโยนให้ คอป.ค้นหาข้อเท็จจริงก็ไม่เคยแตะอีกเลย กระทั่งรัฐบาลวางรายงาน คอป.ไว้เฉยๆ แนะถ้าไม่จัดการความจริง ประวัติศาสตร์จะเป็นชนวนคนไทยบาดหมางใจ เตือนลอยตัวเหนือปัญหาความเป็น-ความตายของคนในชาติไม่ได้

วานนี้ (22 พ.ย.) นางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภรรยา พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม อดีตรองเสนาธิการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.21 รอ.) ที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยเมื่อวันที่ 10 เม.ย.53 ได้เขียนบันทึกในเฟซบุ๊ก Nicha Hiranburana Thuvatham หัวข้อ “ความจริงใจของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” โดยกล่าวถึงนโยบายเร่งด่วนของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่า จะสร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติ สร้างความสามัคคี นำพาประเทศก้าวผ่านความขัดแย้ง จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553

โดยแสดงเจตนาว่า มอบหมายให้คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐบาลชุดที่แล้วค้นหาข้อเท็จจริง หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีก็ไม่เคยแตะต้องประเด็นนี้อีกเลย ผลักภาระให้เป็นหน้าที่ของกลไกรัฐสภาแทน ระหว่างนั้นชะตากรรมของเหยื่อผู้ได้รับผลกระทบทุกฝ่ายต้องต่อสู้ดิ้นรน มีการช่วงชิงความได้เปรียบในการรุกไล่ฝ่ายตรงข้าม ใส่ร้ายป้ายสีกันและกัน มีการล้างแค้นเอาคืน กลั่นแกล้งข้าราชการที่ถูกมองว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม ซึ่งตนถูกกระทำด้วย มีบรรยากาศของความไม่เป็นธรรม จนหมดความมั่นใจในความหมายของคำว่านิติธรรมและนิติรัฐ ความคาดหวังของสังคมที่จะสลายสีกลับกลายเป็นแบ่งสีให้ยิ่งชัดเจนมากขึ้น จากความกดดันของคนในสังคมที่ถูกกระทำ จากความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม และจากความไม่พอใจของของเสียงประชาชนในสังคมส่วนหนึ่งที่คนในรัฐบาลไม่สนใจรับฟังโดยตีราคาว่าเป็นเสียงส่วนน้อย

“ภาพรวมที่ปรากฏคือรัฐบาลลงมาเป็นคู่กรณี ในการต่อสู้ โดยใช้กลไกอำนาจรัฐที่มีอยู่เป็นเครื่องมือ มากกว่าจะวางตัวเป็นกรรมการที่รักษาความเป็นกลางในการแข่งขันที่เป็นธรรม และไม่ว่านายกรัฐมนตรีจะวางเฉยต่อเรื่องนี้อย่างไร ก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบในฐานะหัวหน้ารัฐบาลได้ และ การนิ่งเฉย ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นกลาง” นางนิชา กล่าว

นางนิชา กล่าวต่อว่า รายงานฉบับสมบูรณ์ของ คอป.ที่นายกรัฐมนตรีเคยแสดงท่าทีว่ารอคอยและให้ความสำคัญ ก็ได้เสร็จสิ้นลง มีการแถลงให้สาธารณะชนรับทราบเมื่อ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา ไม่ว่าผลของรายงานจะเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่เรารอคอยอยากทราบคือขั้นตอนต่อไปนายกรัฐมนตรีจะตัดสินใจดำเนินการอย่างไรให้เป็นไปตามเจตนารมย์ที่เคยประกาศเป็นวาระแห่งชาติไว้ แต่ก็ต้องผิดหวังเพราะไม่มีการแสดงท่าทีความเห็นแต่อย่างใด นายกรัฐมนตรีพูดแค่เพียงว่า มอบหมายให้คณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือ ปคอป. รับไปพิจารณาดำเนินการ ในช่วงนั้นพื้นที่สื่อก็เต็มไปด้วยประเด็นการโต้แย้งเรื่อง “การมีอยู่หรือไม่” ของชายชุดดำอยู่หลายวัน กลบบทบาทของนายกรัฐมนตรี เท่ากับว่า คณะกรรมการ ปคอป.มีความเห็นว่าอย่างไร นายกรัฐมนตรีก็ดำเนินการตามนั้น การนิ่งเฉยของนายกรัฐมนตรีต่อประเด็นนี้เป็นการแสดงความจริงใจในการผลักดันนโยบายที่เคยประกาศไว้ว่าเป็นนโยบายสำคัญเร่งด่วนข้อแรกหรือไม่

