นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมบาหลี เดโมเครซี ฟอรัม เผยรัฐบาลจากการเลือกตั้งต้องมั่นคง และยั่งยืน ยกกรณีเสื้อแดงปี 53 อ้างประชาธิปไตยถูกละเมิดจึงลุกขึ้นสู้ รู้สึกเศร้าใจที่มีคนตาย ยืนยันไม่ให้เกิดขึ้นอีก
วันนี้ (8 พ.ย.) ที่นูซา อินดาห์ ฮอลล์ โรงแรมเวสทิน เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมบาหลี เดโมเครซี ฟอรัม ภายใต้หัวข้อหลัก “Advancing Democratic Principles at the Global Setting: How Democratic Governance Contributes to International Peace and Security, Economic Development and Effective Enjoyment of Human Rights” เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์พัฒนาการประชาธิปไตยในไทยร่วมกับผู้นำ และบุคคลสำคัญต่อการส่งเสริมหลักประชาธิปไตย และตอกย้ำการยึดมั่นคุณค่าประชาธิปไตยที่เป็นพื้นฐานสำคัญของความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม และความรุ่งเรืองของทุกประเทศและของโลก
โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวแสดงความยินดีกับสาธารณรัฐอินโดนีเซียสำหรับการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมบาหลี เดโมเครซี ฟอรัม ครั้งที่ 5 ซึ่งเป็นความริเริ่มที่ทำให้ทั่วโลกตระหนักถึงหลักประชาธิปไตย รวมทั้งผลักดันให้เกิดประชาธิปไตยมากขึ้น จากการยกระดับการหารือในลักษณะการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เป็นการประชุมระดับสุดยอดนั้น แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของความริเริ่มดังกล่าว เช่นเดียวกับความคาดหวังที่สูงขึ้นที่จะได้รับจากการประชุมสุดยอดนี้ด้วย ทั้งนี้ ตนรู้สึกยินดีที่ได้มาเยือนเกาะบาหลีเพื่อเข้าร่วมประชุมบาหลี เดโมเครซี ฟอรัม ทั้งในฐานะหัวหน้าคณะรัฐบาลคนแรกของไทย และในฐานะผู้นำรัฐบาลที่เป็นสตรี ตนรู้สึกชื่นชมประสบการณ์ในการเป็นผู้นำระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยของผู้นำที่มาเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ยังได้แบ่งปันมุมมองประชาธิปไตยของไทย และกล่าวว่า พร้อมที่จะเรียนรู้หลักประชาธิปไตยจากผู้นำทุกท่าน
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวถึงปัจจัยที่หลากหลาย และคล้ายคลึงกันในระบอบประชาธิปไตยว่า ในปัจจุบัน โลกต่างเห็นการแผ่ขยายของประชาธิปไตย ซึ่งเป็นรูปแบบหลักของรัฐบาลทั่วโลก การเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจากวิวัฒนาการที่เติบโต หรือโดดเด่นล้วนมาจากเจตนารมณ์เดียวกัน คือ ประชาชนต้องการเหมือนกัน คือ การรับฟังเสียงของประชาชน สิทธิได้รับการคุ้มครอง และนำการเปลี่ยนแปลงที่ดีสู่ชีวิต ซึ่งเหล่านี้เป็นความจริงของความเป็นมนุษย์ที่เป็นสากล ที่แม้กระทั่งในแต่ละประเทศหรือชุมชน ซึ่งอาจแตกต่างกันทั้งวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และสังคม แต่หลักการพื้นฐานนี้ยังคงอยู่เหมือนกันทุกที่ ประชาชนต้องการเสรีภาพ เพราะว่าสร้างความรุ่งเรือง รวมทั้งต้องการสิทธิที่ได้รับการคุ้มครอง และเคารพในความเป็นตัวตน แต่เสรีภาพต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบ กล่าวคือ ความจำเป็นของหลักนิติรัฐ สิทธิมนุษยชน และความเท่าเทียมกันเพื่อนำทาง และบรรลุความฝันของแต่ละคน
สำหรับหลักนิติรัฐถือเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย ความมั่นคงทางการเมือง และเศรษฐกิจ รวมทั้งความสงบเรียบร้อยทางสังคม หลักนิติรัฐที่โปร่งใส และมีประสิทธิภาพจะช่วยปกป้องสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ความเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมายทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นและไว้วางใจในกระบวนการและส่งเสริมให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างสันติ หลักนิติรัฐยังให้พื้นที่ทางการเมืองสำหรับการเจรจา การมีส่วนร่วม และการแก้ปัญหาความขัดแย้งในขอบเขตของประชาสังคม ซึ่งทำให้เกิดทางเลือกทางการเมืองอย่างเสรี และการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างสงบจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งสู่อีกรัฐบาลหนึ่ง หลักนิติรัฐยังระบุให้ผู้นำทางการเมืองต้องตอบสนองความต้องการของประชาชน และคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของปัจเจกบุคคล นอกจากนี้ ความทั่วถึงที่บัญญัติไว้ในหลักนิติรัฐถือเป็นประเด็นสำคัญของประชาธิปไตย เสียงที่หลากหลายในประเทศ ไม่ว่าของกลุ่มคน หรือของบุคคล ส่วนน้อย หรือส่วนมาก ในเมืองหรือชนบทต้องได้รับการพิจารณา เพราะนำความหลากหลายสู่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสังคม อย่างไรก็ตาม การเคารพต่อสิทธิมนุษยชน สิทธิของประชาชนต้องได้รับการคุ้มครอง หากรัฐบาลประชาธิปไตยนั้นเป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน อย่างแท้จริง สิทธิของประชาชนต้องได้รับการส่งเสริมและคุ้มครองโดยรัฐบาล
“ประวัติศาสตร์สอนว่า เสรีภาพมักจะถูกกดขี่ และละเมิด ประเทศไทยมีประสบการณ์การปฏิวัติหลายครั้ง ที่ต่อต้านความต้องการของประชาชน และเมื่อรัฐบาลมาจากวิถีประชาธิปไตย ต้องมีความมั่นคงและยั่งยืน วิธีการที่ดีที่สุดในการปกป้องประชาธิปไตยคือ การให้พลังแก่ประชาชนในการยึดมั่นและเข้าร่วมในกระบวนการประชาธิปไตย ซึ่งนำมาซึ่งการเลือกตั้ง เมื่อประชาชนมีส่วนร่วม จะสร้างความรู้สึกที่เป็นเจ้าของประชาธิปไตยและปลาบปลื้มในคุณค่า แต่เมื่อประชาธิปไตยถูกทิ้งขว้าง หรือละเมิด ประชาชนจะลุกขึ้นเพื่อต่อสู้ ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่ประเทศไทยเมื่อปี 2553 ที่มีแต่การสูญเสีย ทั้งครอบครัว และบุคคลที่เป็นที่รัก และยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บ และทุกข์ทรมาน ดิฉันได้ร่วมรับรู้กับมารดาและบุตรสาวของประชาชนที่เข้าร่วมในเหตุการณ์ครั้งนั้น และมีการสูญเสียชีวิต รู้สึกเศร้าใจ และตัดสินใจแน่วแน่ว่าจะไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้นอีก” น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า การดำเนินการการปรองดองแห่งชาติ และดำเนินตามกรอบการดำเนินการของสิทธิมนุษยชน และจะดำเนินต่อไปจนกว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงเกิดขึ้นในประเทศไทย ทั้งนี้แม้ว่าพรรคเพื่อไทยได้รับเสียงข้างมากในรัฐสภา แต่ยืนยันที่จะรับฟังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด โดยเข้าใจว่าการให้ประชาธิปไตยมีความยืดหยุ่นนั้น ต้องมีเสรีภาพในการแสดงออก และการเคารพต่อความแตกต่างทางความคิดเห็น การเคารพและเข้าใจซึ่งกันและกันในหมู่ประชาชนในสังคม ช่วยป้องกันความขัดแย้งและทะเลาะเบาะแว้งกัน การไม่เลือกปฏิบัติช่วยให้ประชาชนทุกคนรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโดยรวม ไม่ว่าจะเชื้อชาติใด ศาสนาใด หรือรายได้เท่าใด
