ตัวแทนเครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินสอบ รบ.เห็นชอบให้นาซาเช่าฐานทัพอู่ตะเภาสำรวจชั้นบรรยากาศ ชี้มีผลประโยชน์แอบแฝงของนาซากับเชฟรอนเรื่องสัมปทานพลังงาน แถมผิด ม.190 ไม่นำเรื่องเข้าสภา ไม่ยอมแจงรายละเอียดสัญญา ซัดละเมิดสิทธิคนไทย ด้านรองเลขาฯ ผู้ตรวจการขอระบุให้ชัดจะร้องใคร อ้างมีหน้าที่สอบ ขรก. ไม่ได้สอบ รบ.ทำงาน แต่พร้อมยื่น กสม.เหตุละเมิดสิทธิ
วันนี้ (11 ต.ค.) นายเรืองศักดิ์ เจริญผล ตัวแทนเครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ องค์การปฏิรูปพลังงาน ได้เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดินผ่านนายสงัด ปัถวี รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาล เนื่องจากอนุญาตให้องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เข้ามาเช่าฐานทัพอู่ตะเภา จ.ชลบุรี เพื่อสำรวจชั้นบรรยากาศ มิได้เปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึง และไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ที่ระบุว่า “หนังสือสัญญาใดที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาก่อนการดำเนินการเพื่อทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ คณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และคณะรัฐมนตรีให้ประชาชนสามารถเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญานั้น”
“กรณีนี้รัฐบาลไม่ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และไม่ได้แจ้งรายละเอียดในสัญญาก่อนการทำสัญญากับองค์การนาซา จึงถือได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิคนไทยทั้งประเทศ และองค์การนาซาเคยระบุว่าหากเลยวันที่ 26 มิ.ย. 55 จะไม่สามารถสำรวจชั้นบรรยากาศได้อีก แต่มาวันนี้รัฐบาลไทยกำลังร้องขอให้องค์การนาซามาสำรวจชั้นบรรยากาศอย่างเร่งรีบ ซึ่งอาจจะเชื่อมโยงกับการให้สัมปทานพลังงานครั้งที่ 21 ที่องค์การนาซากับบริษัทเชฟรอนมีผลประโยชน์ด้านพลังงานร่วมกันเพราะเป็นคู่ธุรกิจกัน คำพูดขององค์การนาซาจึงมิอาจจะเชื่อถือได้ว่าจะสำรวจเฉพาะชั้นบรรยากาศเพียงอย่างเดียว ดังนั้นจึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ารัฐบาลกำลังละเมิดสิทธิของคนไทยที่ไม่ได้ยึดหลักนิติธรรม ไม่ได้สนับสนุนระบอบประชาธิปไตย และเป็นระบอบเผด็จการรัฐสภา”
ด้านนายสงัดกล่าวว่า หลังจากนี้ตนจะเสนอเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อพิจารณาว่ามีอำนาจที่จะรับเรื่องนี้ไว้พิจารณาหรือไม่ แต่เบื้องต้นมีบางประเด็นในคำร้องที่จะต้องมีการแก้ไข เนื่องจากผู้ตรวจการแผ่นดินมีหน้าที่ตรวจสอบจริยธรรมของข้าราชการ ไม่ได้มีอำนาจที่จะตรวจสอบการกระทำของรัฐบาล จึงควรระบุในคำร้องให้ชัดเจนว่าต้องการให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบข้าราชการคนใดกระทรวงใดที่เป็นต้นเรื่องในการที่ให้องค์การนาซาเข้ามาใช้พื้นที่อู่ตะเภาเพื่อสำรวจชั้นบรรยากาศ ซึ่งในกรณีนี้น่าจะเป็นกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่วนกรณีที่จะไปยื่นเรื่องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ดำเนินการตรวจสอบเรื่องการละเมิดสิทธิ ทางผู้ตรวจการแผ่นดินก็จะมีการประสานงานร่วมกับ กสม.ในการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
วันนี้ (11 ต.ค.) นายเรืองศักดิ์ เจริญผล ตัวแทนเครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ องค์การปฏิรูปพลังงาน ได้เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดินผ่านนายสงัด ปัถวี รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาล เนื่องจากอนุญาตให้องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เข้ามาเช่าฐานทัพอู่ตะเภา จ.ชลบุรี เพื่อสำรวจชั้นบรรยากาศ มิได้เปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึง และไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ที่ระบุว่า “หนังสือสัญญาใดที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาก่อนการดำเนินการเพื่อทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ คณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และคณะรัฐมนตรีให้ประชาชนสามารถเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญานั้น”
“กรณีนี้รัฐบาลไม่ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และไม่ได้แจ้งรายละเอียดในสัญญาก่อนการทำสัญญากับองค์การนาซา จึงถือได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิคนไทยทั้งประเทศ และองค์การนาซาเคยระบุว่าหากเลยวันที่ 26 มิ.ย. 55 จะไม่สามารถสำรวจชั้นบรรยากาศได้อีก แต่มาวันนี้รัฐบาลไทยกำลังร้องขอให้องค์การนาซามาสำรวจชั้นบรรยากาศอย่างเร่งรีบ ซึ่งอาจจะเชื่อมโยงกับการให้สัมปทานพลังงานครั้งที่ 21 ที่องค์การนาซากับบริษัทเชฟรอนมีผลประโยชน์ด้านพลังงานร่วมกันเพราะเป็นคู่ธุรกิจกัน คำพูดขององค์การนาซาจึงมิอาจจะเชื่อถือได้ว่าจะสำรวจเฉพาะชั้นบรรยากาศเพียงอย่างเดียว ดังนั้นจึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ารัฐบาลกำลังละเมิดสิทธิของคนไทยที่ไม่ได้ยึดหลักนิติธรรม ไม่ได้สนับสนุนระบอบประชาธิปไตย และเป็นระบอบเผด็จการรัฐสภา”
ด้านนายสงัดกล่าวว่า หลังจากนี้ตนจะเสนอเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อพิจารณาว่ามีอำนาจที่จะรับเรื่องนี้ไว้พิจารณาหรือไม่ แต่เบื้องต้นมีบางประเด็นในคำร้องที่จะต้องมีการแก้ไข เนื่องจากผู้ตรวจการแผ่นดินมีหน้าที่ตรวจสอบจริยธรรมของข้าราชการ ไม่ได้มีอำนาจที่จะตรวจสอบการกระทำของรัฐบาล จึงควรระบุในคำร้องให้ชัดเจนว่าต้องการให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบข้าราชการคนใดกระทรวงใดที่เป็นต้นเรื่องในการที่ให้องค์การนาซาเข้ามาใช้พื้นที่อู่ตะเภาเพื่อสำรวจชั้นบรรยากาศ ซึ่งในกรณีนี้น่าจะเป็นกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่วนกรณีที่จะไปยื่นเรื่องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ดำเนินการตรวจสอบเรื่องการละเมิดสิทธิ ทางผู้ตรวจการแผ่นดินก็จะมีการประสานงานร่วมกับ กสม.ในการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด