xs
xsm
sm
md
lg

“มหากาพย์คอร์รัปชัน” นับวันยิ่งโผล่ประจาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัญหาการคอร์รัปชันเป็นปัญหาที่อยู่ในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ทั้งยังหยั่งรากลึกลงไปยังทุกภาคส่วนของสังคม ตั้งแต่ในวงราชการชั้นผู้ใหญ่ จนถึงสามัญชนคนธรรมดา จนถึงตอนนี้ก็ส่งผลเสียมหาศาลต่อประเทศ

ยิ่งทำโพลสำรวจก็ยิ่งเห็นถึงสภาพสังคมที่อ่อนแอทางศีลธรรม และเต็มไปด้วยปัญหาการคอร์รัปชันที่นับวันก็ยิ่งยากจะเยียวยาแก้ไข ล่าสุดดุสิตโพลเผยผลสำรวจพบ ปัญหาการคอร์รัปชั่นของนักการเมืองมาเป็นอันดับหนึ่ง และยังพบอีกว่า คนไทยซื่อสัตย์น้อยลง

มาถึงตอนนี้เมื่อสังคมถูกทวงถามถึงศีลธรรม ลองมาไล่เรียงดูถึงกรณีคอรัปชั่นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ก็จะพบว่ามันแทรกซึมอยู่ทุกภาคส่วนจนการคอร์รัปชันกลายเป็นเรื่องปกติในสังคมที่ทุกคมยอมรับ ไม่แปลกหากวันหนึ่งสิ่งนี้จะนำมาซึ่งความล้มสลา

หากแต่เมื่อสังคมสามารถล้มสลายได้ด้วยมือของทุกคน ทางแก้ไขก็เริ่มจากมือของทุกคนในสังคมได้เช่นกัน

สังคมทุจริต

การทุจริตแฝงฝังอยู่ทุกวงการ แน่นอนว่า ทุกคนที่เป็นคนดีวันหนึ่งก็อาจกลายเป็นคนชั่วได้ การคอรัปชั่นจึงต้องมีการตรวจสอบและลงโทษ แต่เมื่อการตรวจสอบไม่ได้ผลเพียงพอ กลายเป็นการส่งเสริมให้การกระทำผิดเกิดขึ้นอย่างมากมาย ส่งผลตีกลับจนเกิดเป็นการคอร์รัปชันในทุกภาคส่วนของสังคมซึ่งหากไล่เรียงดูกรณีใหญ่ๆ ก็จะพบว่า แทบทุกวงการพบว่ามีการกระทำผิดและหลายครั้งก็ไม่มีการลงโทษอย่างเป็นรูปธรรมใดๆ แม้ว่าสังคมจะมองเห็นกันอย่างชัดเจนแล้วว่า ทำผิดก็ตาม

สถานภาพการคอร์รัปชันในประเทศไทยนั้น หน่วยงานต่อต้านการคอร์รัปชั่น ทรานส์พาเรนท์ซี อินเตอร์เนชั่นแนล เผยผลการจัดดรรชนีชี้วัดการคอรัปชั่นประจำปี 2554 โดยให้คะแนนความโปร่งใสของประเทศไทยอยู่ที่ 3.5 เต็ม 10 และติดอันดับที่ 80 ของโลกจาก 180 ประเทศที่มีการคอรัปชั่นมากที่สุด

เริ่มต้นจากรัฐบาลซึ่งเป็นตัวอย่างการคอร์รัปชันกันอย่างไม่เกรงใจประชาชน โดยมีผลงานชิ้นโบแดงคือโครงการจำนำข้าว ซึ่งกลายเป็นมหากาพย์การทุจริตทุกขั้นตอนกระบวนการ ตั้งแต่ข้าวผีหรือข้าวสวมสิทธิจากประเทศเพื่อนบ้าน การแจ้งข้าวเกินจำนวนจากหน้าไร่ จนถึงการออกใบรับเงินเกินเงินที่ให้กับชาวนา มีการทุจริตตั้งแต่นักการเมือง เจ้าหน้าที่ จนถึงชาวนาบางกลุ่ม

