xs
xsm
sm
md
lg

กสทช. พลิกแผนสู้ศึก 3G !! (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ
หากเปรียบเป็นเกมฟุตบอล ตอนนี้กสทช.เรียกได้ว่าต้องตั้งรับให้เหนียวแน่น อดทน รอจังหวะโต้กลับอย่างดุดัน เพื่อทำประตูด้วยการออกใบอนุญาต 3G ให้ 3 ค่ายมือถือให้ได้

หลังตกเป็นจำเลยสังคมตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเพราะผลประมูลความถี่ 2.1 GHz หรือ เรียกกันติดปากว่าประมูล 3G ออกมาแบบมวยล้มต้มคนดู เพราะดีแทคและทรู เสนอราคาเท่าราคาตั้งต้นคือ 4,500 ล้านบาทต่อ 1 ใบอนุญาต มีเพียงเอไอเอสรายเดียวเสนอราคาสูงกว่าราคาตั้งต้นประมูลโดย 2 ใบอนุญาต เสนอราคา 4,950 ล้านบาท และ 1 ใบอนุญาต 4,725 ล้านบาท สูงกว่าราคาตั้งต้นการประมูล รวม 1,125 ล้านบาท แค่นั้นเอง

พฤติกรรมส่อให้เห็นว่าขาดการแข่งขันด้านราคาจริงจังอย่างที่กสทช.พยายามสร้างภาพในตอนแรก ทำให้รัฐเสียประโยชน์จากเงินที่ควรจะได้ (เพราะหากใช้ราคาที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ประเมินไว้ตอนแรก 6,440 ล้านบาทต่อ 1 ใบอนุญาต หากคิดมูลค่ารวม 9 ใบอนุญาตที่นำออกประมูลจะมีค่าถึง 57,960 ล้าน แต่ 3 ค่ายมือถือประมูลราคารวมกัน 41,625 ล้านบาท) ถึง 16,335 ล้านบาท

สามัคคีบาทาจึงรุมกระหน่ำกสทช.รอบด้าน โดยเฉพาะประเด็นการทำรัฐเสียหาย เนื่องจาก ไม่เพียงเงินประมูลต่ำ แต่ในระบบใบอนุญาตของกสทช. ยังทำให้เอกชนไม่ต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้เท่ากับในปัจจุบันซึ่งปีเดียว 3 ค่ายมือถือจ่ายให้รัฐรวมกันสูงกว่า 4 หมื่นล้านบาท

หลังตั้งสติได้ แท็กติกที่กสทช. โต้กลับแบ่งได้เป็น 3 ด้านคือ แท็กติกแรก เดินหน้าออกใบอนุญาต 3G ให้ค่ายมือถือโดยเร็วที่สุด เพราะกระบวนการออกใบอนุญาต เป็นคำสั่งทางปกครอง ผู้เดียวที่จะมีคำสั่งยกเลิกการประมูลและยกเลิกการออกใบอนุญาต 3G ได้คือศาลปกครอง สิ่งที่ทำให้กสทช.อุ่นใจคือกลุ่มก๊วนที่ยื่นฟ้องศาลปกครองก่อนหน้านี้เพื่อให้ยับยั้งการประมูล ปรากฎว่าศาลไม่รับฟ้องและจำหน่ายคดีออกจากสารบบหมดทั้ง 6 คดี อย่างกรณีสุริยะใส กตศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน

โดยศาลเห็นว่าประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลย่าน 2.1 GHz เป็นคำสั่งทางปกครองทั่วไป ซึ่งผู้ที่จะมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายโดยตรง เช่น ผู้ที่มีความประสงค์จะขอให้รับใบอนุญาต แต่มีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามประกาศ หรือผู้ที่ชนะการประมูล แต่ต่อมาภายหลังมิได้รับใบอนุญาตจากผู้ฟ้องคดี เพราะบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรือมีส่วนได้เสียใกล้ชิดที่อาจจะได้รับความเดือดร้อน หรือเสียหายจากประกาศฉบับดังกล่าว

ดังนั้นผู้ที่จะมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อให้ตรวจสอบการใช้ดุลยพินิจในการออกคำสั่งทางปกครองทั่วไปในกรณีได้แก่ผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่หากเป็นบุคคลทั่วไป บุคคลดังกล่าวจะต้องเป็นผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพ และได้ความเดือดร้อนเสียหายโดยตรงจากประกาศของ กสทช.