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการประชุม ปคอป.โดยมี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม เป็นประธานการประชุม โดย นางนิชา ได้วิจารณ์ผลสรุปการประชุมของคณะกรรมการต่อรายงาน คอป.ในประเด็นที่ว่า ปคอป.ของรัฐบาลมีมติเพียงรับทราบ โดยไม่มีหน้าที่พิจารณาส่วนนี้ให้เป็นไปตามข้อยุติในขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเห็นว่า เท่ากับว่านายกรัฐมนตรีไม่เห็นความสำคัญที่จะแก้ไขปัญหาบนรากฐานของข้อเท็จจริงตามหลักการสากล ซึ่งหากเราไม่จัดการกับความจริง ประวัติศาสตร์หน้านี้จะเป็นชนวนให้คนไทยบาดหมางกินใจกันตลอดไป

“ดิฉันแทบหมดกำลังใจกับมติที่ให้ปล่อยขั้นตอนเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ขอย้ำว่าดิฉันเชื่อมั่นในศาลยุติธรรม แต่ไม่เชื่อมั่นในเส้นทางของคดีที่จะเดินทางไปสู่ศาลยุติธรรม เพราะทิศทางการทำคดีของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่ผ่านมาก็เป็นที่ประจักษ์ดีว่าโน้มเอียงอย่างไร ดิฉันจึงเรียกร้องมาตลอดว่าในฐานะครอบครัวเจ้าหน้าที่ทหารที่เสียชีวิต อยากขอร้องให้นายกรัฐมนตรีกรุณาลงมากำกับดูแลการทำงานของหน่วยงานด้านยุติธรรมของรัฐให้เป็นไปด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม ปราศจากการแทรกแซง มิใช่ปล่อยให้ทำงานภายใต้ความเคลือบแคลงสงสัยตามเดิม” นางนิชา กล่าว

ส่วนเนื้อหารายงานบทที่ 3 สาเหตุและรากเหง้าของปัญหา ปคอป.มีมติว่าเห็นเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากเป็นที่มาของปัญหาที่ต้องก้าวไปสู่การปรองดองระยะยาว จึงมีความเห็นว่าจะนำข้อมูลส่วนหนึ่งไปเป็นเนื้อหาของการจัดเวทีประชาเสวนา ซึ่ง นางนิชา เห็นว่า นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการ เวทีสานเสวนาจึงอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีเจ้าสังกัดจากพรรคการเมืองที่เป็นคู่กรณีความขัดแย้ง ดังนั้น นายกรัฐมนตรีจึงต้องให้หลักประกันกับสังคมว่าจะไม่ใช้เวทีสานเสวนาเป็นเครื่องมือทางการเมืองให้กับพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล ต้องแสดงความโปร่งใสในการจัดสานเสวนา ถ้าเป็นประเด็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คดีซุกหุ้น การสลายการชุมนุม ตามที่ปรากฏเป็นข่าว ไม่เรียกว่าสานเสวนา

ส่วนเนื้อหารายงานบทที่ 4 เรื่องการเยียวยาและฟื้นฟูเหยื่อที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ปคอป.มีมติว่าดำเนินการแล้ว และจะดำเนินการให้เสร็จสิ้น ตามขั้นตอนต่อไป นางนิชา เห็นว่า ยังไม่มีการตอบคำถามว่าหากภายหลังเป็นที่ปรากฏว่าผู้ได้รับเงินเยียวยาเป็นผู้กระทำความผิดอาญาจะดำเนินการอย่างไร จึงจะเป็นไปตามหลักนิติรัฐซึ่งนายกรัฐมนตรีมักอ้างถึง และเนื้อหารายงานบทที่ 5 ข้อเสนอแนะ รายงาน ปคอป.ซึ่งมีมติมอบให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องพิจารณาความเป็นไปได้ในการดำเนินการ นางนิชา เห็นว่า หากนายกรัฐมนตรีไม่ผลักดันเรื่องนี้ไม่มีโอกาสสำเร็จ เพราะลำพังหน่วยราชการไม่สามารถดำเนินการเองได้ เนื่องจากข้อเสนอยังไม่เป็นรูปธรรม ยังต้องการการพูดคุยเจรจากับทุกฝ่ายในสังคม ทั้งนี้ ตนให้น้ำหนักความสำคัญกับข้อเสนอแนะเพราะเป็นความหวังที่จะป้องกันความรุนแรงในอนาคตได้ แต่จนบัดนี้ยังไม่เห็นใครทำอะไรกับเรื่องนี้ ทางออกเดียวที่เหลืออยู่สำหรับประชาชน ที่ถูกให้ค่าว่าเป็นเสียงส่วนน้อย จึงต้องรวมตัวชุมนุมครั้งแล้ว ครั้งเล่า รวมถึงการชุมนุมใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ด้วย

“นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการปรองดองสมานฉันท์อย่างจริงใจ หากนายกรัฐมนตรีจะเปิดใจรับฟังปัญหาและความต้องการของทุกฝ่ายด้วยใจเป็นธรรม โดยถือว่าแม้เพียงเสียงเดียวเขา ก็คือ ประชาชนของท่าน หากที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีจะใช้อำนาจบริหารสูงสุดที่มีอยู่ในมือบริหารประเทศบนความเป็นกลาง และเท่าเทียมกันของทุกฝ่าย ก็อาจช่วยสร้างบรรยากาศของความไว้เนื้อเชื่อใจในสังคมได้บ้าง และในที่สุดอาจลดเงื่อนไขที่จะนำไปสู่การชุมนุมใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว นายกรัฐมนตรีบอกประชาชนของท่านได้หรือไม่ว่าที่ผ่านมาสิ่งใด คือ นโยบาย-บทบาทของนายกรัฐมนตรีในการสร้างความสามัคคีปรองดองของคนในชาติ เพราะสิ่งที่เราเห็นคือ ท่านพยายามเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ให้น้อยที่สุด ทั้งนี้ เพราะมันอาจนำมาซึ่งความสั่นคลอนไม่มั่นคงของเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของท่านใช่หรือไม่?” นางนิชา กล่าว

นางนิชา กล่าวอีกว่า เกือบ 3 ปีที่ผ่านมา คนไทยจึงไม่ได้เรียนรู้บทเรียนความสูญเสียที่เกิดขึ้นร่วมกัน ตรงกันข้าม เรากำลังเข้าสู่สนามสงครามที่อาจรุนแรงกว่าเดิม ซึ่งตนได้แต่งชุดดำไว้ทุกข์มาเกือบ 3 ปี เพื่อเป็นสัญลักษณ์เตือนใจให้ทุกฝ่ายสังวรณ์ถึงความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นตราบใดที่บ้านเมืองยังไม่สงบ และไม่ปรารถนาให้ใครต้องมาแต่งชุดดำเหมือนกับตนอีก หาก พล.อ.ร่มเกล้า ยังมีชีวิตอยู่ในวันนี้ เขาจะทำอะไรเพื่อพี่น้องร่วมชาติได้อีกมาก แต่ถึงแม้จะต้องตาย เขาก็ยังใช้ความตายของเขาทำหน้าที่ปกป้องรักษาชีวิตของเพื่อนร่วมชาติ แล้วคนที่ยังมีชีวิต มีอำนาจอยู่ในมือจะนิ่งดูคนไทย ทำร้ายกันเองหรือ พร้อมกับขอวิงวอนว่า หากปราศจากซึ่งความจริงใจของนายกรัฐมนตรี ปราศจากเจตจำนงค์ทางการเมืองของผู้บริหารสูงสุดของประเทศแล้ว ปัญหาความแตกแยกของคนในชาติไม่มีวันแก้ไขได้ และตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่สามารถลอยตัวนิ่งอยู่เหนือปัญหาที่เป็นความเป็น ความตายของชีวิตคนในชาตินี้ได้