โดยการต่อต้านการคอร์รัปชันแน่นอนว่ามีอยู่บ่อยครั้ง ทว่าหลายครั้งผู้ที่ได้ชื่อว่าต่อต้านการคอร์รัปชันกลับกลายเป็นคนที่ถูกตั้งข้อสงสัยเสียเอง ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เจ้าของแคมเปญสวยหรูอย่าง “โตไปไม่โกง” ก็ไม่รอดพ้น

กับกรณีสนามบางกอก ฟุตซอล อารีนา ที่สร้างขึ้นเพื่อต้อนรับการเป็นเจ้าภาพฟุตซอลโลก พบจุดน่าสงสัยมากมาย ตั้งแต่สถานที่ตั้งซึ่งไกลจากใจกลางเมือง สนามที่สร้างไม่แล้วเสร็จตามกำหนดจัดงาน และเมื่อเสร็จสิ้นก็ไม่เป็นไปตามแบบที่ได้วางเอาไว้ ต่อด้วยการไม่ผ่านมาตรฐานด้านความปลอดภัยของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือ ฟีฟ่า

เมื่อมาถึงวงการกีฬาก็ต้องนึกถึงชื่อของ วรวีร์ มะกูดี นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยเป็นชื่อที่โจษขานกันในหมู่แฟนบอล ตั้งแต่เรื่องการบริหารสมาคมที่ทำให้ทีมชาติไทยไม่มีแมตช์อุ่นเครื่อง และการเป็นหุ้นส่วนใหญ่(ในทางปฏิบัติ)ของบริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก จำกัดซึ่งถูกตั้งขึ้นมาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากสมาคม และข้อครหาสำคัญคือการถูกเดวิด ทริสแมน อดีตประธานสมาพันธ์ฟุตบอลอังกฤษกล่าวหาว่า เรียกรับสินบนเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2008

บุคคลสาธารณะนอกจากนักการเมืองที่มีอำนาจแล้ว ดารานักแสดงก็ถือเป็นบุคคลสาธารณะที่มีอิทธิพลต่อสังคม และเป็นแบบอย่างให้กับคนในสังคมอีกด้วย โดยกรณีภาษีดารากลายเป็นข่าวครึกโครมขึ้นมา เมื่อมีการแฉว่าดาราคนดังได้ใช้บัตรประชาชนของคนอื่นในการหลีกเลี่ยงภาษี

อีกบุคคลสาธารณะซึ่งทำหน้าที่เป็นสื่อสารมวลชนแต่กลับได้ชื่อว่าทุจริต หากยังคงยืนเด่นโดยท้าทายคือ สรยุทธ สุทัศนะจินดา นักเล่าข่าวเจ้าของบริษัทไร่ส้มซึ่งถูกป.ป.ช.ชี้มูลความผิดในข้อหาติดสินบนให้เจ้าหน้าที่อสมทเพื่อให้โฆษณาเกินเวลา เป็นมูลค่าความเสียหายถึง 138,790,000 บาท

ทว่านอกจากนักการเมือง บุคคลสาธารณะ และสื่อมวลชนแล้ว ประชาชนธรรมดาต่างก็มีการทุจริตเช่นกัน ในช่วงที่มีการจ่ายเงินชดเชยน้ำท่วมที่ผ่านมาก็มีหลายหมู่บ้านออกมาร้องเรียนถึงการทุจริตของผู้นำหมู่บ้าน ในวงการทหารก็พบการทุจริตสอบเข้านักเรียนนายร้อย กระทั้งรถเมล์ฟรีก็ต้องมีการออกตั๋วรถเมล์ฟรีจากที่พบว่า กระเป๋ารถเมล์บางคนโดดงานแล้วใช้วิธีเดาตัวเลขจำนวนผู้โดยสารแทนที่จะนั่งมากับรถ

แล้วทางออกของปัญหาคืออะไร ในเมื่อสังคมดูเหมือนจะเต็มไปด้วยการทุจริต

ราก และ ทางแก้ไข

ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์และความเชื่ออันเป็นที่มาของวัฒนธรรมไทย มีส่วนทำให้เกิดการคอร์รัปชัน ซึ่งในอดีตเรียกว่า “ฉ้อราษฎร์บังหลวง” นั่นเอง

