xs
xsm
sm
md
lg

“ปานเทพ” ย้ำ พธม.ทิ้งระยะห่างม็อบเสธ.อ้ายเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ปานเทพ” ย้ำข้อดี พธม.ไม่ร่วมเสธ.อ้าย เพื่อเป็นหลักประกันชั้นที่สองหากเกิดความผิดพลาดกับองค์การพิทักษ์สยาม ความหวังในการปฏิรูปจะได้ไม่สูญสลายไป ชี้การเคลื่อนไหวปฏิรูปประเทศไม่ได้ผูกขาดแค่สองกลุ่ม อยากให้มีหลากหลายกว่านี้ เชื่อเป็นประโยชน์แน่นอน


เมื่อวันที่ 5 พ.ย. นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และ รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองคณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV

โดยนายปานเทพ กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของ พล.อ.บุญเลิศ จากนี้ไปหากสมมติมวลชนมาไม่ถึง 1 ล้านคน แล้วท่านจะเลิกกลางคันหรือเปล่า ซึ่งนั่นจะทำให้มวลชนที่อาจมากันหลายแสนผิดหวัง แล้วการโค่นล้มรัฐบาลไม่ใช่เรื่องง่าย รัฐบาลมีเครื่องมือคือการประกาศยุบสภา เป็นไม้ตายทำได้ง่ายที่สุด หรือลาออก แต่นั่นก็ไม่ได้นำไปสู่การแช่งแข็งการเมือง ต้องไม่ลืมเสื้อแดงเผาบ้านเผาเมือง แต่สุดท้ายถ้าไม่มีกองกำลังสนับสนุนชัดเจนในการยึดอำนาจรัฐก็ไม่สามารถล้มรัฐบาลได้ ปัจจัยชี้ขาดจึงอยู่ที่กองทัพ ยังไม่นับตุลาการนั่นคือปัจจัยที่สอง หรือหากคนมามาก ยึดอำนาจสำเร็จ ให้กองทัพจัดการกับรัฐบาล ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกองทัพต้องประเมินว่าจะชนะหรือแพ้ แล้วมันจะจริงหรือเปล่า 1 ล้านคนจะชนะเป็นเสียงข้างมากที่มั่นคงถาวร

การปฏิวัติประชาชนในหลายๆ ประเทศเกิดจากการที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่าต้องการการเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าเป็นเพียงการสู้เชิงขั้วอำนาจ แล้วทั้งสองฝ่ายมีมวลชน มันไม่ใช่การปฏิวัติประชาชน แต่มันคือการก่อสงครามประชาชน อันนี้เป็นควมเสี่ยง จึงไม่ง่ายที่กองทัพจะเลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่จะได้รับชัยชนะแน่ๆ สถานการณ์แบบนี้ต่อให้กองทัพยอมร่วมด้วย ก็จะมีการต่อสู้กลับจากอีกฝ่าย ต่อให้ 1 ล้านคน ก็ไม่ง่ายที่จะชนะ

หรือยึดอำนาจสำเร็จก็ไม่ง่ายที่จะปฏิรูปประเทศได้จริง จะมีการต่อสู้จากอีกฝ่ายจนยืดเยื้อยาวนานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาจใช้เวลาเป็น 10 ปี สถานการณ์แบบนี้โอกาสสำเร็จในแต่ละขั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย พันธมิตรฯ ถึงตัดสินใจทิ้งระยะเพื่อเป็นหลักประกันชั้นที่สอง ถ้าองค์การพิทักษ์สยามทำสำเร็จก็ยินดีด้วย แต่ถ้าไม่สำเร็จเกิดพลั้งพลาด มวลชนรู้สึกไม่บรรลุเป้าหมายตามที่คาดหวัง พันธมิตรฯ ก็ยังสามารถเป็นหลักประกันชั้นที่สองยืนหยัดในการปฏิรูป ให้การปฏิรูปไม่สูญสลายไป