สำหรับบันทึกในหัวข้อ “ความจริงใจของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” มีดังนี้

“ย้อนกลับไปหลังเหตุโศกนาฏกรรมชองชาติเมื่อปี ๒๕๕๓ ทุกคนต่างพูดว่า “เป็นบทเรียนที่คนไทยต้องเรียนรู้ร่วมกันและป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นอีก” และเมื่อนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ารับตำแหน่ง ก็ได้ประกาศนโยบายเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรก เป็นข้อแรก ว่าจะเร่งสร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติ สร้างความสามัคคี นำพาประเทศก้าวผ่านความขัดแย้งนี้ โดยนายกรัฐมนตรีได้แสดงเจตนาว่า มอบหมายให้คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐบาลที่แล้วเป็นผู้ดำเนินการอย่างอิสระให้ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายอย่างเต็มที่ในการค้นหาข้อเท็จจริง

หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ก็ไม่เคยแตะต้องประเด็นนี้อีกเลย ผลักภาระให้เป็นหน้าที่ของกลไกรัฐสภาแทน โดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร ได้เสนอรายงานวิจัยการสร้างความปรองดองแห่งชาติจัดทำโดยสถาบันพระปกเกล้าในเดือนมีนาคม ๒๕๕๕ ซึ่งปรากฎว่ามีประเด็นไม่เป็นที่ยอมรับทั้งในส่วนของเนื้อหาที่เสนอเรื่องการนิรโทษกรรม ทั้งยังถูกวิจารณ์โต้แย้งในระเบียบวิธีวิจัย จนนำไปสู่การเสนอทางออกให้รอการสานเสวนารับฟังความเห็นของประชาชนทั่วประเทศ

ระหว่างนั้น ชะตากรรมของเหยื่อผู้ได้รับผลกระทบทุกๆฝ่าย ก็ต้องต่อสู้ดิ้นรนกันไปวันๆ เสมือนหนึ่งสงครามการสู้รบระหว่างสองฝ่ายยังไม่จบสิ้น มีการช่วงชิงความได้เปรียบในการรุกไล่ฝ่ายตรงข้าม ช่วงชิงพื้นที่ในการใส่ร้ายป้ายสีกันและกัน มีการล้างแค้นเอาคืน กลั่นแกล้งข้าราชการที่ถูกมองว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม (ดิฉันโดนด้วย) มีบรรยากาศของความไม่เป็นธรรมจนหมดความมั่นใจในความหมายของคำว่านิติธรรมและนิติรัฐ ว่าเป็นเพียงแค่วาทกรรมอันสวยหรูของผู้นำหรือ ความคาดหวังของสังคมที่จะสลายสีกลับกลายเป็นแบ่งสีให้ยิ่งชัดเจนมากขึ้น จากความกดดันของคนในสังคมที่ถูกกระทำ จากความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม และจากความไม่พอใจของของเสียงประชาชนในสังคมส่วนหนึ่งที่คนในรัฐบาลไม่สนใจรับฟังโดยตีราคาว่าเป็นเสียงส่วนน้อย (เหตุการณ์นี้ทำให้เข้าใจหัวอกพี่น้องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มากขึ้นว่าความรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมมันเป็นชนวนระเบิดในหัวใจที่รุนแรงเพียงใด)