รศ.ดร. สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัฒกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้เชี่ยวชาญด้านการคอร์รัปชั่น อธิบายถึงความเป็นมาของการคอร์รัปชันที่มีอยู่ในสังคมไทยมาอย่างช้านาน ตั้งแต่ในสมัยที่ยังปกครองในระบบศักดินา โดยเริ่มแรกการฉ้อราษฎร์บังหลวงมาจากการโกงชาวบ้านคือราษฎร และเบียดบังทรัพย์สินที่จะส่งให้แก่พระมหากษัตริย์

การปฏิรูประบบราชการในสมัยรัชกาลที่ 5 เปลี่ยนเอางานของหลวงที่อยู่ในกรมต่างๆ มาเป็นระบบราชการสมัยใหม่ที่มาทำงานที่กระทรวงนั้น ไม่ได้ทำลายการฉ้อราษฎร์บังหลวงลง เมื่อเทียบกับในตะวันตกแล้วการปฏิรูประบบบราชการนั้นได้ทำลายการคอร์รัปชันออกไปทั้งหมด

“เนื่องจากเป็นการปฏิรูปจากบนลงล่าง การรักษาวัฒนธรรมประเพณีความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์พวกพ้องมันไม่ถูกทำลายไป การทุจริตยังฝังอยู่ในระบบราชการสมัยใหม่ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของคนไทยโดยที่คนไทยก็ไม่รู้ตัว คนโกงเองก็ไม่รู้สึกว่าโกง เพราะมันเป็นสิ่งที่เป็นประเพณีปฏิบัติ การเรียกเงินค่าน้ำร้อนน้ำชา การเรียกเงินใต้โต๊ะ การหาสิ่งของไปตอบแทบแก่ราชการมันเป็นแบบดั่งเดิม ทำให้การทุจริตแบบเดิมกับแบบใหม่มันคงอยู่ด้วยกัน”

จุดเปลี่ยนสำคัญเริ่มราวๆ พ.ศ.2490 คณะทหารขึ้นมาปกครองประเทศ รศ.ดร.สังคิตมองว่า เป็นจุดสำคัญของการคอร์รัปชั่นในสังคมไทย จากที่มีการใช้เงินหลวงในการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจมากมาย แล้วแต่งตั้งนายทหารที่เข้าร่วมกับขบวนการยึดอำนาจเป็นบอร์ดบริหาร จุดเปลี่ยนครั้งที่ 2 คือพ.ศ.2500ที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ยึดอำนาจการปกครองมีการส่งเสริมให้มีธุรกิจเอกชนมากขึ้น แม่ทัพนายกองก็ได้ค่าคอมมิชชั่นต่างๆ เป็นการโกงสมัยใหม่

กระทั้งพ.ศ.2544 เป็นจุดเปลี่ยนครั้งที่ 3 เมื่อมีรัฐธรรมนูญปี 2540 ถือเป็นประชาธิปไตยแต่มีเนื้อสาระเปิดช่องให้รัฐบาลมีอำนาจที่กว้างขวางมากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับอื่น ทำให้กลุ่มนายทุนผูกขาดจำนวนหนึ่งตัดสินใจจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา จนเกิดการคอร์รัปชันขนาดใหญ่ทั่วไป แม้แต่ตัวนายกรัฐมนตรีก็ถูกกล่าวหาว่ามีการทุจริต

“นี่คือ 3 ครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ละครั้งก็ทำให้เกิดการทุจริตในวงกว้างมากขึ้น แล้วทุกครั้งก็ทำให้ขนาดของเศรษฐกิจในประเทศขยายตัวขึ้น ฉะนั้นผู้ปกครองที่ทุจริตก็สามารถทุจริตเงินได้มากขึ้น”

จากนักการเมืองแบบเดิมที่ไม่มีความสามารถในการบริหารประเทศให้เจริญก้าวหน้า ถูกแทนที่ด้วยนักธุรกิจซึ่งเคยจ่ายเงินใต้โต๊ะ จ่ายสินบนให้กับนักการเมืองหรือราชการมาก่อนซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการคดโกง เกิดเป็นสิ่งที่เรียกกันว่า การคอร์รัปชันเชิงนโยบาย

