xs
xsm
sm
md
lg

รัฐสภาเอกฉันท์เห็นชอบ “อนุสัญญาสหประชาชาติ” ต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ศึกษาธิการ (ภาพจากแฟ้ม)
ที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติเอกฉันท์ 455 เสียง เห็นชอบอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร ตามที่ ครม.เสนอ แต่เสนอปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวข้องในประเทศเพื่อให้สอดคล้องกัน “พงศ์เทพ” รับปากพร้อมอำนวยความสะดวกไม่ให้กระบวนการยุติธรรมล่าช้า

วันนี้ (13 พ.ย.) ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ได้มีการพิจารณาอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร ตามที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดยนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะรักษาการแทน รมว.ต่างประเทศ นำเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภา ว่าเหตุผล ความจำเป็น และประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับเมื่อดำเนินการให้ความเห็นชอบอนุสัญญาฯ ดังกล่าว คือ ปัญหาองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นสิ่งที่ประชาคมโลกให้ความสนใจ เพราะมีผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง

โดยกลุ่มองค์กรอาชญากรรมมีการตั้งเครือข่ายแบบข้ามพรมแดน และการกระทำความผิดนั้นเกี่ยวข้องกับเขตอำนาจของรัฐต่อรัฐ ดังนั้นจะให้ประเทศใดประเทศหนึ่งไม่สามารถจัดการปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ประเทศไทยตกเป็นเป้าหมายของอาชญากรรมข้ามชาติร้ายแรงหลายประเภท เช่น การค้ายาเสพติด การค้ามนุษย์ โดยประเทศไทยอยู่ในฐานะผู้รับ และผู้ส่ง รวมถึงเป็นรัฐทางผ่าน เพราะทำเลที่ตั้งของประเทศเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ผู้ที่กระทำผิดสามารถเดินทางติดต่อไปยังสถานที่อื่นได้สะดวก นอกจากนั้นยังมีปัจจัยให้องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ กลุ่มต่างๆ ใช้ประเทศไทยเป็นฐานประกอบอาชญากรรม

“ปัจจุบันประเทศไทยที่ลงนามในอนุสัญญาฯ เข้าร่วมประชุมรัฐภาคีได้ในฐานแค่รัฐสังเกตการณ์ไม่สามารถใช้กลไกความร่วมมือตามอนุสัญญา ทำให้ไม่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติได้ การให้สัตยาบรรณ จะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศ ในการร่วมมือกับประชาคมโลก ในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ” นายพงศ์เทพกล่าว

นายพงศ์เทพกล่าวถึงหลักการและสาระสำคัญของอนุสัญญาฯ ด้วยว่า มีขอบแขตการใช้บังคับในการป้องกัน การสืบสวนและการดำเนินคดีเกี่ยวกับฐานความผิดที่ระบุไว้ในอนุสัญญา ทั้งหมด 4 ฐานความผิด ได้แก่ 1. การมีส่วนร่วมในกลุ่มองค์กรอาชญากรรม 2.การฟอกทรัพย์สินที่ได้มาจากกระทำความผิด 3.การกระทำทุจริตคอร์รัปชัน และ 4.การขัดขวางกระบวนการยุติธรรม และได้ขยายไปยังฐานความผิดที่มีโทษจำคุกตั้งแต่ 4 ปีขึ้นไป เมื่อความผิดนั้นเป็นลักษณะของการข้ามชาติและเกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรม ทั้งนี้มีความร่วมมือระหว่างประเทศที่ได้ระบุไว้ในอนุสัญญาฯ ด้วยว่า ส่งผู้ร้ายข้ามแดน การโอนตัวนักโทษ และการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทางอาญา รวมถึงการรวบรวม แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะอาชญากรรมระหว่างเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง, การฝึกอบรมและให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ รวมถึงมาตรการอื่นว่าด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจ คุ้มครองผู้เสียหาย คุ้มครองพยานจากการล้างแค้นหรือข่มขู่

“หลังจากที่รัฐสภาเห็นชอบอนุสัญญา แล้ว รัฐบาลจะมีการเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. ... ต่อรัฐสภาให้พิจารณา และกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายแล้ว กระทรวงการต่างประเทศจะได้ให้สัตยาบรรรณอนุสัญญาฯ เพื่อให้มีผลบังคับใช้กับประเทศไทยต่อไป” นายงพงศ์เทพ ชี้แจง

ทั้งนี้ ในการอภิปรายวาระดังกล่าว สมาชิกรัฐสภาได้แสดงความเห็นสนับสนุน แต่ได้ตั้งข้อสังเกตรวมถึงเสนอแนะให้มีการปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวข้องในประเทศเพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาฯ และเสริมประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายต่อไป อาทิ พล.ร.อ.วีรวิท คงศักดิ์ ส.ว.สรรหา อภิปรายสนับสนุนว่าในอนุสัญญาฯ ได้ระบุถึงการฉ้อราษฎร์บังหลวงด้วย แต่ตนมองว่าในประเทศไทยยังมีกฎหมายที่ไม่ชัดเจนต่อการประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานรัฐ ดังนั้นรัฐบาลควรปรับปรุงกฎหมายในเรื่องของการต้อต่านการทุจริตคอร์รัปชันเพื่อให้มีผลบังคับใช้อย่างจริงจัง ไม่เฉพาะแค่เน้นนโยบายป้องกันหรือปราบปรามเท่านั้น รวมถึงต้องแก้ปัญหาการไร้ธรรมาภิบาลในหน่วยงานราชการด้วย

ด้านนายศุภชัย ศรีหล้า ส.ส.อุบลราชธานี พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า เมื่อประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีตามอนุสัญญาดังกล่าวแล้ว รัฐบาลจะมีมาตรการใดเพื่อที่จะให้การปฏิบัติตามอนุสัญญาดังกล่าวสามารถบังคับใช้ได้ อย่างไรก็ตามสำหรับมาตรการส่งผู้ร้ายข้ามแดน อยากให้รัฐบาลทำเป็นตัวอย่างกับนานาประเทศ ด้วยการจับตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมายไทย

ขณะที่ นายวัชระ เพชรทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ได้ซักถามถึงประเด็นของผู้ที่กระทำการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งหนีไปอยู่ต่างประเทศ หากประเทศไทยได้ให้สัตยาบันแล้ว จะสามารถส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนตามอนุสัญญาดังกล่าวได้หรือไม่ หากทำได้เชื่อว่าจะสามารถนำตัวนักโทษในคดีทุจริตคอร์รัปชันมาจำคุกในประเทศไทยได้

ด้านนายพงศ์เทพชี้แจงว่า เมื่อเข้าไปให้สัตยาบรรณกับอนุสัญญาดังกล่าวแล้ว จะมีผลบังคับใช้ มีผลเอาผิดในกลุ่มองค์กรอาชญากรรม ที่มีคนร่วมกระบวนการ เกิน 3 คนขึ้นไป และต้องมีสถานะอาชญากรรมข้ามชาติ คือเป็นการกระทำจากรัฐไปสู่อีกรัฐหนึ่ง หรือเป็นความผิดอาญาในรัฐหนึ่ง ซึ่งส่งผลกระทบอีกรัฐหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่การกระทำความผิดโดยบุคคลทั่วไป ส่วนกระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้านั้น รัฐบาลไทยพร้อมจะอำนวยความสะดวกเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานอย่างไม่ล่าช้า

จากนั้นที่ประชุมมีมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ 455 เสียง


กำลังโหลดความคิดเห็น