ภาพรวมที่ปรากฏคือรัฐบาลลงมาเป็นคู่กรณี ในการต่อสู้ โดยใช้กลไกอำนาจรัฐที่มีอยู่เป็นเครื่องมือ มากกว่าจะวางตัวเป็นกรรมการที่รักษาความเป็นกลางในการแข่งขันที่เป็นธรรม และไม่ว่านายกรัฐมนตรีจะวางเฉยต่อเรื่องนี้อย่างไร ก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบในฐานะหัวหน้ารัฐบาลได้ และ การนิ่งเฉย ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นกลาง

ในที่สุด รายงานฉบับสมบูรณ์ของ คอป. ที่นายกรัฐมนตรีเคยแสดงท่าทีว่ารอคอยและให้ความสำคัญ ก็ได้เสร็จสิ้นลง มีการแถลงให้สาธารณะชนรับทราบเมื่อ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๕ ไม่ว่าผลของรายงานจะเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่เรารอคอยอยากทราบคือขั้นตอนต่อไปนายกรัฐมนตรีจะตัดสินใจดำเนินการอย่างไรให้เป็นไปตามเจตนารมย์ที่เคยประกาศเป็นวาระแห่งชาติไว้ โดยเนื้อหาสำคัญของรายงาน คอป.นั้นมีสองส่วนคือส่วนที่เป็น ข้อเท็จจริง และ ส่วนที่เป็นข้อเสนอแนะ เรารอคอยฟังว่านายกรัฐมนตรีจะทำอย่างไรเพื่อให้เกิดการยอมรับร่วมกันของฝ่ายต่างๆ ในส่วนของเนื้อหาข้อเท็จจริง เรารอดูว่านายกรัฐมนตรีจะทำอย่างไรเพื่อให้ข้อเสนอแนะของ คอป. มีการนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุร้ายอีกในอนาคต

เราคอยอยู่หลายวันถึงท่าที คำสัมภาษณ์ ความเห็น และจุดยืนของนายกรัฐมนตรีต่อรายงานฉบับนี้ (ว่าจะยอมรับทันทีเหมือนเมื่อครั้งแรกที่ คอป. เสนอเรื่องการเยียวยาและรัฐบาลเห็นชอบให้ดำเนินการทันทีหรือไม่) และ จะสั่งการให้ดำเนินการอย่างไร แต่ก็ต้องผิดหวังเพราะไม่มีการแสดงท่าทีความเห็นแต่อย่างใด นายกรัฐมนตรีพูดแค่เพียงว่า มอบหมายให้คณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจ สอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ- ปคอป. (รองนายกรัฐมนตรี ยงยุทธ วิชัยดิษฐ เป็นประธาน และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นฝ่ายเลขานุการ) รับไปพิจารณาดำเนินการ

ในช่วงนั้นพื้นที่สื่อก็เต็มไปด้วยประเด็นการโต้แย้งเรื่อง “การมีอยู่หรือไม่” ของชายชุดดำอยู่หลายวัน อย่างไม่น่าเชื่อว่าเราจะถอยหลังมาเถียงกันเรื่องนี้อีกทำไม เพราะเราควรจะก้าวไปเถียงกันว่า “ชายชุดดำเป็นใคร” มากกว่ามิใช่หรือ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม กระแสเรื่อง ชายชุดดำกลบบทบาทของนายกรัฐมนตรี เท่ากับว่า คณะกรรมการ ป.คอป. (ซึ่งมีผู้แทนเป็นหน่วยราชการและผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนหนึ่ง)มีความเห็นว่าอย่างไร นายกรัฐมนตรีก็ดำเนินการตามนั้น ป.คอป. คือผู้รับหน้าที่จัดการความสมานฉันท์ของคนในชาติแทนนายกรัฐมนตรี การนิ่งเฉยของนายกรัฐมนตรีต่อประเด็นปัญหาสำคัญนี้เป็นการแสดงความจริงใจในการผลักดันนโยบายที่เคยประกาศไว้ว่าเป็นนโยบายสำคัญเร่งด่วนข้อแรกหรือ?