เมื่อปลดล็อกจากพันธนาการศาลได้ ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.ให้ความหวัง 3 ค่ายมือถือว่า เร็วที่สุดที่จะได้รับใบอนุญาต 3G คือวันที่ 17 พ.ย. 2555 แต่ต้องให้คณะทำงานตรวจสอบการประมูลว่ามีพฤติกรรมส่อฮั้วหรือไม่ 5 คนโดยมีกรรมการจากคนนอก คือ สุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร์เป็นประธาน จิตนรา นวรัตน์ อัยการ และมีคนในจากสำนักงานกสทช.คือสงขลา วิชัยขัทคะ อนุกรรมการด้านกฏหมาย กทค. สุพินญา จำปี ผู้อำนวยการสำนักกฏหมาย กสทช. และชัยยุทธ มังศรี ผู้ช่วยเลขา กสทช.ร่วมเป็นกรรมการ

ตามเงื่อนเวลาที่ ฐากรแจ้งไว้ หากตั้งคณะทำงานได้ภายในวันศุกร์ที่ 26 ต.ค. จะต้องดำเนินการให้เสร็จภายในวันที่ 10 พ.ย. และเสนอกลับเข้าที่ประชุมกทค.เพื่ออนุมัติหากไม่พบว่ามีการฮั้วประมูล และหากบอร์ดกทค.อนุมัติให้ดำเนินการออกใบอนุญาต 3G ได้ สำนักงานกสทช.จะใช้เวลาไม่เกิน 7 วัน หรือภายในวันที่ 17 พ.ย. 2555 ก็จะสามารถออกใบอนุญาตได้

แท็กติกที่ 2 เดินสายโรดโชว์ แสดงความบริสุทธ์ใจ โปร่งใส และพร้อมให้ตรวจสอบ กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย ตั้งแต่ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยหอบเอกสารกองโต ไล่ตั้งแต่การยกเลิกประมูล 3G ของกทช.ชุดก่อน เอกสารตั้งต้นตั้งแต่อนุกรรมการเตรียมความพร้อม 3G เอกสารการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะทั้งหมด ความเห็นต่างๆ การประกาศหลักเกณฑ์การประมูล การประกาศ IM หนังสือขอความร่วมมือไปยังรมว.กระทรวงการคลัง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นายกสมาคมธนาคารพาณิชย์ไทย เพื่อให้สนับสนุนเอกชนรายเล็กที่สนใจเข้าร่วมประมูลในเรื่องแบงการันตี และเอกสารรับรองด้านการเงิน

รวมทั้งเอกสารประกอบการประชาพิจารณ์ โดยเฉพาะเรื่องราคาตั้งต้นการประมูลว่าควรเป็นราคาเท่าไหร่, เอกสารการวิจัยของผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ, รายงานของบริษัท พาวเวอร์ ออกชั่น บริษัทที่ปรึกษาการประมูลที่รายงานผลการประมูลว่าถูกต้องครบถ้วน ถึงแม้ราคาที่ได้ใกล้เคียงกับราคาตั้งต้น ก็เป็นเรื่องที่พบเห็นได้ในหลายประเทศ ไม่ได้ผิดปกติแต่อย่างใด

'เรายืนยันได้ว่ากระบวนการถูกต้องตั้งแต่ต้นและเป็นไปตามมาตรฐานสากล รวมทั้งเราไม่รอให้หน่วยงานตรวจสอบส่งหนังสือมาสอบถามให้เราชี้แจง แต่เราทำหนังสือพร้อมเอกสารชี้แจงไปยื่นให้หน่วยงานตรวจสอบก่อนเลย' ฐากรกล่าวยืนยันอย่างหนักแน่น

แท็กติกที่ 3 ประกาศเจตนารมย์ในการคุ้มครองผู้บริโภค หวังลดกระแสสังคมที่โจมตี การไม่รักษาผลประโยชน์ชาติ โดยเรื่องที่สำคัญคือ 1.การลดค่าบริการ 15-20% 2.การควบคุมคุณภาพโครงข่าย และ 3.การจัดทำแผนรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ที่หากผู้ชนะการประมูลไม่ปฏิบัติตามก็จะไม่ได้รับใบอนุญาต รวมทั้งการตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบรายละเอียดการเสนอราคาในการประมูลว่ามีการฮั้วหรือไม่

