กสทช.แจงออกประกาศหลักเกณฑ์การประมูลเป็นไปอย่างถูกต้องและเป็นธรรม พร้อมยกคดีแดงที่ 80/47 เปรียบเทียบยันมีอำนาจตาม รธน.มาตรา 47 ระบุทีโอทีได้ไปแล้ว 15 เมกะเฮิรตซ์ เผยหากศาลสั่งระงับออกใบอนุญาต เสียหายเกินกว่าวันละ 210 ล้านแน่ แถมสุ่มเสี่ยงโดนเอกชนฟ้องร้องด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (15 พ.ย.) ภายหลังการไต่สวนคดีที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นฟ้องสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อขอให้เพิกถอนการจัดประมูลคลื่นความถี่ 3จี กว่า 4 ชั่วโมง พ.อ.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ ประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า กสทช.เชื่อว่าระบบกระบวนการยุติธรรมจะเป็นที่พึ่งของประชาชนและ กสทช. เนื่องจากการดำเนินการของ กสทช.เป็นไปด้วยความโปร่งใส ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ก็ยอมรับคำวินิจฉัยที่จะออกมาไม่ว่าจะออกมาในทางใด
ด้านนายสุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการ กสทช.กล่าวว่า กสทช.ได้นำผู้เกี่ยวข้องเข้าชี้แจงรวม 8 ปาก โดยชี้แจงครบทุกประเด็น ว่าในการออกประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการประมูลก็เป็นไปตามขั้นตอนชอบด้วยกฎหมาย ที่ถูกฟ้องเพราะการประมูลไม่ถูกใจคนอื่น ไม่ใช่ไม่ถูกกฎหมาย ส่วนคำฟ้องของผู้ตรวจแผ่นดินก็ฟ้องผิดตัวเพราะสำนักงาน กสทช.ไม่ได้มีอำนาจออกประกาศ หรือรับรองผลประมูล อีกทั้งในคำฟ้องก็ระบุเพียงว่า ประกาศหลักเกณฑ์ฯ ไม่ชอบ มีการใช้ดุลยพินิจไม่ชอบ แต่ก็ไม่ระบุว่าไม่ชอบอย่างไร ซึ่ง กสทช.ก็ได้มีการรวบรวมความคิดเห็นของนักวิชาการที่เห็นว่าควรมีการเดินหน้าในการอใบอนุญาตมาให้กับศาล พร้อมกับยกคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีหมายเลขแดงที่ 80/47 ซึ่งเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกำกับยา ที่มีการระบุว่า กรณีมีความเห็นที่แตกต่างกัน ศาลปกครองจะไม่เข้าไปก้าวล่วงในการวินิจฉัย เพราะถือว่าเป็นหน้าที่ขององค์กรที่มีความชำนาญพิเศษจะต้องเป็นผู้พิจารณาชี้ขาด ตรงนี้เมื่อเทียบกับกรณีนี้แล้วถือว่ากสทช.เป็นผู้ที่มีความชำนาญพิเศษในเรื่องกิจการโทรคมนาคม ย่อมรู้ดีว่าสิ่งใดเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 47 บัญญัติ
“ในเรื่องที่ผู้ตรวจอ้างว่าไม่มีการแข่งขันเสรีเป็นธรรมนั้น กสทช.ก็ได้ชี้แจงศาลว่าการจะดูว่าเสรีเป็นธรรมหรือไม่ ไม่สามารถมองเฉพาะเวลาประมูลได้ แต่ต้องดูทั้งระบบ คือคุณสมบัติของผู้เข้าประมูล ประโยชน์ของผู้เข้าประมูล อีกทั้งก่อนหน้านี้ กสทช.ก็ได้มีการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 2.1 กิกะเฮิรตซ์ให้กับบริษัททีโอที จำกัด มหาชนไปแล้ว 15 เมกะเฮิรตซ์ตามกฎหมายเก่า ฉะนั้นเมื่อมีผู้ประกอบอีก 3 รายเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้การใช้คลื่นมีผู้ประกอบการถึง 4 รายที่จะแข่งขันให้บริการกับประชาชน”
นายสุทธิพลกล่าวให้เหตุผลถึงความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นหากศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาโดยระงับการออกใบอนุญาต 3จีไว้ก่อนว่าจะเสียหายยิ่งกว่าการประมูลเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เพราะครั้งที่แล้วการประมูลยังไม่เกิดขึ้นก็มีความเสียหายวันละ 210.8 ล้านบาทต่อวัน แต่ในครั้งนี้มีการประมูลเกิดขึ้นแล้ว มีการรับรอง เอกชนก็ไปกู้เงินเตรียมลงทุนในเรื่องของโครงข่าย ประชาชนก็คาดหวัง ถ้าการออกใบอนุญาตถูกระงับ หรือการประมูลต้องล้มไปเอกชนและประชาชนที่คาดหวังก็อาจฟ้องกลับ กสทช.ได้ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าผลคำวินิจฉัยจะออกมาอย่างไรทาง กสทช.ก็เตรียมแนวทางในการดำเนินการรับมือไว้ทุกด้านแล้ว