ผ่านไปเกือบครึ่งเดือน ในที่สุดวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๕ จึงได้มีการประชุม ป.คอป. ของรัฐบาล โดยพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก เป็นประธานการประชุม แทน นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ซึ่งเพิ่งลาออกจากตำแหน่ง ต่อไปนี้คือผลสรุปการประชุมของคณะกรรมการต่อรายงาน คอป. ๓๐๐ กว่าหน้า พร้อมข้อวิจารณ์ของดิฉัน ดังนี้

๑ เนื้อหารายงาน คอป.บทที่ ๒ สรุปเหตุความรุนแรงและการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้น

ป.คอป.ของรัฐบาล มีมติเพียงรับทราบ โดยป.คอป.ไม่มีหน้าที่พิจารณาส่วนนี้ให้เป็นไปตาม ข้อยุติในขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม

ข้อวิจารณ์ของผู้เขียน

๑.๑)รายงาน คอป.ฉบับนี้กำลังถูกเก็บไว้เฉยๆ เท่ากับว่านายกรัฐมนตรีไม่เห็นความสำคัญที่จะแก้ไขปัญหาบนรากฐานของข้อเท็จจริงตามหลักการสากล มิฉะนั้นแล้ว นายกรัฐมนตรีคงจะดำริสั่งการให้จัดเวทีเปิดโอกาสให้คู่กรณีฝ่ายต่างๆ ได้โต้แย้งกันในเรื่องข้อเท็จจริงด้วยเหตุผลพยานหลักฐานที่แต่ละฝ่ายเชื่อ เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ติดตามรับฟังและตัดสินใจเลือกเชื่อหลักฐานเหตุผลของแต่ละฝ่าย ภายใต้เงื่อนไขบรรยากาศการโต้แย้งด้วยสันติวิธี ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยบทบาทนำของนายกรัฐมนตรีเท่านั้นในการควบคุมกลุ่มความเคลื่อนไหวต่างๆ ให้ดำเนินการอย่างสันติอยู่ภายในกรอบกติกา

ทั้งนี้หากเราไม่จัดการกับความจริง ประวัติศาสตร์หน้านี้จะเป็นชนวนให้คนไทยบาดหมางกินใจกันตลอดไป เฉกเช่นปัญหาประวัติศาสตร์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และไม่มีวันที่จะมีการขอโทษและให้อภัย ตามเส้นทางปรองดองที่คาดหวัง เพราะไม่มีใครยอมรับว่าตนเองผิด

๑.๒)ดิฉันแทบหมดกำลังใจกับมติที่ให้ปล่อยขั้นตอนเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ขอย้ำว่าดิฉันเชื่อมั่นในศาลยุติธรรม แต่ไม่เชื่อมั่นในเส้นทางของคดีที่จะเดินทางไปสู่ศาลยุติธรรม เพราะทิศทางการทำคดีของ DSI ที่ผ่านมาก็เป็นที่ประจักษ์ดีว่าโน้มเอียงอย่างไร ดิฉันจึงเรียกร้องมาตลอดว่าในฐานะครอบครัวเจ้าหน้าที่ทหารที่เสียชีวิต อยากขอร้องให้นายกรัฐมนตรีกรุณาลงมากำกับดูแลการทำงานของหน่วยงานด้านยุติธรรมของรัฐให้เป็นไปด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม ปราศจากการแทรกแซง มิใช่ปล่อยให้ทำงานภายใต้ความเคลือบแคลงสงสัยตามเดิม บทบาทนี้อยู่ใน วิสัยที่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะเรียกความเชื่อมั่นต่อหน่วยงานรัฐ แสดงให้ฝ่ายคู่กรณีที่อยู่ตรงข้ามรัฐเห็นความจริงใจของรัฐบาลที่จะปรองดองได้ หากมีความตั้งใจจริง

