“สุริยะใส” แนะองค์การพิทักษ์สยามเร่งช่วงชิงพื้นที่สื่อก่อน 24 พ.ย. เพื่อล้างความเข้าใจผิดแช่แข็งประเทศที่ถูกฝ่ายรัฐบาลเอาไปใส่ร้ายโจมตี เสนอให้ทีมโฆษกแถลงข่าวทุกวัน เชื่อถ้าชาวบ้านเห็นเป้าหมายปฏิรูปประเทศชัดเจน จะได้แนวร่วมเพิ่ม ด้าน “พิชาย” วิเคราะห์อาจเกิดการยึดสภาโดยประชาชน จับตาหากประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินทหารจะเลือกปราบฝ่ายไหน
วันที่ 13 พ.ย. รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองคณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน ได้ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV
โดยนายสุริยะ กล่าวว่า รัฐบาลคงหนักใจกับการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยาม วันที่ 24 พ.ย. นี้ โดยวิเคราะห์กันว่า จะมาชุมนุมแค่วันเดียวแล้วกลับจริงตามที่พล.อ.บุญเลิศ บอกหรือไม่ จะมีลับลวงพรางหรือเปล่า เพราะมวลชนมาจำนวนมาก ให้กลับคงไม่ใช่เรื่องง่าย หรือโมเดลที่สอง อาจชุมนุมยืดเยื้อไปถึง 25 พ.ย. แล้วคนเยอะจนล้นไปหน้าสภา ซึ่งสภาก็จะถูกปิดไปโดยปริยาย การอภิปรายไม่ไว้วางใจก็จะไม่เกิดขึ้น
โมเดลที่หนึ่งเป็นไปได้ยากที่คนมาเยอะแล้วจะกลับโดยไม่มีอะไร รัฐบาลอาจประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยัดข้อหากบฏ และสั่งสลายการชุมนุม ปัญหาคือ ตำรวจกับทหารกล้าหรือไม่ และถ้าออกจากมาแล้วจะไปปราบฝ่ายไหน ถึงที่สุดแล้วโมเดลที่สอง มันลากทุกองค์อำนาจออกมาแสดงจุดยืนทางการเมือง แบบที่สองเป็นไปได้มากสุด
ส่วนโมเดลที่สาม รัฐบาลอาจสร้างสถานการณ์ให้เกิดการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินก่อนวันที่ 24 พ.ย. เพื่อไม่ให้เกิดการชุมนุม และให้การประชุมสภาผ่านไปได้ วิธีนี้ต้องใช้ทหารเป็นเครื่องมือ ซึ่งน่ากลัวกว่าปล่อยให้เกิดการชุมนุมเสียอีก เพราะสามารถเกิดเหตุแทรกซ้อน
นายสุริยะใส กล่าวอีกว่า ในบริบทคำว่าแช่แข็งประเทศต้องขยายความ เพราะตีความเชิงลบก็ได้ ตอนนี้ฝ่ายตรงข้ามก็เอาโจมตีกัน แต่หากดูจากปฏิญญา 6 ข้อ ของ พล.อ.บุญเลิศ ก็ถือว่าก้าวหน้า แต่ว่าโอกาสที่สื่อถึงสังคมมันน้อย ถ้าทำงานมากกว่านี้อาจได้แนวร่วมเพิ่ม และแน่นอนแรงต้านก่อน 24 พ.ย. รัฐบาลพยายามบีบกลุ่มผู้ชุมนุมให้เป็นกบฏ ให้เห็นว่าทำลายความมั่นคง ทำลายประชาธิปไตย ทำลายเศรษฐกิจ ซึ่งต้องฝ่าข้ามวาทกรรมพวกนี้ไปให้ได้ มันต้องแข่งกับเวลาจริงๆ เพื่อให้ประชาชนเห็นถึงข้อเสนอขององค์การพิทักษ์สยาม เข้าใจว่าต้องมีโฆษกออกแถลงข่าวทุกวัน เพื่อชิงพื้นที่ข่าว 10 วันนี้ต้องทำงานกันหนัก เพราะงานมันใหญ่ แล้วครั้งนี้จะสำเร็จหรือไม่ ต้องชมเชย และให้กำลังใจ เพราะกล้าคิดและกล้าทดลองทำ ถ้าแพ้ไม่ใช่จบทันที ประเทศชาติไม่ได้เปลี่ยนแปลงแค่วันเดียว
