xs
xsm
sm
md
lg

Good Morning News by บลจ.บัวหลวง 24 ตุลาคม 2555

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย วรวรรณ ธาราภูมิ
และทีมจัดการกองทุน บลจ.บัวหลวง

• ธนาคารกลางเยอรมนีระบุว่า เศรษฐกิจเยอรมนีจะขยายตัวในไตรมาส 3 แต่อาจหดตัวเล็กน้อยในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตในภูมิภาค ทั้งนี้ เศรษฐกิจเยอรมนีขยายตัว 0.5% ในไตรมาสแรก และ 0.3% ในไตรมาส 2 ปีนี้

• ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมของฝรั่งเศสในเดือน ต.ค.ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี

• GDP ไตรมาส 3 ของสเปนหดตัวลง 0.4% โดยหดตัว 5 ไตรมาสติดกัน แต่ดีกว่าที่คาดว่าจะหดลง 0.7%

• กรีซปรับยอดขาดดุลงบประมาณปีก่อนเพิ่มเป็น 9.4% ของ GDP สูงกว่าขาดดุล 9.1% ที่ประมาณการไว้เมื่อเดือน เม.ย. อย่างไรก็ดี ยังลดลงเมื่อเทียบกับที่ขาดดุล 10.7% ในปี 2553 และขาดดุล 15.6% ในปี 2552

• ประธานาธิบดีโอบามาให้คำมั่นสัญญาในระหว่างการโต้วาทีครั้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งว่า ตราบใดที่ยังดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ จะไม่ยอมให้อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ และจะยืนเคียงข้างอิสราเอล ส่วนรอมนีย์ได้แสดงท่าทีเห็นด้วยในเรื่องการใช้มาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่าน จะกดดันให้อิหร่านยุติการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียม

• ยอดขาดดุลการค้าของญี่ปุ่นในเดือน ก.ย.สูงถึง 5.586 แสนล้านเยน (2.16 แสนล้านบาท) ซึ่งเป็นการขาดดุลครั้งใหญ่สุดตั้งแต่ปี 2522 เนื่องจากส่งออกหดลง 10.3% จากปีก่อน ขณะที่นำเข้าพุ่งขึ้น 4.1% โดยมีเหตุสำคัญจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงและวิกฤตหนี้ยุโรปที่ยังทวีความรุนแรง ประกอบกับกรณีพิพาทแย่งชิงหมู่เกาะเซ็งกากุหรือเตี้ยวอี๋ว์ในทะเลตะวันออกกับจีน ซึ่งส่งผลให้ความต้องการสินค้าญี่ปุ่น ทั้งรถยนต์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ หดตัวหนัก

• ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ลดประมาณการเศรษฐกิจของภูมิภาคต่างๆ 8 ใน 9 ภูมิภาค เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นจำนวนภูมิภาคที่ถูกปรับลดมากที่สุดตั้งแต่เดือน มี.ค. 2009 โดยระบุว่าการกระเตื้องขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจเมื่อ 3 เดือนที่แล้วหยุดชะงักลงตามการทรุดตัวรุนแรงของต่างประเทศ ส่งผลให้คาดการณ์ว่าเป็นไปได้สูงที่ BOJ จะผ่อนปรนนโยบายทางการเงินอีกครั้ง ในการประชุมวันที่ 30 ต.ค. เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

• ออสเตรเลียลดคาดการณ์ GDP สู่ 3% จากเดิม 3.25% เนื่องจากภาคการค้าตกต่ำลงถึง 8% ในปีงบประมาณนี้เมื่อเทียบกับการคาดการณ์ก่อนหน้าที่ว่าจะลดลง 5.75% ทั้งนี้ แม้ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของออสเตรเลียจะยังคงแข็งแกร่ง แต่ภาวะเศรษฐกิจที่เลวร้ายลงส่งผลให้การจัดเก็บภาษีลดลงเกือบ 2,200 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย จากที่ประเมินไว้ก่อนหน้า

• ธนาคารกลางจีนระบุว่า ขณะนี้ยังไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมแม้เงินเฟ้อเดือน ก.ย.ชะลอตัวลง เนื่องจากหากผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมจะทำให้จีนเผชิญกับความยุ่งยากในการดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินออกจากระบบเศรษฐกิจที่แท้จริง และจะส่งผลให้ราคาบ้านปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้จีนเผชิญกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในระยะยาว

• จากผลสำรวจโดยรอยเตอร์พบว่า เศรษฐกิจจีนอาจฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยในไตรมาส 4 หลังจากชะลอมา 7 ไตรมาสติดกัน โดยจะได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มงบลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน อย่างไรก็ดี การเติบโตจะยังคงอยู่ในภาวะเฉื่อยชาต่อไปจนถึงสิ้นปีหน้า และคาดว่า จีนจะไม่ลดอัตราดอกเบี้ยลง และจะไม่ดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในช่วง 1 ปีข้างหน้า แต่อาจลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ลงในอนาคต

• World Bank ให้สิงคโปร์ได้อันดับ 1 ของดินแดนที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนมากที่สุดของโลกเป็นครั้งที่ 7 ติดต่อกัน อันดับ 2 คือ ฮ่องกง 3. นิวซีแลนด์ 4. สหรัฐอเมริกา 5. เดนมาร์ก 6. นอร์เวย์ 7. อังกฤษ 8. เกาหลีใต้ 9. จอร์เจีย 10. ออสเตรเลีย โดยไทยได้อันดับที่ 18 ของโลก และเป็นอันดับที่ 6 ของทวีปเอเชีย รองจาก 1. สิงคโปร์ 2. ฮ่องกง 3. เกาหลีใต้ 4. มาเลเซีย และ 5. ไต้หวัน

