xs
xsm
sm
md
lg

คำถามที่ กสทช.ไม่กล้าตอบ ทำไมราคาประมูล 3 จี ไม่เริ่มที่ 82% ตามผลการศึกษา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



หลังจากทำงานตามใบสั่ง ประกอบพิธีกรรม ขายสมบัติของชาติ ยกใบอนุญาตคลื่นความถี่ ย่าน 2.1 GHz หรือ 3 จี ให้กับกลุ่มทุนโทรคมนาคม 3 กลุ่มคือ เอไอเอส ดี แทค และทรูไปในราคาถูกๆ แล้ว คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ก็กำลังวุ่นวายอยู่กับ การสร้างภาพ ฟอกตัวเองให้พ้นจากข้อกล่าวหาว่า เป็นตัวการในการจัดฉากฮั้วประมูลครั้งนี้

ถึงแม้ว่า ด้วยงบประชาสัมพันธ์ ที่อยู่ในมือของพันเอก ดร. เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสชท. ในฐานะประธาน คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ กทค. จะสามารถปิดปากสื่อส่วนใหญ่ ไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์ การฮั้วครั้งนี้ได้ ให้รายงานแต่สิ่งที่ พันเอก เศรษฐพงศ์ นายสิทธิพล ทวีชัยการ กรรมการ กสทช. และนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ สำนักงาน กสทช.ต้องการพูดเท่านั้น แต่ผลการประมูล เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ที่ออกมานั้น มันชัดเจนเหลือเกินว่า อะไรเป็นอะไร

ความเชื่อที่ว่า การประมูลครั้งนี้ คือ การฮั้ว จึงรุนแรงเหลือเกิน จนกระแสโฆษณาชวนเชื่อที่ว่า 3 จีคือ ของวิเศษ ที่จะทำให้ชาติไทยเจริญรุ่งเรือง ปลุกไม่ขึ้น

เข้าทำนอง กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา เราจึงได้เห็น ความเคลื่อนไหวอย่างผิดปกติ ของ กสทช. ที่มีเป้าหมายเพื่อซักฟอกตัวเองให้พ้นข้อสงสัยของสังคม ตั้งแต่การออกประกาศเจตนารมณ์คุ้มครองผู้บริ โภค ว่า จะลดราคาค่าบริการในระบบ 3 จี ทั้งเสียงและข้อมูล ให้ต่ำกว่า ค่าบริการในปัจจุบัน 15-20% การตั้งคณะกรรมการให้สอบ กสทช. ว่า จัดฮั้วประมูลจริงหรือไม่ แต่แทนที่จะเอาคนที่รู้เรื่อง กลับไปเอา นายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มาเป็นประธาน เท่านั้นยังไม่พอ ยังวิ่งไปเสนอตัวให้ ดีเอสไอ ป.ป.ช. ผู้ตรวจการรัฐสภา สำนักงานผู้ตรวจเงินแผ่นดิน สอบว่าฮั้วหรือไม่ฮั้ว

ความเคลือนไหวที่มากเกินไปเหล่านี้ เป็นอาการ “เป๋” ของวัวสันหลังหวะ ที่รู้อยู่แก่ใจในพฤติกรรมของตน


น่าสังเกตว่า พลอากาศเอกธเรศ ปุณศรี ประธาน คณะกรรมการ กสทช. ไม่เคยแสดงความเห็นเลยในเรื่องนี้ มีแต่ พันเอกเศรษฐพงศ์ นายสิทธิชัย และนายฐากร เท่านั้น ที่เป็นตัวหลักในการชะล้างมลทิน ไม่รู้เป็นเพราะว่า ไม่รู้เรื่องอะไรเลย หรือ เป็นเพราะว่า รู้เรื่องดี จึงไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยว

แต่ถ้อยแถลง คำแก้ตัวของ กสทช. นั้น หลายๆ เรื่อง เป็นการดัดแปลง ตัดทอนข้อมูล ที่เป็นประโยชน์แก่ตัวเอง โน้มน้าวให้บุคคลที่มิได้รับทราบข้อมูลอย่างรอบด้านเกี่ยวกับการประมูล 3 จี หลงเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้อยแถลงของนายสิทธิพล ซึ่งถ้าไม่รู้มาก่อนว่า เป็นนายสิทธิพล มหาบัณฑิตด้านนิติศาสตร์ จากฮาร์วาร์ด และดุษฎีบัณฑิตจาก เพนซิลวาเนีย จะนึกว่า เป็นแถลงการณ์ของ นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ เพราะมีการกล่าวหาว่า การโจมตี คัดค้านการประมูล 3 จีครั้งนี้ ทำกันเป็นขบวนการ ตั้งแต่ก่อนเริ่มการประมูล มีการปลุกระดม สร้างความเกลียดชัง โดยใช้สื่อแขนงต่างๆ เพื่อสร้างความขัดแย้งทางการเมือง

ไม่น่าเชื่อว่า นายสิทธิพลจะออกอาการ “เป๋” ถึงขนาดนี้

ถ้อยแถลงของนายสิทธิพล ซึ่งมีอยู่ 7 ประเด็น หลายๆ เรื่องอาจจะทำให้เกิดความเข้าใจที่ผิด ตัวอย่างเช่น นายสิทธิพล บอกว่า การเคลื่อนไหวต่อต้านการประมูลในครั้งนี้มีการนำประเด็นเรื่องสัมปทานมาเกี่ยวข้องทั้ง ๆ ที่มีหลายคนมีแนวคิดที่ไม่เห็นด้วยกับระบบสัมปทานมาก่อน รวมทั้งเคยผลักดันให้มีการเปลี่ยนจากระบบสัมปทานเป็นระบบการแข่งขัน แต่ตอนนี้มีความพยายามนำเรื่องการประมูลมาเปรียบเทียบกับข้อดีของระบบสัมปทาน

นายสิทธิพล ใช้วิธีพูดให้กำกวมเข้าไว้ ความจริงแล้ว ไม่มีใครบอกว่า ระบบสัมปทานดีกว่า ระบบใบอนุญาต การเปรียบเทียบกับระบบสัมปทาน เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นว่า ในระบบสัมปทานต้องจ่ายส่วนแบ่งกำไรให้ทีโอที และ กสท. ปีละหลายหมื่นล้าน แต่ในระบบใบอนุญาตไม่ต้องจ่าย ผู้ชนะการประมูลไปในราคาถูกๆ จะได้กำไรอย่างมหาศาล เพราะไม่ต้องแบ่งกำไรให้รัฐ เหมือนในระบบสัมปทานแล้ว

อีกประเด็นหนึ่ง คือ นายสิทธิพลกล่าวว่า การให้ กสทช.กำหนดราคาตั้งต้นการประมูลสูงเกินไปโดยไม่มีหลักวิชาการรองรับทำให้ส่งผลเป็นการกีดกันผู้ประกอบการรายย่อยไม่ให้เข้าร่วมการประมูลได้ ทำให้ตลาดผูกขาดเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้น

ผู้ที่ติดตามข่าวสารในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ย่อมรู้ดีว่า อุตสาหกรรมนี้ มีโครงสร้างที่เป็นการผูกขาดตามธรรมชาติ โดยผู้ประกอบการน้อยราย เพราะเป็นกิจการที่ต้องลงทุนสูง และผู้ประกอบการต้องมีส่วนแบ่งตลาดที่ใหญ่มาก จึงจะคุ้มต่อการลงทุน ในประเทศไทย จึงมีแต่เอไอเอส ทรู และดีแทคเท่านั้น เป็นไปไม่ได้ที่จะมีผู้ประกอบการรายย่อยรายที่ 4 ที่ 5 เกิดขึ้นมา