“ข้อดีในการทิ้งระยะห่างจากองค์การพิทักษ์สยาม คือ พล.อ.บุญเลิศ มีเป้าหมายโค่นล้มรัฐบาลก่อน แล้วก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงประเทศ บันไดขั้นแรกนี้จะทำให้มีคนหลายกลุ่มเข้าร่วมด้วย โดยไม่ตะขิดตะขวงใจว่ามีแกนนำพันธมิตรฯ ซึ่งอาจขัดแย้งกับกลุ่มต่างๆ ก่อนหน้านี้ แล้วถ้าทำสำเร็จ เราก็จะเป็นผนังทองแดงให้หลังการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำไปสู่การปฏิรูป แต่ถ้าไม่สำเร็จจะได้ไม่มีใครฉกฉวยโอกาสกวาดล้างทั้งสองฝ่าย โดยอ้างว่าสองฝ่ายทะเลาะกัน เพราะพันธมิตรฯ อยู่ข้างนอกก็ยังคงเรียกร้องการปฏิรูปอยู่ดี ดังนั้น จึงเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ที่สำคัญการเคลื่อนไหวไม่ใช่จำกัดแค่พันธมิตรฯ และองค์การพิทักษ์สยาม กลุ่มต่างๆ สามารถเคลื่อนไหวเพื่อจุดกระแสการเปลี่ยนแปลงได้เสมอ แล้วการเคลื่อนไหวที่ต่างกันเป็นประโยชน์แน่นอน” นายปานเทพระบุ

นายปานเทพ กล่าวอีกว่า พันธมิตรฯ ได้ตัดสินใจสู้ในเชิงประเด็น เช่น เรื่อง ปตท. ปฏิรูปพลังงาน กฎหมายคอร์รัปชัน เพื่อให้สถานการณ์สุกงอม ให้ประชาชนเห็นว่าการต่อสู้เชิงประเด็นไม่มีสี ไม่มีขั้ว ปราศจากข้อสงสัยในการสู้เพื่อขั้วอำนาจ ถึงตอนนั้นถึงจะมีโอกาสในการเปลี่ยนแปลงได้จริง

แต่ถ้าพันธมิตรฯ ออกไปตอนสถานการณ์ยังไม่สุกงอม จะถูกผลักไปเป็นการต่อสู้เพื่อขั้วอำนาจทันที โอกาสปฏิวัติประชาชนได้นั้นมันต้องเกิดการเดือดร้อนพร้อมๆกัน อย่างเช่นจำนำข้าว ตอนนี้ชาวนายังรู้สึกดีที่ได้เงินมา ยังไม่รู้ถึงความเดือดร้อน นอกจากนี้ ถ้าออกไปตอนยังไม่สุกงอม จะยิ่งทำให้ฝ่ายตรงข้ามเติบโตขึ้นเพราะความรู้สึกถูกรังแก และปลุกกระแสอำมาตย์-ไพร่ ประชาธิปไตย-เผด็จการ ทุกประเทศที่มีการปฏิรูป ไม่เกิดขึ้นตอนที่ชาวบ้านรู้สึกสบายๆ แต่เกิดจากการทุกข์แสนสาหัส ไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่ได้มาฟรีๆ แต่ต้องมีต้นทุนเสมอ

ด้านนายพิชาย กล่าวว่า การชุมนุมขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นเรื่องยาก อีกทั้งรัฐบาลยังมีมวลชนเป็นของตัวเอง และนโยบายประชานิยม ทำให้ประชาชนยังไม่รู้สึกว่าถูกกดขี่ข่มเหงจนต้องออกมาโค่นล้ม และยังต้องดูท่าทีของทหาร นอกจากนั้น ต้องมีภาพที่ชัดเจนพอสมควรว่าจะมีองค์กรอะไรเข้ามาบริหารประเทศหลังล้มรัฐบาลได้สำเร็จ และมีมาตรการจัดการกับเสื้อแดงอย่างไร รวมถึงจุดยืนของตุลาการด้วย แต่ตอนนี้มันยังไม่มีความชัดเจนอะไรเลย

นายพิชาย กล่าวด้วยว่า ถ้ามวลชนเป็นผู้นำในการโค่นล้มรัฐบาล โดยทหารให้การสนับสนุน พอเกิดการเปลี่ยนแปลงทหารไม่เข้ามายุ่งและยอมรับอำนาจประชาชน อันนี้เป็นลักษณะของการปฏิวัติประชาชน แต่ถ้าประชาชนเป็นด่านหน้า แล้วทหารออกมาช่วงชิงการนำเข้าไปจัดการเอง มวลชนเป็นแค่ส่วนเสริมแบบนี้ไม่ใช่ปฏิวัติประชาชน ซึ่งตนคิดว่าเมืองไทยคงเป็นแบบหลังมากกว่า





กำลังโหลดความคิดเห็น