xs
xsm
sm
md
lg

"ปู"เล่นบทนักประชาธิปไตย เร่งปรองดอง-ไม่ให้ซ้ำรอยปี53

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (8 พ.ย.) ที่ Nusa Indah Hall / BICC โรงแรม Westin เกาะบาหลี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุม Bali Democracy Forum ภายใต้หัวข้อหลัก “Advancing Democratic Principles at the Global Setting: How Democratic Governance Contributes to International Peace and Security, Economic Development and Effective Enjoyment of Human Rights” เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์พัฒนาการประชาธิปไตยในไทย ร่วมกับผู้นำและบุคคลสำคัญต่อการส่งเสริมหลักประชาธิปไตย และตอกย้ำการยึดมั่นคุณค่าประชาธิปไตย ที่เป็นพื้นฐานสำคัญของความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม และความรุ่งเรือง ของทุกประเทศและของโลก สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรี กล่าวแสดงความยินดีกับสาธารณรัฐอินโดนีเซีย สำหรับการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Bali Democracy Forum ครั้งที่ 5 ซึ่งเป็นความริเริ่มที่ทำให้ทั่วโลกตระหนักถึงหลักประชาธิปไตย รวมทั้งผลักดันให้เกิดประชาธิปไตยมากขึ้น จากการยกระดับการหารือในลักษณะการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ (Forum) เป็นการประชุมระดับสุดยอด (Summit) นั้น แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของความริเริ่มดังกล่าว เช่นเดียวกับความคาดหวังที่สูงขึ้นที่จะได้รับจากการประชุมสุดยอดนี้ด้วย
โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ได้มาเยือนเกาะบาหลี เพื่อเข้าร่วมประชุม Bali Democracy Forum ทั้งในฐานะหัวหน้าคณะรัฐบาลคนแรกของไทย และในฐานะผู้นำรัฐบาลที่เป็นสตรี ตนรู้สึกชื่นชมประสบการณ์ในการเป็นผู้นำระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยของผู้นำที่มาเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี ยังได้แบ่งปันมุมมองประชาธิปไตยของไทย และกล่าวว่าพร้อมที่จะเรียนรู้หลักประชาธิปไตยจากผู้นำทุกท่าน
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวถึงปัจจัยที่หลากหลายและคล้ายคลึงกันในระบอบประชาธิปไตยว่า ในปัจจุบัน โลกต่างเห็นการแผ่ขยายของประชาธิปไตย ซึ่งเป็นรูปแบบหลักของรัฐบาลทั่วโลก การเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจากวิวัฒนาการที่เติบโตหรือโดดเด่นล้วนมาจากเจตนารมณ์เดียวกัน คือ ประชาชนต้องการเหมือนกัน คือ การรับฟังเสียงของประชาชน สิทธิได้รับการคุ้มครอง และนำการเปลี่ยนแปลงที่ดีสู่ชีวิต ซึ่งเหล่านี้เป็นความจริงของความเป็นมนุษย์ที่เป็นสากล ที่แม้กระทั่งในแต่ละประเทศหรือชุมชน ซึ่งอาจแตกต่างกันทั้งวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และสังคม แต่หลักการพื้นฐานนี้ยังคงอยู่เหมือนกันทุกที่ ประชาชนต้องการเสรีภาพ เพราะว่าสร้างความรุ่งเรือง รวมทั้งต้องการสิทธิที่ได้รับการคุ้มครอง และเคารพในความเป็นตัวตน แต่เสรีภาพต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบ กล่าวคือ ความจำเป็นของหลักนิติรัฐ สิทธิมนุษยชน และความเท่าเทียมกันเพื่อนำทางและบรรลุความฝันของแต่ละคน