การจะทำให้ตลาดไม่มีการผูกขาดเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้น กสทช. ต้องยอมให้มีผู้ประกอบการรายใหม่ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการต่างชาติ จึงจะมีทุน และขีดความสามารถที่พอฟัดพอเหวี่ยง กับผู้ให้บริการรายเดิม จะทำให้มีการแข่งขันเพิ่มขึ้นได้ แต่ กสทช. ก็กีดกัน ไม่ให้มีผู้ประกอบการรายใหม่จากต่างชาติ โดยการออกประกาศ ข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว เป็นเกราะคุ้มครอง เอไอเอส ทรู และดีแทค จากการแข่งขันของผู้ประกอบการรายใหม่

ในครั้งที่ กสทช. ยังเป็นแค่ กทช. คือ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ก่อนที่จะมีการประมูล 3 จี ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2553 กทช. ก็เคยออกประกาศห้ามต่างชาติเข้าประมูล 3 จีเช่นเดียวกัน โดยนายสุธรรม อยู่ในธรรม กทช. ที่เป็นมือกฎหมาย เหมือนกับนายสิทธิพล

เรื่องที่มีความสำคัญ และจะเป็นหลักฐานที่บ่งชี้ได้ว่า การประมูล 3 จีครั้งนี้ เป็นการนำสมบัติของชาติ ขายให้เอกชนในราคาถูกๆ หรือไม่ คือ ผลการศึกษา ของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง การประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ และมูลค่าขั้นต่ำของการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz ซึ่งนายสิทธิพลมักจะอ้างว่า การตั้งราคา เริ่มต้น การประมูล ที่ 4,500 ล้านบาท ต่อ 1 ใบอนุญาต เป็นการตั้งราคาตามผลการศึกษานี้ ที่เสนอว่า ให้ตั้งราคาในสัดส่วน 67% ของมูลค่าคลื่นที่ ประเมินว่า เท่ากับ 6,440 ล้านบาท

นายสิทธิพลกล่าวหาผู้คัดค้านว่า ต้องการให้ กสทช.กำหนดราตั้งต้นที่สูงอย่างไม่มีเหตุผล โดยมีการบิดเบือนข้อเท็จจริง จากผลการศึกษาของคณะผู้วิจัย จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย

กสทช. และนายสิทธิพลเอง ก็ไม่กล้าเปิดเผยผลการศึกษาฉบับนี้ ทั้งๆที่การประมูลผ่านไปแล้ว ซึ่งถ้าผลการศึกษาเป็นไปตามที่นายสิทธิพลกล่าวอ้างจริง ก็จะช่วยลบล้างข้อกล่าวหาที่ว่า กสทช. ตั้งราคาประมูลถูกๆ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการ ได้เป็นอย่างมาก

แต่เป็นเพราะ ในผลการศึกษาฉบับนี้ มีตารางความสัมพันธ์ระหว่างสัดส่วนราคาขั้นต่ำที่เหมาะสมกับรายรับจากการประมูล ที่แสดงว่า หากมีผู้เข้าประมูล 3 ราย ราคาขั้นต่ำที่เหมาะสมคือ 82 % ของราคาชนะ หรือราคาที่ กสทช. คาดว่า จะได้จากการประมูลใบอนุญาต 1 ใบ ไม่ใช่ 67 หรือ 70 % ที่ นายสิทธิพลอ้าง


ตาราง ความสัมพันธ์ระหว่างสัดส่วนราคาขั้นต่ำที่เหมาะสมกับรายรับจากการประมูล

เป็นเพราะตารางนี้หรือเปล่า ที่ทำให้ผลการศึกษาฉบับนี้ ถูกเก็บเงีย บ และทำให้ กสทช. รวมทั้งนายสิทธิพล มีอาการเป๋ไป เป๋มา เที่ยวเสนอตัวให้คนโน้น คนนี้ ซักฟอก เพราะตอบไม่ได้ว่า ทำไมจึงไม่ตั้งราคาเริ่มต้นประมูล 3 จี ที่ 82% ของมูลค่าใบอนุญาต
กำลังโหลดความคิดเห็น