Equity Market

• SET Index เมื่อวันจันทร์ปิดที่ 1,310.42 จุด เพิ่มขึ้น 2.71 จุด หรือ 0.21% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 22,471 ล้านบาท และนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 1,216 ล้านบาท ทั้งนี้ แม้หุ้นไทยจะบวกได้ไม่มาก แต่การยืนได้ในแดนบวกเทียบกับตลาดหุ้นเพื่อนบ้านหลายแห่งที่ติดลบในวันนั้นก็ถือว่าหุ้นไทยยังมีทิศทางที่ดี และการเก็งกำไรหุ้นขนาดกลางและเล็กก็บ่งชี้ถึงความมั่นใจของนักลงทุนรายย่อย

Fixed Income Market

• อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเปลี่ยนแปลงในช่วง -0.03% ถึง 0.02% สำหรับวันพุธนี้จะมีการประมูลพันธบัตรรัฐบาล รุ่น LB176A อายุ 5 ปี วงเงิน 11,500 ล้านบาท

Guru Corner

• Marc Faber

“ผมคิดว่าราคาหุ้นสหรัฐฯ จะลงไป 20% จากจุดสูงล่าสุดที่ 1,470 จุด ซึ่งดูจากปัจจัยทางเทคนิคแล้วก็พบว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ไม่ดีเลย ด้านปัจจัยพื้นฐานก็ยิ่งไม่ดี เพราะกำไรบริษัทจดทะเบียนออกมาแย่ลงไปทุกที แม้ตัวเลขทางสถิติจะไม่เคยถูกต้องเท่าไร แต่หากมันถูกต้อง ผมว่ามันยากมากที่อเมริกาจะมีการเติบโต ส่วนยาแก้โรคที่ผมแนะนำคือ “ลดขนาดของรัฐบาลลงไป 50%” แล้วผลที่เกิดขึ้นจะช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้ดีขึ้นได้ในทันที”

“ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์มนุษย์คือประวัติศาสตร์ของสงคราม และสงครามครั้งต่อไปของมนุษย์จะไม่ใช่แบบเดิมๆ ที่ใช้กำลังทหารและอาวุธ ผมนึกถึงภาพกรุงลอนดอนที่โดนตัดน้ำตัดไฟ นึกถึงระบบอินเทอร์เน็ตหรือระบบ Electronic banking ต่างๆ โดนปิดลง โดยที่เราทุกคนมีชีวิตที่ขึ้นอยู่กับมันมากกว่าที่เราจะรู้ตัว ในเมื่อสังคมทวีความซับซ้อนและพึ่งพาเชื่อมโยงกันและกันเอามากๆ หากระบบพวกนี้ถูกพังลงไปที่ไหนสักแห่งมันก็ทำให้พังไปทั้งระบบได้ นั่นคือเหตุผลที่ผมเตือนให้มีฟาร์ม มีการเกษตรในที่ใดก็ได้ที่จะทำให้เราพึ่งพาตนเองให้อยู่รอดได้ อย่างน้อยก็ช่วงหนึ่ง นี่คือการลงทุนที่สำคัญที่สุดในชีวิตที่คุณจะทำได้”

• Jim Rogers

“เราจะตกหรือไม่ตกหน้าผาทางการคลัง (Fiscal Cliff) มันไม่ใช่ประเด็นเลย เพราะยังไงๆ ปี 2012 กับ 2013 เราจะเจอปัญหาสาหัส และต้องเตรียมตัวรับมือให้ดี และเมื่อมองกลับไปในช่วง 50 ปีก่อนของประวัติศาสตร์อเมริกา เรามีแค่ Republicans, Democrats, Republicans, Democrats ................แล้วก็ไม่เห็นว่าทั้ง 2 พรรคนั้นจะทำอะไรดีๆ ให้เราได้เลย ไม่มีใครในพวกเราสักคนที่ได้ประโยชน์จากสิ่งที่คนพวกนี้ตัดสินใจกันในสภาที่วอชิงตัน ผมกำลังใกล้ถึงจุดที่จะใช้สิทธิเลือกตั้งด้วยการบอยคอตไม่เลือกใครแล้ว”

“สังคมและวัฒนธรรมอเมริกันกำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ คนค้าหุ้นจะไปเป็นคนขับรถแท็กซี่ ในขณะที่คนฉลาดๆ จะเรียนรู้วิธีขับรถแทรกเตอร์เพื่อจะได้ไปเป็นลูกจ้างของเกษตรกรฉลาดๆ ที่ขับรถ Lamborghinis ในอนาคต”

• Nouriel Rubini

“บางทีเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้ค่าดอลลาร์ที่อ่อนลงไม่ได้ช่วยเรื่องดุลการค้าและการเติบโตของสหรัฐฯ อาจมาจาก 2 เรื่อง ประการแรก ค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนลงมีความสัมพันธ์กับราคา Commodities ที่สูงขึ้นในรูปเงินดอลลาร์ ซึ่งหมายถึงราคา Commodities เป็นตัวถ่วงในดุลการค้า และเป็นเพราะสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีการนำเข้า Commodities มากกว่าส่งออก ประการที่สอง การที่ GDP จะดีขึ้นจากการส่งออกก็จะทำให้มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นด้วย และจากการศึกษาข้อมูลจริงทำให้ประมาณการได้ว่าผลกระทบโดยรวมของค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนลงต่อดุลการค้าสหรัฐฯ คือใกล้เคียงศูนย์”


กำลังโหลดความคิดเห็น