พื้นที่ข่าวตอนนี้มันน้อยไปในการที่จะบอกถึงแผนปฏิรูป อย่าคิดแค่ว่าจะระดมพลังจากคนเกลียดชังรัฐบาล แต่ต้องมีพลังจากคนที่ต้องการปฎิรูปด้วย นอกจากนี้ ต้องเติมด้านวิชาการเข้าไปมากกว่าให้เป็นภาพของทหารในการนำ เพราะถ้าเป็นภาพลักษณ์ทหารมันมีหลายคนที่ไม่ไว้วางใจ ต้องสร้างภาพลักษณ์ให้เห็นไม่รีรอที่จะเข้าร่วม จุดแข็ง พล.อ.บุญเลิศคือ สามารถเอาแนวร่วมทุกกลุ่มมารวมกันได้ แต่จุดอ่อนคือ ไม่เห็นชุดความคิดที่จะนำไปสู่การปฏิรูป ต้องขยันขยายความในทุกสื่อ ทุกช่องทาง
นายพิชาย กล่าวว่า หากมวลชนไม่ยอมกลับ ชุมนุมยาวไปถึงวันที่ 25 พ.ย. แล้วส.ส.ฝ่ายรัฐบาลจะกล้าเข้าสภาหรือเปล่า หนักกว่านั้นมวลชนอาจประกาศยึดสภาเลย และแถลงว่าไม่มีสภาแล้ว ส.ส.ก็พ้นสภาพไปโดยประกาศของประชาชน สถานการณ์แบบนี้ต้องตีกลับ รัฐบาลก็จะประกาศว่าเป็นกบฏ สั่งให้ทหาร ตำรวจ ออกมาปราบ หรืออาจเอาเสื้อแดงมาขนาบ ปัญหาคือ ถ้าเป็นกบฏการเคลื่อนไหวของทหารจะเป็นอย่างไร ถ้าออกมาแทนที่ปราบประชาชนอาจไปปราบรัฐบาลแทน เปลี่ยนแปลงรัฐบาลไปเลย
นายพิชาย กล่าวต่อว่า คำว่าแช่แข็งประเทศ พล.อ.บุญเลิศ คงไม่ได้หมายความว่าปิดประเทศ แต่เป็นการปิดบทบาทนักการเมือง แล้วตั้งเป็นคณะกรรมการจากภาคประชาชนขึ้นมา เพื่อจัดโครงสร้างในการบริหารประเทศ และสร้างประชาธิปไตยขึ้นมา ให้การเมืองหลุดพ้นจากการคอร์รัปชัน และระบอบอุปถัมภ์ ในอีก 5 ปีข้างหน้า ผู้มาดำเนินการตรงนี้จะต้องมีภารกิจหนัก
ที่สำคัญในระยะสั้นต้องทำให้เห็นว่าดีกว่าการปกครองโดยนักการเมือง เพื่อลดกระแสการต่อต้าน เช่น ราคาน้ำมันลดลงทันที 10 บาท เรื่องค่าไฟ เรื่องพลังงานก็ต้องทบทวน นักการเมืองต้องุยติบทบาทไปเลย เพราะทำให้ประเทศเสียหาย
นายพิชาย ยังกล่าวด้วยว่า ต้องระวังเพราะอาการที่รัฐบาลคิดแต่จะรักษาอำนาจเอาไว้ ก็อาจตัดสินใจไปโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมา กลุ่มเสื้อแดง หรือทักษิณพอเห็นว่ารัฐบาลสั่นคลอนก็อาจตอบโต้ด้วยความรุนแรง แล้วมันก็มีแนวโน้นค่อนข้างสูงที่จะเป็นเช่นนั้น
(สำหรับปฏิญญา 6 ข้อ ขององค์การพิทักษ์สยาม มีดังนี้ 1.ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวกัน จะแบ่งแยกมิได้ 2.ประเทศไทยต้องปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข 3.อำนาจอธิปไตยต้องเป็นของประชาชน และประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการปกครองอย่างแท้จริง 4.การบริหารประเทศต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม ปราศจากการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ 5.การดำเนินงานด้านเศรษฐกิจต้องเป็นไปตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และ 6.ร่วมกันกำจัดระบบการเมือง และนักการเมืองที่ทำลายชาติ)