๒ เนื้อหารายงานบทที่ 3 สาเหตุและรากเหง้าของปัญหา

ปคอป. มีมติว่าเห็นเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากเป็นที่มาของปัญหาที่ต้องก้าวไปสู่การปรองดองระยะยาว ปคอป.จึงมีความเห็นว่าจะนำข้อมูลส่วนหนึ่งไปเป็นเนื้อหาของการจัดเวทีประชาเสวนา

ข้อวิจารณของผู้เขียน -นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการ เวทีสานเสวนาจึงอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีเจ้าสังกัดจากพรรคการเมืองที่เป็นคู่กรณีความขัดแย้ง ดังนั้น นายกรัฐมนตรีจึงต้องให้หลักประกันกับสังคมว่าจะไม่ใช้เวทีสานเสวนาเป็นเครื่องมือทางการเมืองให้กับพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล ต้องแสดงความโปร่งใสในการจัดสานเสวนา เช่น ใครคือกลุ่มเป้าหมาย วิธีการดำเนินการเป็นอย่างไร ผู้ดำเนินการมีความอิสระเป็นกลางหรือไม่ ประเด็นคำถามชี้นำหรือไม่ ฯลฯ (ถ้าเป็นประเด็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คดีซุกหุ้น การสลายการชุมนุม ตามที่ปรากฎเป็นข่าว ไม่เรียกว่าสานเสวนา)

๓ เนื้อหารายงานบทที่ ๔ เรื่องการเยียวยาและฟื้นฟูเหยื่อที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ

ปคอป.มีมติว่าดำเนินการแล้ว และจะดำเนินการให้เสร็จสิ้น ตามขั้นตอนต่อไป

ข้อวิจารณ์ของผู้เขียน - ยังไม่มีการตอบคำถามว่าหากภายหลังเป็นที่ปรากฏว่าผู้ได้รับเงินเยียวยาเป็นผู้กระทำความผิดอาญาจะดำเนินการอย่างไร จึงจะเป็นไปตามหลักนิติรัฐซึ่งนายกรัฐมนตรีมักอ้างถึง

๔ เนื้อหารายงานบทที่ ๕ ข้อเสนอแนะ รายงาน ปคอป.

ป.คอป.มีมติมอบให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องพิจารณาความเป็นไปได้ในการดำเนินการ

ข้อวิจารณ์ของผู้เขียน หากนายกรัฐมนตรีไม่ผลักดันเรื่องนี้ไม่มีโอกาสสำเร็จ เพราะลำพังหน่วยราชการไม่สามารถดำเนินการเองได้ เนื่องจากข้อเสนอยังไม่เป็นรูปธรรม ยังต้องการการพูดคุยเจรจากับทุกฝ่ายในสังคม ไม่ว่าจะเป็น เจ้าหน้าที่รัฐ สื่อมวลชน แกนนำ ผู้ชุมนุม ฯลฯ ให้ยอมรับเงื่อนไขแนวทางที่ปฏิบัติได้จริง ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยเจตจำนงค์ทางการเมืองของนายกรัฐมนตรีอย่างแท้จริง

ในการนี้ ดิฉันให้น้ำหนักความสำคัญกับข้อเสนอแนะเพราะเป็นความหวังที่จะป้องกันความรุนแรงในอนาคตได้ แต่จนบัดนี้ยังไม่เห็นใครทำอะไรกับเรื่องนี้ ทางออกเดียวที่เหลืออยู่สำหรับประชาชน(ที่ถูกให้ค่าว่าเป็นเสียงส่วนน้อย) จึงต้องรวมตัวชุมนุมครั้งแล้ว ครั้งเล่า รวมถึงการชุมนุมใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ ๒๔ พ.ย.ศกนี้ด้วย