การเล่นเรื่องค่าบริการ ถือว่าเป็นการตีตรงจุด เข้าไปในหัวใจผู้บริโภค เพราะนาทีนี้สิ่งที่จับต้องได้มากที่สุดคือค่าบริการ ทั้งเสียงและข้อมูล

ประเด็นที่คนสนใจคือมี 3G แล้วค่าบริการถูกลงหรือไม่ มันดีกว่าเดิมอย่างไร เสียงสะท้อนจากสังคมไซเบอร์ อาจดังกว่า เรื่องรัฐได้เงินเข้ากระเป๋าน้อยไป เพราะหากเข้ากระเป๋ามาก แล้วให้นักการเมืองปั้นโปรเจกต์เพื่องาบหัวคิว 30 - 40 % เหมือนทุกวันนี้ เอาเงินส่วนต่างมาลดค่าบริการจะเป็นประโยชน์ทางตรงกับประชาชนมากกว่าอ้างแต่คำว่ารัฐ

กสทช.ปั้นตัวเลขมาล่อใจสังคมว่า หากลดอัตราค่าบริการ 15% เฉลี่ยต่อเดือนแล้วประชาชนได้ประโยชน์ประมาณ 4,571.25 ล้านบาท หรือต่อปี 54,855 ล้านบาท รวม 15 ปีของใบอนุญาตจะมีผลประโยชน์ 822,825 ล้านบาท แต่หากลดค่าบริการ 20% เฉลี่ยต่อเดือนแล้วลดลงประมาณ 6,095.55 ล้านบาท ต่อปีลดลง73,142.64 ล้านบาท และรวม 15 ปีของใบอนุญาตประชาชนจะได้ประโยชน์ 1.09 ล้านล้านบาท

โดยกสทช.คำนวนจาก 3 ปัจจัย คือ 1. อ้างอิงจากอัตราค่าบริการ 3G ในปัจจุบันของ 3 ค่ายมือถือในราคา899 บาทต่อเดือน 2. กำหนดให้ค่าบริการในปีที่1ลดลง10% ปีที่ 2 ลดลง 15% ปีที่ 3 ลดลง20% 3.นำมูลค่าของค่าบริการที่ลดลงมาคูณกับจำนวนเลขหมายโทรศัพท์มือถือ 3G ของผู้ได้รับใบอนุญาต 3G ในช่วงระยะเวลา 3 ปี ภายหลังจากเปิดให้บริการ

นอกจากนี้กสทช. ยังโชว์บทความของ Dominic Arena มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและการสื่อสารในประเทศไทยประมาณ 11 ปี และมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมนี้ประมาณ 18 ปีในสาขา วิศวกรรมโทรคมนาคม และที่ปรึกษาด้านการบริหารและปฏิบัติการ ที่ปรากฏในรายงานของบริษัท Value Partners Management Consulting ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาของประเทศอิตาลี ที่เห็นว่าการประมูลความถี่ 2.1 GHz ของไทยได้ราคาที่เป็นธรรมและจะสร้างประโยชน์ต่อประเทศไทย ( อ่านรายละเอียดได้ที่ http://www.valuepartners.com/en/ )

เกม 3G วันนี้คือกสทช.เดินหน้าออกใบอนุญาตตามอำนาจที่กฎหมายให้ไว้ ส่วนการร้องเรียนหน่วยงานตรวจสอบ เป็นความผิดทางอาญาส่วนบุคคล ก็รับผิดชอบกันไป และเล่นเรื่องลดค่าบริการเพื่อซื้อใจประชาชน

พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ กสทช.ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) โต้โผใหญ่การประมูล 3G ครั้งนี้ กล่าวในวันปิยะมหาราช 23 ต.ค.ที่ผ่านมาว่ามีความตั้งใจจริง เจตนาบริสุทธิ์ ไม่มีผลประโยชน์อื่นใดเคลือบแฝง และแอบกระซิบว่า พร้อมไปสาบานต่อหน้าสิ่งศักดิ์ที่เคารพนับถือว่า ไม่มีเงินตกใส่กระเป๋าเป็นพันล้าน แต่อย่างใด

เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ !!
นายสุทธิพล ทวีชัยการ
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์
กำลังโหลดความคิดเห็น