“การคอรัปชันเชิงนโยบายในประเทศไทยนั้นถือเป็นนวัฒกรรมระดับโลก ซึ่งไม่มีประเทศทำได้อย่างประเทศไทย”

โดยเทียบกับประเทศอื่น ผู้ปกครองที่สามารถโกงได้มากจะมาจากอดีตข้าราชการ หรืออดีตนายทหาร การโกงมักเป็นการเก็บค่าคอมมิชชันเหมือนกับของไทยสมัยก่อน

“แต่ในไทยสามารถโกงโดยใช้นโยบาย ใช้จุดอ่อนของกฎหมายในการทุจริต รวมทั้งความสามารถในการทุจริตทางการเมืองในการบริหารราชการด้วยการโยกย้ายตำแหน่งต่างๆ”

แต่มาถึงปัจจุบันการทุจริตไม่ได้มีอยู่ในนักการเมืองเพียงเท่านั้น หากแต่เกิดขึ้นในทุกภาคส่วนของสังคม เขาเผยว่า เมื่อก่อนอำนาจทั้งหมดอยู่ในมือของราชการและทุนขนาดใหญ่ แต่ราวพ.ศ. 2540 มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นทำให้เกิดคนที่มีอำนาจขนาดเล็กอยู่ทั่วไป รวมทั้งธุรกิจก็มีทั้งขนาดเล็กขนาดกลางซึ่งต่างมีส่วนร่วมในการโกงได้ทั้งสิ้น

“ธุรกิจอย่างสื่อมวลชน คนที่สามารถทำให้รายการของตัวเองเป็นที่ยอมรับเชื่อถือก็กลายเป็นคนมีอำนาจในสังคม และสามารถใช้อำนาจนั้นโกงเงินของรัฐบาลได้ อำนาจของสื่อสมัยใหม่ก็มีอำนาจมากไม่แพ้นักการเมือง เมื่อมีอำนาจแต่จริยธรรมต่ำก็สามารถจะโกงได้”

ปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นคือระบบการตรวจสอบที่อ่อนแอ ทำให้การโกงเกิดได้อย่างกว้างขวาง ซึ่งหนทางแก้ที่พอมองเห็นของรศ.ดร.สังศิตมองว่า หากมีการกระจายอำนาจและระบบการตรวจสอบที่ดีพอ การโกงก็จะทำได้ยาก

“การตรวจสอบนักการเมืองที่ควบคุมโดยสำนักงานคณะกรรมการการเลืองตั้ง(กกต.) ไม่ประสบผลสำเร็จเพราะคนซื้อเสียงสามารถหลุดรอดมาได้มากมาย และเมื่อเข้ามาโกงก็ถูกจับได้น้อยมาก ดังนั้นจึงเกิดการแสวงหาผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆได้ง่ายขึ้น”

สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องอาศัยองค์กรด้านประชาสังคมให้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบให้มากขึ้น โดยควรมีการจัดเงินสนับสนุนภาคประชาสังคมในการดำเนินงานด้านนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการคอร์รัปชันเอ่ยทิ้งท้าย
…..

อย่างไรก็ตามการตรวจสอบ ทวงถามถึงความยุติธรรมเป็นเพียงหนทางหนึ่งเพื่อนำไปสู่สังคมที่ปลอดการทุจริตมากขึ้น ทว่าหลายครั้งการโกงก็เกิดจากจุดเล็กๆ จนกลายเป็นวัฒนธรรม กลายเป็นความเคยชินในสังคม เหมือนว่าสังคมนี้แทบจะลืมไปแล้วว่าความถูกต้องหน้าตาเป็นอย่างไร

หนทางการแก้ไขปัญหาทุจริตนั้นมีหลายหนทาง ตั้งแต่การทำให้ระบบการตรวจสอบที่ดีขึ้น ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น และความยุติธรรมที่มาเร็วขึ้น อย่างไรก็ตามความดีของสังคมยังคงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการขับเคลื่อนระบบเหล่านี้









กำลังโหลดความคิดเห็น