xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปกครองไม่รับ “ยะใส” ฟ้อง ล้มประมูล 3จี เหตุไม่เดือดร้อนโดยตรง แนะยื่นผู้ตรวจฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มการเมืองสีเขียว
ศาลปกครองปัดรับคำร้องผู้ประสานกลุ่มกรีนพร้อมพวกยื่นยกเลิกการประมูลคลื่นความถี่ อ้าง กสทช.ทำผิดระเบียบ ยกเหตุไม่ได้เสียหายหรือเดือดร้อนโดยตรง ชี้ผู้มีสิทธิฟ้องต้องร่วมขอให้รับใบอนุญาต แต่มีปัญหาคุณสมบัติ หรือชนะประมูลแต่ไม่ได้รับใบอนุญาต แต่แนะอนาคต กสทช.ทำความเสียหายจริงสามารถฟ้องได้ พร้อมชี้ช่องยื่นผู้ตรวจการแผ่นดิน ตาม รธน. หากพบการกระทำมิชอบจะชงศาลปกครองเอง
แสดง FLASH VIDEO (ขนาดใหญ่จอ 550 pixel)

วันนี้ (22 ต.ค.) ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องที่นายสุริยะใส กตะศิลา กับพวกรวม 6 คน ยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือกสทช. กรณีขอให้มีคำสั่งเพิกถอนประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลย่าน 2.1 กิกะเฮิรตซ์ และยกเลิกการประมูลคลื่นความถี่ที่จัดให้มีขึ้นในวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากเห็นว่าหลักเกณฑ์การประมูลที่ กสทช.กำหนดขึ้นขัดต่อ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และไม่เป็นไปตามขั้นตอนและระเบียบ กสทช.ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของสาธารณะ พ.ศ. 2548

โดยศาลเห็นว่า เมื่อพิจารณาเมื่อพิจารณาคำขอของนายสุริยะใสกับพวกที่ขอให้ศาลเพิกถอนเพียงข้อ 6 วรรคสอง ที่กำหนดให้ผู้ขอรับใบอนุญาตแต่ละรายมีสิทธิยื่นประมูลคลื่นความถี่สูงสุดไม่เกิน 15 เมกะเฮิรตซ์ และข้อ 10.2.3 ที่กำหนดราคาขั้นต่ำในการประมูลไว้ที่ 4,500 ล้านบาทต่อ 5 เมกะเฮิรตซ์ ของประกาศ กสทช. โดยมิได้ประสงค์ที่จะให้ศาลฯ ยกเลิกประกาศทั้งฉบับประกอบกับขอให้ศาลยกเลิกการประมูลในวันที่ 16 ต.ค. หมายความว่า นายสุริยะใสและพวกประสงค์จะโต้แย้งการใช้ดุลพิพนิจในการกำหนดจำนวนช่วงคลื่นความถี่สูงสุดที่จะอนุญาตให้ผู้รับใบอนุญาตแต่ละรายอาจประมูลได้ครั้งนี้ และมูลค่าขั้นต่ำของการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สูงสุดที่จะใช้เป็นราคาเริ่มต้นในการประมูล ซึ่งกำหนดไว้ในข้อ 6 วรรคสอง และข้อ 10.2.3 ของประกาศ กสทช. ประกาศดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งทางปกครองทั่วไป ซึ่งผู้ที่จะมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลฯ อันเกี่ยวเนื่องกับประกาศในลักษณะนี้นั้นจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายโดยตรง เช่น ผู้ที่มีความประสงค์จะขอให้รับใบอนุญาต แต่มีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามประกาศ หรือผู้ที่ชนะการประมูล แต่ต่อมาภายหลังมิได้รับใบอนุญาตจากผู้ฟ้องคดี เป็นต้น เพราะบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรือมีส่วนได้เสียใกล้ชิดที่อาจจะได้รับความเดือนร้อน หรือเสียหายจากประกาศฉบับดังกล่าวโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่งแห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง

ดังนั้น ผู้ที่จะมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อให้ตรวจสอบการใช้ดุลพินิจในการออกคำสั่งทางปกครองทั่วไปในกรณีได้แก่ผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่หากเป็นบุคคลทั่วไป บุคคลดังกล่าวจะต้องเป็นผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพและได้ความเดือดร้อนเสียหายโดยตรงจากประกาศของ กสทช. แม้ว่าเหตุแห่งการฟ้องคดีของนายสุริยะใสกับพวกที่ได้ยกขึ้นกล่าวอ้างในคำฟ้องจะมีข้อเท็จจริงพวกสมควรที่ทำให้ศาลในคดีนี้เห็นว่าอาจจะมีประเด็นที่สมควรตรวจสอบการใช้ดุลพินิจและความชอบด้วยกฎหมายของประกาศ กสทช. แต่เมื่อนายสุริยะใสกับพวกเป็นประชาชนทั่วไปมิได้มีส่วนได้เสียกับประกาศของ กสทช. จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นผู้เดือดร้อนเสียหายที่จะมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง จึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง อย่างไรก็ตามหากในอนาคตเห็นว่า กสทช.มีการกระทำทางปกครองที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์สาธารณะและละเมิดสิทธิเสรีภาพของนายสุริยะใสกับพวกก็อาจนำคดีมาฟ้องต่อศาลได้

ทั้งนี้ ศาลยังได้ระบุถึงอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินในกรณีนี้ไว้ด้วยว่า รัฐธรรมนูญ ฯ มาตรา 47 กำหนดให้ กสทช.ซึ่งเป็นองค์กรทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ ต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนระดับชาติและท้องถิ่น และการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ดังนั้น หากมีบุคคลใดเห็นว่า กสทช.ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญตามที่กำหนดไว้นั้นหรือปฏิบัติล่าช้า หรือไม่มีประสิทธิภาพและไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย บุคคลนั้นสามารถใช้สิทธิร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 มาตรา 23 และ 32 เพื่อให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาและสอบสวนข้อเท็จจริงและให้ความเห็นพร้อมข้อเสนอแนะในการปรับปรุงแก้ไขกับ กสทช. เพื่อให้ทราบและดำเนินการต่อไปด้วย

ขณะที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นตัวแทนของรัฐในการปกป้อง ดูแลและคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ หากพบเห็นการกระทำทางปกครองที่น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายย่อมจะใช้ดุลพินิจที่จะเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครองได้ทันทีเพื่อให้ศาลตรวจสอบการกระทำทางปกครองนั้นที่จะเป็นเหตุให้ประโยชน์สาธารณะอย่างหนึ่งอย่างใดต้องเสียไป ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินจะมีสิทธิและหน้าที่เสมือนหนึ่งเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีได้ตามมาตรา 43 ของ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีผู้ใช้สิทธิร้องเรียนหรือต้องรอให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนเสียก่อน

มีรายงานว่า หลังมีคำสั่ง นายสุริยะใสเปิดเผยว่าจะมายื่นให้ผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้ตามแนวทางคำสั่งศาลปกครองในช่วงเวลา 13.00 น.วันนี้






กำลังโหลดความคิดเห็น