หากช่วงเวลาที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการปรองดองสมานฉันท์อย่างจริงใจ (ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ประเด็นสนทนากับแขกต่างประเทศที่เดินทางมาเยือนไทย หรือกับผู้นำต่างชาติที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปเยือน) หากนายกรัฐมนตรีจะเปิดใจรับฟังปัญหาและความต้องการของทุกฝ่ายด้วยใจเป็นธรรม โดยถือว่าแม้เพียงเสียงเดียวเขาก็คือประชาชนของท่าน หากที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีจะใช้อำนาจบริหารสูงสุดที่มีอยู่ในมือบริหารประเทศบนความเป็นกลางและเท่าเทียมกันของทุกฝ่าย (ตัวอย่างเช่น ลงมากำชับกำกับการทำงานของ DSI ให้โปร่งใสเป็นที่ยอมรับ) เหล่านี้ก็อาจช่วยสร้างบรรยากาศของความไว้เนื้อเชื่อใจในสังคมได้บ้าง และในที่สุดอาจลดเงื่อนไขที่จะนำไปสู่การชุมนุมใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ... แต่ในความเป็นจริงแล้ว...นายกรัฐมนตรีบอกประชาชนของท่านได้หรือไม่ว่าที่ผ่านมาสิ่งใดคือนโยบาย-บทบาทของนายกรัฐมนตรีในการสร้างความสามัคคีปรองดองของคนในชาติ.. เพราะสิ่งที่เราเห็นคือ....ท่านพยายามเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ให้น้อยที่สุด (ทั้งที่ท่านเคยแถลงว่าเป็นนโยบายสำคญที่สุดเป็นข้อแรก)... ทั้งนี้เพราะ....มันอาจนำมาซึ่งความสั่นคลอนไม่มั่นคงของเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของท่านใช่หรือไม่ ?

เกือบสามปีที่ผ่านมา คนไทยจึงไม่ได้เรียนรู้บทเรียนความสูญเสียที่เกิดขึ้นร่วมกัน ตรงกันข้าม เรากำลังเข้าสู่สนามสงครามที่อาจรุนแรงกว่าเดิม ดิฉันแต่งชุดดำไว้ทุกข์มาเกือบ ๓ ปี เพื่อเป็นสัญลักษณ์เตือนใจให้ทุกฝ่ายสังวรณ์ถึงความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นตราบใดที่บ้านเมืองยังไม่สงบ และไม่ปรารถนาให้ใครต้องมาแต่งชุดดำเหมือนกับดิฉันอีก หากพลเอกร่มเกล้า ยังมีชีวิตอยู่ในวันนี้ เขาจะทำอะไรเพื่อพี่น้องร่วมชาติได้อีกมาก แต่ถึงแม้จะต้องตาย เขาก็ยังใช้ความตายของเขาทำหน้าที่ปกป้องรักษาชีวิตของเพื่อนร่วมชาติ แล้วคนที่ยังมีชีวิต มีอำนาจอยู่ในมือจะนิ่งดูคนไทย ทำร้ายกันเองหรือ?

ในฐานะภรรยาของ พลเอก ร่มเกล้า ธุวธรรม และในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่เป็นเหยื่อของความรุนแรงทางการเมือง จึงเขียนบทความนี้ด้วยเจตนาจะร้องขอวิงวอนว่า หากปราศจากซึ่งความจริงใจของนายกรัฐมนตรี ปราศจากเจตจำนงค์ทางการเมืองของผู้บริหารสูงสุดของประเทศแล้ว ปัญหาความแตกแยกของคนในชาติไม่มีวันแก้ไขได้ และเหนืออื่นใด ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่สามารถลอยตัวนิ่งอยู่เหนือปัญหาที่เป็นความเป็น-ความตายของชีวิตคนในชาตินี้ได้”
กำลังโหลดความคิดเห็น