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับหลักนิติรัฐถือเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย ความมั่นคงทางการเมืองและเศรษฐกิจ รวมทั้งความสงบเรียบร้อยทางสังคม หลักนิติรัฐที่โปร่งใส และมีประสิทธิภาพจะช่วยปกป้องสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ความเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมายทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น และไว้วางใจในกระบวนการและส่งเสริมให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างสันติ หลักนิติรัฐยังให้พื้นที่ทางการเมืองสำหรับการเจรจา การมีส่วนร่วม และการแก้ปัญหาความขัดแย้งในขอบเขตของประชาสังคม ซึ่งทำให้เกิดทางเลือกทางการเมืองอย่างเสรี และการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างสงบจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งสู่อีกรัฐบาลหนึ่ง หลักนิติรัฐ ยังระบุให้ผู้นำทางการเมืองต้องตอบสนองความต้องการของประชาชน และคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของปัจเจกบุคคล
นอกจากนี้ ความทั่วถึงที่บัญญัติไว้ในหลักนิติรัฐ ถือเป็นประเด็นสำคัญของประชาธิปไตย เสียงที่หลากหลายในประเทศ ไม่ว่าของกลุ่มคนหรือของบุคคล ส่วนน้อยหรือส่วนมาก ในเมืองหรือชนบทต้องได้รับการพิจารณา เพราะนำความหลากหลายสู่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสังคม
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า การเคารพต่อสิทธิมนุษยชนสิทธิของประชาชนต้องได้รับการคุ้มครอง หากรัฐบาลประชาธิปไตยนั้น เป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน อย่างแท้จริง สิทธิของประชาชนต้องได้รับการส่งเสริมและคุ้มครองโดยรัฐบาล
" ประวัติศาสตร์สอนว่า เสรีภาพมักจะถูกกดขี่และละเมิด ประเทศไทยมีประสบการณ์การปฏิวัติหลายครั้ง ที่ต่อต้านความต้องการของประชาชน และเมื่อรัฐบาลมาจากวิถีประชาธิปไตย ต้องมีความมั่นคงและยั่งยืน วิธีการที่ดีที่สุดในการปกป้องประชาธิปไตยคือ การให้พลังแก่ประชาชนในการยึดมั่นและเข้าร่วมในกระบวนการประชาธิปไตย ซึ่งนำมาซึ่งการเลือกตั้ง เมื่อประชาชนมีส่วนร่วม จะสร้างความรู้สึกที่เป็นเจ้าของประชาธิปไตยและปลาบปลื้มในคุณค่า แต่เมือประชาธิปไตยถูกทิ้งขว้างหรือละเมิด ประชาชนจะลุกขึ้นเพื่อต่อสู้ ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่ประเทศไทยเมื่อปี 2553 ที่มีแต่การสูญเสีย ทั้งครอบครัวและบุคคลที่เป็นที่รัก และยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บและทุกข์ทรมาน ดิฉันได้ร่วมรับรู้กับมารดาและบุตรสาวของประชาชน ที่เข้าร่วมในเหตุการณ์ครั้งนั้น และมีการสูญเสียชีวิต รู้สึกเศร้าใจ และตัดสินใจแน่วแน่ว่าจะไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้นอีก" น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า การดำเนินการการปรองดองแห่งชาติ และดำเนินตามกรอบการดำเนินการของสิทธิมนุษยชน และ จะดำเนินต่อไปจนกว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงเกิดขึ้นในประเทศไทย ทั้งนี้แม้ว่าพรรคเพื่อไทยได้รับเสียงข้างมากในรัฐสภา แต่ยืนยันที่จะรับฟังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด โดยเข้าใจว่าการให้ประชาธิปไตยมีความยืดหยุ่นนั้น ต้องมีเสรีภาพในการแสดงออก และการเคารพต่อความแตกต่างทางความคิดเห็น การเคารพและเข้าใจซึ่งกันและกันในหมู่ประชาชนในสังคม ช่วยป้องกันความขัดแย้งและทะเลาะเบาะแว้งกัน การไม่เลือกปฏิบัติช่วยให้ประชาชนทุกคนรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโดยรวม ไม่ว่าจะเชื้อชาติใด ศาสนาใด หรือรายได้เท่าใด