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวต่อถึงความเสมอภาคทางโอกาส ว่า การสร้างโอกาสแก่ประชาชนบนพื้นฐานที่เท่าเทียม ทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของระบบประชาธิปไตย เพราะเศรษฐกิจที่รุ่งเรือง และศักยภาพของประชาชน นำมาซึ่งฐานะที่ดีขึ้นที่จะรับผิดชอบต่อการใช้สิทธิของตนเอง ซึ่งสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ทุกคนจึงต้องได้รับประโยชน์จากการเติบโตและความมั่นคง ซึ่งหมายถึงประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงสิ่งจำเป็นพื้นฐานที่ช่วยส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ การศึกษา สาธารณสุข และสวัสดิการอื่นๆ ดังนั้น รัฐบาลไทยจึงได้เริ่มนโยบายที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง นับตั้งแต่แรงงานขั้นต่ำ การขยายการบริการดูแลสุขภาพถ้วนหน้า การตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี และการส่งเสริม SMEs นอกจากนี้ นโยบายด้านการศึกษา เช่น One Tablet Per Child ก็เพื่อให้เด็กสามารถพัฒนาทักษะ ความรู้ เพื่อเป็นผู้ใหญ่ที่รอบรู้ ซึ่งเป็นแกนสำคัญของประชาธิปไตย
สำหรับวิสัยทัศน์ในด้านระหว่างประเทศ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวเห็นด้วยกับประธานาธิบดีอินโดนีเซียที่ว่า โลกาภิบาลดึงจุดแข็งจากความจริงที่ว่า ทุกประเทศมีสิทธิมีเสียง และสามารถมีส่วนร่วมได้อย่างเท่าเทียมในประเด็นระหว่างประเทศ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีความยุติธรรม ภาระรับผิดชอบ และประชาธิปไตยอย่างแท้จริงในเวทีระหว่างประเทศ ในขณะที่เรากำลังก้าวเข้าสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนหลังปี ค.ศ. 2015 เช่น การมีกระบวนการพหุภาคีที่มีประสิทธิภาพ และเป็นประชาธิปไตย จะทำให้ทุกประเทศ ทั้งขนาดใหญ่ และขนาดเล็กสามารถจัดลำดับเป้าหมายสำคัญของตนให้อยู่ในวาระการพัฒนาหลังปี ค.ศ.2015 ได้
นายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า เราจะต้องตระหนักถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในโลกด้วย เช่น ช่องว่างของการพัฒนา การส่งเสริมความริเริ่มการยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ทั้งนี้ ประชาธิปไตยในระดับโลกจะทำให้เกิดความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาความท้าทายในปัจจุบัน ในขณะเดียวกัน ก็ยังสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในชาติด้วย ทั้งนี้ ที่สำคัญที่สุด ทุกประเทศจะต้องร่วมมือกันเพื่อให้ประชาธิปไตยอยู่รอด เมื่อถูกคุกคาม ด้วยเหตุผลนี้ นายกรัฐมนตรีจึงแสดงความขอบคุณมิตรทั้งหลายที่ยืนหยัดต่อต้านการยึดอำนาจรัฐบาลประชาธิปไตยของไทยเมื่อปี 2549 และช่วยสนับสนุนไทยในเส้นทางสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง การรักษาประชาธิปไตยให้คงอยู่นั้นขึ้นอยู่กับทุกคน และป้องกันความท้าทายต่างๆ ที่จะต่อต้านประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม ความมั่นคงเกิดขึ้นได้ด้วยประชาธิปไตยเท่านั้น ความมั่นคงทางการเมืองช่วยลดความเสี่ยงของความขัดแย้งที่รุนแรง และในบรรยากาศที่มั่นคงนี้ ก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง โดยท้ายที่สุดแล้ว คือความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในประเทศ และในประชาคมโลกนี้