xs
xsm
sm
md
lg

ปลัด ศธ.สนอง “ปู” เล็งทำหลักสูตรเสมอภาคชายหญิง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปลัด ศธ.สนองนายกฯ ปู จัดหลักสูตรความเสมอภาค หญิง-ชาย เล็งเสนอ สพฐ.ทำบรรจุในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน

นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์พัฒนาบทบาทสตรี ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อเร็วๆ นี้ นายกฯได้มอบหมายให้ ศธ.เป็นกระทรวงหลักในการจัดทำหลักสูตรเรื่องความเสมอภาคระหว่างผู้หญิง กับผู้ชาย ซึ่งตนได้มอบนโยบายให้เจ้าหน้าที่ของสำนักปลัด ศธ.ไปช่วยกันดูว่า จะจัดหลักสูตรดังกล่าวได้อย่างไร ขณะเดียวกัน จะทำอย่างไรที่จะอบรมพัฒนาครูให้มีความรู้เรื่องสิทธิความเท่าเทียมของหญิง ชาย พร้อมกันนี้จะเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) บรรจุเรื่องดังกล่าวเข้าไปในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วย ซึ่งคงไม่จำเป็นต้องเป็นวิชาที่บรรจุลงในหนังสือเรียนเท่านั้น แต่อาจจะดำเนินการในรูปแบบของกิจกรรมต่างๆ
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
ทั้งนี้ หากจะให้เห็นผลอย่างแท้จริง จะต้องเริ่มตั้งแต่ในครอบครัวที่ปัจจุบันผู้หญิงและผู้ชาย ทำงานนอกบ้านเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น หากจะให้มีสิทธิเท่าเทียมกัน ทั้งผู้หญิงและผู้ชายก็จะต้องตระหนักในภาระหน้าที่ของครอบครัวร่วมกัน ขณะเดียวกัน ต้องสอนให้ลูกทั้งหญิงและชายตระหนักในความรับผิดชอบ เช่น สังคมไทยมักจะสอนว่าหน้าที่ทำงานบ้าน ทำกับข้าว ล้างจานเป็นของผู้หญิง ผู้ชายไม่ต้องทำซึ่งทำให้เกิดความไม่เท่าเทียม แต่ปัจจุบันผู้หญิงผู้ชายต้องทำได้ทุกเรื่องอย่างเท่าเทียม หรือในโรงเรียนก็ไม่จำเป็นแล้วที่หัวหน้าห้องจะต้องเป็นผู้ชาย รองหัวหน้าเป็นผู้หญิง แต่ให้นักเรียนในห้องโหวตกันเองได้ หรือในกลุ่มกิจกรรมในหมู่บ้านในชุมชนที่ไปปลูกฝังว่าผู้ชายจะต้องเป็นหัวหน้า ซึ่งจริงๆ แล้วไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ชาย

การทำงาน หรือความเป็นผู้นำควรจะต้องเป็นไปตามความสามารถที่แท้จริงไม่ใช่เป็นไปตามเพศ จุดที่เป็นจุดอ่อนของการศึกษาไทยส่วนหนึ่งเพราะเราไม่ได้สร้างให้เด็กคิด แต่สร้างระบบให้เด็กทำตาม เด็กไทยเลยติดนิสัยว่า ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น จริงๆ ต้องเปลี่ยนใหม่ให้เด็กคิดและกล้าแสดงออกทุกคน และครูต้องใส่ใจในความเป็นครู ซึ่งถ้าเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน หรืออาจจะเป็นในโลกก็ว่าได้ ประเทศไทยเป็นประเทศที่ให้ความเสมอภาคอยู่ในลำดับต้นๆ โดยเฉพาะผู้หญิงที่ขึ้นมาเป็นผู้นำองค์กรอยู่ที่ 45% ถือเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ดังนั้น เราควรจะส่งเสริมและพัฒนาเรื่องสิทธิความเท่าเทียมให้มากขึ้น” นางพนิตา กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น