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวต่อถึงความเสมอภาคทางโอกาส ว่า การสร้างโอกาสแก่ประชาชนบนพื้นฐานที่เท่าเทียม ทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของระบบประชาธิปไตย เพราะเศรษฐกิจที่รุ่งเรือง และศักยภาพของประชาชน นำมาซึ่งฐานะที่ดีขึ้นที่จะรับผิดชอบต่อการใช้สิทธิของตนเอง ซึ่งสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ทุกคนจึงต้องได้รับประโยชน์จากการเติบโตและความมั่นคง ซึ่งหมายถึงประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงสิ่งจำเป็นพื้นฐานที่ช่วยส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ การศึกษา สาธารณสุขและสวัสดิการอื่นๆ ดังนั้น รัฐบาลไทยจึงได้เริ่มนโยบายที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง นับตั้งแต่ แรงงานขั้นต่ำการขยายการบริการดูแลสุขภาพถ้วนหน้า การตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี และการส่งเสริม SMEs นอกจากนี้ นโยบายด้านการศึกษา เช่น One Tablet Per Child ก็เพื่อให้เด็กสามารถพัฒนาทักษะ ความรู้ เพื่อเป็นผู้ใหญ่ที่รอบรู้ ซึ่งเป็นแกนสำคัญของประชาธิปไตย
สำหรับวิสัยทัศน์ในด้านระหว่างประเทศ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวเห็นด้วยกับประธานาธิบดีอินโดนีเซียที่ว่า โลกาภิบาล ดึงจุดแข็งจากความจริงที่ว่า ทุกประเทศมีสิทธิมีเสียง และสามารถมีส่วนร่วมได้อย่างเท่าเทียมในประเด็นระหว่างประเทศ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีความยุติธรรม ภาระรับผิดชอบ (Accountability) และประชาธิปไตยอย่างแท้จริงในเวทีระหว่างประเทศ ในขณะที่เรากำลังก้าวเข้าสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนหลังปีค.ศ. 2015 (The post 2015 Sustainable Development Goals) เช่น การมีกระบวนการพหุภาคีที่มีประสิทธิภาพ และเป็นประชาธิปไตย จะทำให้ทุกประเทศ ทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก สามารถจัดลำดับเป้าหมายสำคัญของตนให้อยู่ในวาระการพัฒนาหลังปีค.ศ. 2015 ได้
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า เราจะต้องตระหนักถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในโลกด้วย เช่น ช่องว่างของการพัฒนา การส่งเสริมความริเริ่มการยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ทั้งนี้ ประชาธิปไตยในระดับโลกจะทำให้เกิดความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาความท้าทายในปัจจุบัน ในขณะเดียวกันก็ยังสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในชาติด้วย ทั้งนี้ ที่สำคัญที่สุด ทุกประเทศจะต้องร่วมมือกันเพื่อให้ประชาธิปไตยอยู่รอด เมื่อถูกคุกคาม ด้วยเหตุผลนี้ นายกรัฐมนตรีจึงแสดงความขอบคุณมิตรทั้งหลายที่ยืนหยัดต่อต้านการยึดอำนาจรัฐบาลประชาธิปไตยของไทยเมื่อปี 2549 และช่วยสนับสนุนไทยในเส้นทางสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง การรักษาประชาธิปไตยให้คงอยู่ นั้นขึ้นอยู่กับทุกคน และป้องกันความท้าทายต่างๆที่จะต่อต้านประชาธิปไตย
อย่างไรก็ตาม ความมั่นคงเกิดขึ้นได้ด้วยประชาธิปไตยเท่านั้น ความมั่นคงทางการเมืองช่วยลดความเสี่ยงของความขัดแย้งที่รุนแรง และในบรรยากาศที่มั่นคงนี้ ก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง โดยท้ายที่สุดแล้ว คือความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ในประเทศและในประชาคมโลกนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น